สื่ออังกฤษระส่ำ รัฐจ่อแบนโฆษณาจังก์ฟู้ด

คอลัมน์ Market Move

สินค้าอาหาร-เครื่องดื่ม เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของธุรกิจโฆษณา ไม่ว่าจะในช่องทางสื่อนอกบ้านหรือโทรทัศน์ แต่กระแสโรคอ้วนและโรค NCDs ได้กระตุ้นให้หลายประเทศควบคุมการบริโภคอาหารจังก์ฟู้ด อาทิ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน และน้ำอัดลม เช่น การเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม และล่าสุดประเทศอังกฤษได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยมาตรการห้ามโฆษณาอาหารจังก์ฟู้ดในช่องทางต่าง ๆ อาทิ สื่อในระบบขนส่งมวลชน และอาจขยายไปยังสื่อทีวีต่อไป

สำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” รายงานว่า “ซาดิช คาน” นายกเทศมนตรีลอนดอน ได้เสนอแผนห้ามโฆษณาอาหารจังก์ฟู้ดในระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบของเมือง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟบนดิน-ใต้ดิน รถไฟปกติ รถเมล์ รถราง และเรือโดยสาร ซึ่งมีผู้ใช้งานเฉลี่ยถึง 30 ล้านคนต่อวัน โดยหากผ่านประชามติในเดือน ธ.ค. จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ปีหน้า ส่งผลให้อาหารและเครื่องดื่มที่เข้าข่าย อาทิ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ชีสเบอร์เกอร์ ช็อกโกแลต และอื่น ๆ ไม่สามารถลงโฆษณาได้ หากร้านค้าและบริการส่งดีลิเวอรี่ที่มีสินค้าเหล่านี้อยู่ต้องการลงโฆษณาจะต้องหันไปไฮไลต์สินค้าที่เป็นมิตรกับสุขภาพแทน

ทั้งนี้มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนลดปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนของลอนดอน หลังผลสำรวจพบว่า 40% ของเด็กและเยาวชนในเขตเมืองหลวงมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของยุโรป โดยในปี 2562 เทศบาลลอนดอนมีแผนออกประกาศห้ามตั้งร้านจังก์ฟู้ดในรัศมี 400 เมตรจากโรงเรียน

รวมถึงมีแนวโน้มว่าแนวคิดนี้อาจลุกลามไปยังสื่ออื่น โดยเฉพาะทีวีซึ่งเสียงเรียกร้องให้ควบคุมโฆษณาฟาสต์ฟู้ดดังขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจทำให้ธุรกิจทีวีสูญเสียรายได้ค่าโฆษณาถึง 200 ล้านปอนด์ต่อปี

อย่างไรก็ตาม แบรนด์สินค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมีปฏิกิริยาแตกต่างกันออกไป โดย “แมคโดนัลด์” เชนร้านฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ เพราะบริษัทหันโฟกัสเมนูที่เป็นมิตรกับสุขภาพมากขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว

ในขณะที่สมาคมโฆษณาของอังกฤษแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ “สตีเฟน วูดฟอร์ด” กรรมการบริหารของสมาคม กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานแสดงถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการโฆษณากับภาวะอ้วนในเด็กและเยาวชน รวมถึงยังกระทบกับรายได้ของขนส่งมวลชนลอนดอน (Transport for London-TFL) ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าโดยสารแพงขึ้น

ดังนั้นจึงต้องจับตาดูผลประชามติและรอดูผลลัพธ์ของมาตรการควบคุมโฆษณา ว่าจะช่วยลดโรคอ้วนในเด็กและเยาวชนได้หรือไม่ ซึ่งหากประสบความสำเร็จอาจมีหลายประเทศนำไปใช้ด้วยเช่นกัน

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!