ภาษีทรัมป์ พ่นพิษ “เวิร์ลพูล-ฮาร์เลย์” ต้นทุนอ่วม

คอลัมน์ Market Move

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและชาติมหาอำนาจอื่น ๆ อย่างจีนและยุโรป ยังคงร้อนแรงต่อเนื่องด้วยมาตรการกำแพงภาษีที่แต่ละฝ่ายตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้กัน ทำให้ราคาวัตถุดิบและสินค้าในแต่ละประเทศปั่นป่วน จนผู้ประกอบการหลายรายต้องเร่งปรับแผนธุรกิจและการคาดการณ์รายได้ของปีนี้กันอย่างเร่งด่วน

หนึ่งในนั้นคือ “เวิร์ลพูล” (Whirlpool) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านสัญชาติสหรัฐ หนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่สนับสนุนนโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ หวังบีบให้คู่แข่งเกาหลี-ญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตในต่างประเทศต้องขึ้นราคาสินค้า พร้อมกับใช้จังหวะนี้ชิงส่วนแบ่งตลาดมาเป็นของตน หลังที่ผ่านมาเสียส่วนแบ่งให้กับคู่แข่งเพราะราคาขายที่สูงกว่า โดยขณะนั้น “มาร์ก บิทเซอร์” ซีอีโอของเวิร์ลพูล กล่าวว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่านโยบายนี้จะเป็นผลบวกสำหรับบริษัทแน่นอน

แต่ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์กลับเริ่มพ่นพิษใส่เวิร์ลพูลบ้างแล้ว เมื่อเดือน มี.ค.รัฐบาลได้ตั้งภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของเครื่องใช้ไฟฟ้า จนปัจจุบันราคาเหล็กในสหรัฐแพงกว่าประเทศอื่น ๆ ถึง 50% ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของบริษัทพุ่งสูงขึ้นทันที 350 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้เมื่อรวมผลของภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าและภาษีเหล็กเข้าด้วยกัน ได้ทำให้ขณะนี้ราคาเครื่องซักผ้าในสหรัฐ แพงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 20% ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้ามาตั้งแต่ต้นไตรมาส 2 สะท้อนจากยอดขายของบริษัทในสหรัฐลดลง 2.2% ส่วนยอดขายในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกาลดลง 12% จากผลของอัตราแลกเปลี่ยน

Advertisment

โดยสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2561 ลง 3% พร้อมส่งสัญญาณว่าอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอีกหลายครั้ง เพื่อชดเชยต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

“มาร์ก บิทเซอร์” กล่าวว่า ตอนนี้ราคาเหล็กในสหรัฐพุ่งขึ้นไปสูงในระดับที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้แล้ว และความไม่ชัดเจนว่าหลังจากนี้จะมีกำแพงภาษีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่ ยังกระทบกระบวนการจัดหาวัตถุดิบของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตามครึ่งหลังของปียังมีความหวังอยู่ ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งมีดีมานด์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราว่างงานลดลง

นอกจาก “เวิร์ลพูล” แล้ว “ฮาร์เลย์ เดวิดสัน” เป็นผู้ประกอบการสัญชาติสหรัฐอีกรายที่ถูกลูกหลงจากสงครามการค้าจนต้องปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2561 ลงจาก 10% เป็น 9 % เนื่องจากถูกกระทบจากมาตรการภาษีแบบ 2 ด้านทั้งการนำเข้าเหล็กของสหรัฐและกำแพงภาษีของอียูที่ตั้งเพื่อตอบโต้สหรัฐ ทั้งนี้แม้บริษัทจะรับมือด้วยการเร่งส่งสินค้าไปยังยุโรปซึ่งเป็นลูกค้าใหญ่อันดับ 2 ก่อนที่มาตรการภาษีจะบังคับใช้และทำให้ต้นทุนมอเตอร์ไซค์สูงขึ้น 2,200 เหรียญสหรัฐต่อคัน แต่ก็สามารถลดความเสียหายได้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยคาดว่าในปี 2561 นี้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 35 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีต่อๆ ไปจะขยับไปถึงระดับ 90-100 ล้านเหรียญสหรัฐ

Advertisment

อย่างไรก็ตาม “จอห์น โอลิน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของฮาร์เลย์ เดวิดสัน ยังย้ำว่า บริษัทไม่มีแผนย้ายฐานการผลิตออกนอกสหรัฐตามที่เคยมีข่าวออกมา แต่กำลังพิจารณาทางเลือกด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ เพื่อควบคุมต้นทุนมาชดเชยผลกระทบจากกำแพงภาษี

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงผลกระทบจากสงครามการค้าของสหรัฐที่พ่นพิษใส่แม้แต่ผู้ประกอบการในประเทศตนเอง ผิดไปจากเจตนาของมาตรการชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งต้องจับตาดูว่ารัฐบาลสหรัฐและบรรดาผู้ประกอบการจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร