ธุรกิจตั้งการ์ดสูงรับเศรษฐกิจฝืด กำเงินสด แตะเบรกลงทุนใหม่

ซูเปอร์มาร์เก็ต

ธุรกิจประสานเสียงไม่วางใจสถานการณ์เศรษฐกิจ-กำลังซื้อ ชี้สารพัดปัจจัยลบทั้งต่างประเทศ-ในประเทศรุมเร้า “ซีอาร์ซี-บางกอกเชน-มาม่า” ตั้งการ์ดสูงรับมือ เพิ่มเข้มงวดระมัดระวังการลงทุน แตะเบรกชะลอโปรเจ็กต์ใหม่ หวั่นแบกภาระดอกเบี้ยหลังแอ่น ขอกอดเงิน ขยับจัดทัพเพิ่มโฟกัส เจาะตลาดต่างประเทศ

ที่ผ่านมา แม้หลาย ๆ ฝ่ายจะวาดหวังว่าปีนี้สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมจะมีทิศทางการฟื้นตัว มีแนวโน้มดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่ด้วยปัจจัยลบหลาย ๆ เรื่องที่ยังไม่คลี่คลาย บวกกับการมีปัจจัยลบใหม่เพิ่มเข้ามา ทำให้ล่าสุดธุรกิจต่าง ๆ เริ่มไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ และเตรียมตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งเริ่มชะลอแผนการลงทุนโครงการใหม่ เพื่อรอดูสถานการณ์และทิศทางที่ชัดเจน

“ซีอาร์ซี” ปรับตัวรับมือ

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC กล่าวว่า ปี 2567 นี้ธุรกิจค้าปลีกไทยและทั่วโลกยังท้าทายและมีความไม่แน่นอนหลายด้าน จึงอาจทำให้มูลค่าการค้าปลีกที่ตัวเลขประมาณ 4 ล้านล้านบาท เติบโตเพียงระดับใกล้เคียง หรืออาจต่ำกว่าจีดีพี ภาคธุรกิจจึงต้องระมัดระวังในการบริหารจัดการและวางแผนใช้เม็ดเงินลงทุน

ปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองก็คือ เศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าเนื่องจากหลายประเทศต่างมีปัญหา เช่น วงการอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ความตึงเครียดด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นคู่ค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ก็มีทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะจบลงไปแล้ว รวมถึงการแข่งขันกับสินค้าจากจีนที่ใช้ช่องว่างทางภาษี ส่งสินค้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

Advertisment

ปีนี้ซีอาร์ซีจึงเพิ่มความเข้มงวดการลงทุน เน้นลงทุนน้อยลงแต่ให้ผลลัพธ์เท่าเดิม หรือมากขึ้น โดยการลงทุนมูลค่า 2.2-2.4 หมื่นล้านบาท จะเน้นให้เกิดภาระทางการเงินให้น้อยที่สุด เช่น นำกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือมาหนุนการขยายสาขา หรือชะลอโครงการต่าง ๆ ที่ยังไม่พร้อมเปิดตัวออกไปก่อน รวมถึงปรับเปลี่ยนบางโครงการที่ผลการตอบรับไม่ถึงเป้า เช่น ห้าง GO! ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะปรับเป็นโมเดลอื่นต่อไป และจะมุ่งให้ความสำคัญธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูง

การบริหารต้นทุนและงบประมาณที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะโฟกัสไปที่กลุ่มสินค้าหรู เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควบคู่กับการเจาะกลุ่มผู้ประกอบการ HORECA หรือโรงแรม-ร้านอาหาร-คาเฟ่-จัดเลี้ยง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ด้วยการขยายค้าส่ง GO Wholesale เพิ่มอีก 7 สาขา

หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายของ 2 กลุ่มสำคัญ อย่างผู้บริโภคระดับกลาง-บนที่ยังมีกำลังซื้อ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น มาตรการลดภาษีคล้ายกับการปรับโครงสร้างภาษีสุรา-ไวน์ หรือ Easy E Receipt จะทำให้มูลค่าค้าปลีกมีโอกาสเติบโตสูงกว่าจีดีพีได้

ธุรกิจโรงพยาบาลชะลอโครงการใหม่

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังไม่มีความชัดเจนนัก และยังมีปัจจัยลบหลาย ๆ อย่างที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างกรณีของหุ้นกู้ที่เริ่มส่งสัญญาณบางอย่าง และหากเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนได้

Advertisment

สำหรับแนวทางการดำเนินงานของบางกอกเชนฯ เบื้องต้นวางยุทธศาสตร์ไว้ว่า จะไม่เร่งขยายการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ โดยจะมีการลงทุนเพียง 2 โปรเจ็กต์ ที่เป็นการลงทุนต่อเนื่อง คือศูนย์การแพทย์สำหรับรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษา และ รพ.เกษมราษฎร์ สุวรรณภูมิ ที่สมุทรปราการ ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะเป็นการลงทุนที่ใช้กระแสเงินสดของบริษัท

“เราไม่ได้หยุดขยายการลงทุน ยังมีแผนการลงทุนต่อเนื่อง เพียงแต่ช่วงนี้จะระมัดระวัง ไม่รีบร้อน และจะไม่กู้เงินจากสถาบันการเงินมาลงทุน พยายามไม่เป็นหนี้ การลงทุนที่เกิดขึ้นจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทเป็นหลัก เพราะตอนนี้ทุกโรงมีผลการดำเนินงานที่มีกำไร หลายโรงก็มีกำไรเพิ่ม”

เช่นเดียวกับ ดร.ชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวในเรื่องนี้ว่า ส่วนตัวคิดว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศก็คงไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ทุกคนทราบ เพราะยังมีปัญหาดอกเบี้ยที่สูง หนี้ครัวเรือน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศ แม้การรักษาพยาบาลจะเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่น่าจะกระทบ แต่จริง ๆ แล้วเชื่อว่าจะมีคนไข้จำนวนหนึ่งที่จะระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น

ดังนั้น รายได้ในส่วนนี้ของโรงพยาบาลอาจจะลดลงไปบ้าง โดยตลอดเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา เวชธานีจึงมุ่งไปทำตลาดต่างประเทศมาอย่างตลอด และมองว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลข Medical Tourism ที่ขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 15% ต่อปีมาหลายปีแล้ว อนาคตก็น่าจะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น

“ปีนี้เราก็จะเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดกับคนไข้ต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากยังเป็นตลาดที่มีดีมานด์สูงอยู่ โดยเฉพาะประเทศในรัศมีการบินไม่เกิน 6 ชั่วโมง รวมถึงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามที่คาดว่าปีนี้จะเข้ามารักษาพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้น”

“มาม่า” เพิ่มดีกรีบุกต่างประเทศ

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ ที่กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า โดยส่วนตัวมองว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ยังไม่มีอะไรน่าไว้วางใจเลย เพราะก็ยังมีปัจจัยลบหลายอย่าง และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ย หุ้นกู้ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคในภาพรวมยังมีปัญหา รวมถึงยังคงมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐ อาทิ เงินดิจิทัลวอลเลต เป็นต้น

ดังนั้น ก็ต้องทำธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานไว้ว่า จะไม่กู้เงินมาเพื่อลงทุน แต่จะใช้กระแสเงินสดที่มีอยู่ในการลงทุน รวมถึงกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่จะมุ่งการกระตุ้นการจับจ่าย หรือการซื้อมากขึ้น เนื่องจากเงินในกระเป๋าผู้บริโภคมีจำกัด โดยจะต้องทำให้เขาเลือกสินค้าของเรา เช่นเดียวกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ยกตัวอย่างกรณีของบิลบอร์ดที่จะมีให้เห็นมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ ปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตไว้ประมาณ 4-5% รวมทั้งไทยและต่างประเทศ โดยหลัก ๆ ก็จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนยอดขายต่างประเทศให้มากขึ้น ขณะที่ยอดขายในประเทศก็เริ่มทรงตัว

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การบริหารธุรกิจภายใต้ปัญหาสถานการณ์หนี้ สภาพคล่องตึงตัว ให้โฟกัสธุรกิจหลัก (Core Business) ของบริษัทเป็นสำคัญ อย่าไปลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัดหรือไม่มีความสามารถในการควบคุม เพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ เรียกว่าต้องระมัดระวังมาก

และถ้าเป็นไปได้อย่าสร้างหนี้มากเกินไปหรือมากเกินตัว เพราะยังไม่ทราบว่าวันข้างหน้าสถานการณ์จะตึงตัวมากกว่านี้หรือไม่ หรือธนาคารยัง Conservative เหมือนเดิม และที่สำคัญควรมองหาโอกาส M&A เพื่อให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น เพราะถ้าไปควบรวมกับบริษัทอื่นที่มีความแข็งแรงอาจจะดีขึ้นได้

นอกจากนี้ ต้องมองหาลู่ทาง ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพราะหากขายมาร์จิ้นต่ำ ๆ อาจจะลำบาก เพราะคู่แข่งมีมาก จะเห็นธุรกิจหลายประเภทในเมืองไทยต้องย้ายฐานผลิตไปเวียดนาม ก็ต้องดูว่าธุรกิจเหล่านี้ไร้อนาคต (Sun Set) หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ต้องหนี หรือไม่ก็ขายทิ้ง เพื่อไปเริ่มต้นอย่างอื่นที่ดีกว่า

ขณะที่ผู้บริหารสำคัญ คนรุ่นใหม่อาจจะช่วยในเรื่องการทำตลาดด้านออนไลน์ ช็อปปิ้งได้ ที่เหลือหากมีศักยภาพก็ควรขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดในประเทศไปส่วนหนึ่ง เพราะกำลังซื้อในประเทศก็ไม่ได้ดีนัก

“ผมว่าตอนนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีก็เหนื่อย ธุรกิจขนาดเล็กจะเหนื่อย เพราะหมุนเงินไม่ทัน และกำลังซื้อต่ำ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนพวกไฮเอนด์ ผมไม่เป็นห่วง เพราะไปได้ อย่างคอนโดมิเนียม บ้าน ราคาแพงก็ยังขายได้ ที่ดินราคาแพง ก็ยังมีคนซื้อ แต่พวกหาเช้ากินค่ำพวกนี้ โดยทั่วไปจะลำบาก ดังนั้นในที่สุด อาจจะต้องมีนโยบายบางอย่างที่มาช่วยคนเหล่านี้ ให้บรรเทาความเดือดร้อน เช่น ยืดหนี้ พักชำระหนี้ เป็นการชั่วคราว แต่ต้องดูว่าธุรกิจนั้น ๆ ไปได้หรือไม่”

หุ้นกู้บริษัทเล็กเสี่ยง

ดร.ก้องเกียรติกล่าวอีกว่า สถานการณ์หุ้นกู้นั้น หากเป็นบริษัทเล็กก็มีความเสี่ยง แต่ถ้าสามารถหาหลักประกันมาได้ก็ลดความเสี่ยงไปได้ คือปกติพวกนี้จะกู้แบงก์ก่อน แบงก์ก็จะเอาทรัพย์สินไปเกือบหมด แต่ยังมีเหลือมาค้ำประกัน ก็ยังพอขายได้ ที่กังวล คือกลุ่ม Nonrated ส่วนพวก Investment Grade ก็ยังขายได้เป็นเรื่องปกติ

“ความท้าทายปี 2567 ปีนี้ 1.ผลประกอบการ บจ. ถ้าออกมาแย่ หุ้นก็ลง 2.FDI (เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) เม็ดเงินจริง ๆ ที่เข้ามา ต้องดูว่ามีเท่าไหร่ ไม่ใช่บอกแค่ว่ามีโครงการแสนกว่าล้าน 3.หนี้ภาคเอกชน ผมมองว่ายังพอแก้ได้ ผมไม่มองเป็นวิกฤต เพราะอย่างน้อย ยังมีกองทุนในประเทศและต่างประเทศ หาโอกาสในการเข้ามาซื้อสินทรัพย์ ซึ่งเป็นจังหวะที่ราคาทรัพย์สินถูก”

ลุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง

นายแจ็คกี้ จาง ประธาน บริษัท เดลต้า จำกัด (มหาชน) หรือ “DELTA” เปิดเผย ว่า บริษัทยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ปรับตัวดีขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรก ทำให้เห็นสัญญาณที่ดีของอัตราการเติบโตของ GDP ซึ่งตามข้อมูลของสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ คาดการณ์ว่าปีนี้ GDP จะเติบโต 3% จากปีก่อนที่เติบโต 2.4%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ท้าทายจะมาจากปัญหาในด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก ความตึงเครียดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจโลกเติบโตช้า ในช่วงของครึ่งปีแรก แต่ยังมองว่าโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับเดลต้า ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตเพื่อการส่งออกถึง 95% โดยหลัก ๆ ส่งไปยังตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรป ในช่วงครึ่งปีแรกนี้เศรษฐกิจอาจจะอ่อนตัวลง บริษัทจะเน้นหนักไปที่การลงทุนเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งการพัฒนาคน แรงงานทักษะสูงร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ตลอดจนการลงทุนในด้านต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีการเพิ่มวงเงินลงทุนมากขึ้นด้วย

ฟาสต์ฟิตกังวลต้นทุน-ดอกเบี้ย

นายภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG และในฐานะศูนย์บริการรถยนต์แบบเร่งด่วนภายใต้แบรนด์ออโตคลิก (AUTOCLIK) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ดอกเบี้ยแพง ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูง ปีนี้จึงต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ ไม่เน้นการเพิ่มจำนวนสาขา แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้มากขึ้น รวมถึงเจาะเข้าพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพ โดยเป้าเดิมสิ้นสุดปี 2567 จะต้องขยายครบ 30 สาขา น่าจะทำเพียง 20 แห่ง ด้วยความเป็นห่วงเรื่องสภาพคล่อง ใช้เงินลงทุนราว 200-250 ล้านบาท

“ปกติการแข่งขันในตลาดฟาสต์ฟิตถ้าจะทำกำไรกันจริงต้องมีสาขาอย่างน้อย 30 สาขาก่อน แต่ด้วยความกังวลหลายอย่างเลยต้องยอมช้าลงนิด ปีนี้ก็พยายามประคับประคองตัว แล้วไปเริ่มลุยอีกรอบปีหน้า”