อุตสาหกรรมอาหารอาเซียนโต หนุนผู้ประกอบการบุกประเทศเพื่อนบ้าน

กำลังซื้อของผู้บริโภครุ่นใหม่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารอาเซียนเติบโตต่อเนื่อง พร้อมชูกลยุทธ์สินค้า-นวัตกรรมใหม่ เน้นสร้างมูลค่ามัดใจผู้บริโภค หนุนผู้ประกอบการขยายกิจการไปประเทศเพื่อนบ้าน

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2018 ฉายภาพว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยปีนี้คาดว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ด้วยการส่งออกเป็นอันดับ 1 ไปยังกลุ่มตลาดซีแอลเอ็มวี (CLMV) รองลงมาคือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย

ในขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารอาเซียนถือเป็นอีกหนึ่งภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงศักยภาพด้านวัตถุดิบที่หลากหลายในแต่ละประเทศของอาเซียน ส่งผลให้เทรนด์การบริโภคแทบไม่แตกต่างกัน ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่จะขยายกิจการไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันอัตราการเติบโตของตลาดอาหารอาเซียนเฉลี่ยอยู่ที่ 16.00% มีมูลค่าส่งออกอาหารไทยไปยังตลาดนี้คิดเป็นสัดส่วน 25.65% ของการส่งออกอาหารรวมทั้งหมด

สำหรับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารในปี 2018 ได้แก่ 1.ผู้บริโภคใส่ใจในการเลือกอาหารที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน 2.คัดเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ 3.ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อให้เกิดการบริโภคซ้ำ (circular consumption) 4.ธุรกิจกาแฟและชาเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ 5.แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มสร้างสินค้าที่มีนวัตกรรมที่ตรงกับความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

นางสาวรุ้งเพชรกล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยเข้าไปในตลาดอุตสาหกรรมอาหาร ขณะนี้มีหลากหลายหน่วยงานที่สามารถให้คำแนะนำเรื่องกฎระเบียบการค้า ในการเข้าไปทำกิจการในต่างประเทศ และก่อนที่จะเข้าไปทำตลาดผู้บริโภคควรทำความเข้าใจและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศนั้น ๆ เพื่อที่จะนำสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ

เพื่อเข้าไปขยายตลาดให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งส่วนผสมอาหารก็มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ส่วนผสมที่ช่วยปรุงรสแต่งกลิ่น สี ส่วนผสมที่ช่วยยืดอายุของอาหารให้เก็บรักษาได้นานขึ้น จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหาร ถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบการต้องเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เน้นการนำผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เป็นอาหารตลอดจนคุณค่าสารอาหาร ส่วนในด้านเครื่องดื่มสุขภาพคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชียได้เติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ประเทศอินโดนีเซียก็ถือเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจอาหารด้วยจุดเด่นด้านจำนวนประชากรสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะยังคงเติบโตและกลายเป็นอันดับที่ 11 ของโลกในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มจะสามารถเติบโตกว่า 8% จากปีก่อน จากการขยายตัวจากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นหลักดังนั้น เพื่อรับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมธุรกิจอาหาร ยูเอ็มบีจึงได้จัดงานฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย ครั้งที่ 23 หรือเอฟไอ เอเชีย 2018 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี และนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับอุตสาหกรรมแห่งเอเชีย ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงงานทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายส่วนผสมอาหารกว่า 700 ราย จาก 56 ประเทศทั่วโลก คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 2 หมื่นราย