ขาวกับดำ

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

ภายในเวลาไม่กี่วัน รัฐบาลชุดนี้ก็สามารถสร้างเรื่องราวที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

เริ่มจากการแต่งตั้ง “นักการเมือง” จาก กปปส.และพลังชลเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลและ กทม.

ใคร ๆ ก็มองออกว่าเป็นการวาง “มัดจำ” ทางการเมือง

เป็นการเดินหมากการเมืองที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

อย่าถามว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.หรือไม่

เพราะเขาต้องตอบว่า “ไม่”

แต่ในทางการเมือง เขาถือคติว่าเมื่อคุณพูด เราจะฟัง

เมื่อคุณลงมือทำ เราจะเชื่อ

พูดอย่างไรก็ได้ แต่สิ่งที่ทำคือ “คำตอบ” ที่ดีที่สุด

การเปิดตัวพรรคพลังประชารัฐ

การประกาศตั้งพรรคการเมืองของกลุ่ม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”

การเดินสายคุยกับกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เพื่อดึงเข้ามาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งปีหน้า

ล้วนแต่เป็น “จิ๊กซอว์” ที่ชัดเจนยิ่ง

แต่เมื่อเห็นรายชื่อกลุ่มการเมืองที่ คสช.ทาบทามแล้ว หลายคนสงสัยว่านี่คือการปฏิรูปการเมืองจริง ๆ หรือ

เพราะเห็นหน้าตานักการเมืองและวิธีการ “ดูด” แล้ว

ทุกคนนึกถึงพรรคสามัคคีธรรมและเหตุการณ์ก่อน “พฤษภาทมิฬ” ขึ้นมาทันที

นี่คือ การย้อนเวลาหาอดีต

ย้อนไปปี 2535 หรือ 21 ปีที่แล้ว

เพียงแต่ครั้งที่แล้วเปิดเผยตรงไปตรงมามากกว่าครั้งนี้

หลังจากย้อนอดีตแบบ “บุพเพสันนิวาส” ทางการเมืองไม่กี่วัน

รัฐบาลชุดนี้ก็เชิญ “แจ็ก หม่า” มาทำเนียบรัฐบาล

การวางจังหวะของการแต่งตั้ง “นักการเมือง” ให้มีตำแหน่งในรัฐบาลกับวาระการเชิญ “แจ็ก หม่า” มาทำเนียบรัฐบาล

ถือเป็นการวางเกมที่เหนือชั้น

ให้ข่าว “แจ็ก หม่า” กลบข่าวการเมือง

วาระสำคัญในครั้งนี้ คือ การลงทุนมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาทสร้างศูนย์ดิจิทัลฮับที่อีอีซี

มุ่งเรื่องการกระจายสินค้าจีน-ไทย และภูมิภาคต่าง ๆ

ก่อนหน้านั้นนักธุรกิจที่เคยคุยกับ “แจ็ก หม่า” เคยเล่าให้ฟังว่าประเทศจีนนอกเหนือจากมี “เส้นทางสายไหม” แล้วยังมีเส้นทางใหม่ที่ชื่อว่า “อาลีบาบา” ด้วย

“แจ็ก หม่า” บอกเขาว่าประเทศที่เขาเจรจาเรียบร้อยแล้วคือ มาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย

เพราะทุกประเทศเปิดกว้างเรื่องระบบภาษี

แต่ “ไทย” ติดปัญหาเรื่องนี้

ผมไม่รู้ว่าการมาของ “แจ็คหม่า” ครั้งนี้ได้มีการเจรจาเรื่องนี้กับรัฐบาลไทยหรือไม่

แต่ต้องยอมรับว่า “อาลีบาบา” นั้นใหญ่จริง

ถ้าสามารถร่วมมือกับ “แจ็ก หม่า” และทำให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของเส้นทาง “อาลีบาบา” ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

แต่โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

ถ้าเขาจะลงทุนอะไรก็คงต้องมีข้อแลกเปลี่ยน

เราก็คงต้องเสียอะไรไปบ้างเป็นการตอบแทน

เพียงแต่การเมืองในวันนี้ คนไทยจะไม่ค่อยได้รับรู้ว่าการลงทุนแต่ละเรื่องมีรายละเอียดสัญญาอะไรบ้าง

อย่างรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ไม่มีการประมูล

เราก็ไม่รู้ว่าในสัญญาที่มอบสัมปทานให้จีนนั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง

ไม่เป็นไรครับ

ถือว่าเป็นหนึ่งในการปฏิรูปการเมืองก็แล้วกัน

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของ “แจ็ก หม่า” ในครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

เป็นเรื่องที่มองไกลไปข้างหน้าราวกับหนัง Ready player one ของ “สตีเว่น สปีลเบิร์ก”

ตรงข้ามกับ “บุพเพสันนิวาส” ทางการเมืองเมื่อวันก่อน

สนุกดีครับ