“สิงห์-ช้าง” รัวหมัด ศึกชิงเจ้าตลาดเบียร์ร้อนฉ่า

เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้น สำหรับ ไทยเบฟ หลังจากที่ได้ประกาศเป้าหมายขึ้นสู่การเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในประเทศไทย และภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2563

แม้ว่าขณะนี้การเข้าซื้อกิจการของ “ซาเบโก” (SABECO) เจ้าของไซ่ง่อนเบียร์ ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา จะทำให้ไทยเบฟได้มาร์เก็ตแชร์ของตลาดเวียดนามมาครอง และส่งผลให้มีส่วนแบ่งตลาดเบียร์ในอาเซียนทันที 24% ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคนี้สำเร็จ

แต่ “ศึกในบ้าน” ยังคงเป็นลานประลองหลักที่ไทยเบฟยังต้องแชลเลนจ์เป้าหมายนี้กับ “สิงห์” ที่ยังเป็นผู้นำในตลาดในประเทศอยู่ ด้วยมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 62% (เมื่อต้นปี 2561)

ในปีที่ผ่านมา การจัดทัพของไทยเบฟจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น ด้วยกลยุทธ์พอร์ตโฟลิโอ ที่พยายามเติมเต็มช่องว่างของตลาด และขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยการใช้

โปรดักต์เซ็กเมนเทชั่น เริ่มจากการออกเบียร์ดีกรีแรง TAPPER แอลกอฮอล์ 6.5% ในช่วงต้นปี ทวงคืนฐานลูกค้าช้างคลาสสิกสมัยก่อนปรับโฉมตามด้วยการออกแบรนด์ใหม่พร้อม ๆ กันอีก 2 แบรนด์ ในช่วงหน้าขายโค้งสุดท้ายของปี อย่างฮันทส์แมน ซึ่งเป็นเบียร์ประเภทวีตเบียร์และแบล็กดราก้อน เบียร์ประเภทเรดเอล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ไทยเบฟหันมาผลิตเบียร์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ลาเกอร์ อย่างเบียร์ช้าง เฟเดอร์บรอย และแทปเปอร์ เพื่อรับกับตลาดคราฟต์เบียร์และเบียร์ทางเลือกใหม่ ๆ ที่มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วในตอนนี้ โดยใช้ราคาที่เข้าถึงง่าย กระป๋องละ 55 บาท ในขณะที่คราฟต์เบียร์ส่วนใหญ่มีราคา 100 บาทขึ้นไป

“โฆษิต สุขสิงห์” ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุถึงแผนการดำเนินธุรกิจในช่วงต่อจากนี้ว่า บริษัทยังคงเดินหน้ารุกตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับกับวิสัยทัศน์ 2020 หรือเป้าหมายในปี 2563 ที่ต้องการเป็นผู้นำตลาดเบียร์ของไทยและอาเซียน

โดยจะมีทั้งการจัดกิจกรรมบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เน้นการสร้างประสบการณ์และเอ็นเกจเมนต์ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม ประกอบกับการผลักดันเบียร์ตัวใหม่ที่เปิดตลาดในปีที่ผ่านมาให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

“เอ็ดมอนด์ เนียว คิม ซูน” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้า ยังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ด้วยว่า หลังจากการที่ไทยเบฟซื้อกิจการของซาเบโก ยังทำให้ทั้ง 2 บริษัทมีการวางแผนซื้อมอลต์และฮอบส์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการคุมต้นทุนวัตถุดิบหลักดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนภาพรวมของตลาดเบียร์ในปีที่ผ่านมา แม้ว่าตลาดจะหดตัวลงจากกำลังซื้อ สภาพเศรษฐกิจ แต่ในช่วงโค้งท้ายของปีเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น และปัจจัยอย่างการเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี การเลือกตั้ง ราคาพืชผลการเกษตรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ตลาดเบียร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยเบฟยังได้เปิดเผยถึงตัวเลขมาร์เก็ตแชร์เมื่อตอนต้นปี 2561 ว่า บริษัทยังคงรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ประมาณ 40% ได้อย่างต่อเนื่อง (รวม 2 แบรนด์ ได้แก่ ช้างและเฟเดอร์บรอย)

“ภูริต ภิรมย์ภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า บุญรอดฯมีส่วนแบ่งการตลาดของเบียร์ทุกแบรนด์รวมกันประมาณ 62% จากมูลค่าตลาดประมาณ 1.8 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 65% ภายในปีที่ผ่านมา ผ่านการผลักดันทั้งในกลุ่มของเมนสตรีม รวมถึงการสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ ๆ อย่างตลาดซูเปอร์พรีเมี่ยม หรือคราฟต์เบียร์ให้เติบโตยิ่งขึ้น รับกับความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาประสบการณ์แบบใหม่ ทางเลือกใหม่ ๆ ในการบริโภค

ภาพรวมของบุญรอดฯในช่วงที่ผ่านมา จึงมีทั้งการเสริมทัพสินค้าด้วยแบรนด์ใหม่ เซ็กเมนต์ใหม่ ที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลอนช์ยูเบียร์, สโนวี่ ไวเซ่น บาย เอส 33 ที่เป็นเบียร์ประเภทวีตเบียร์ จนฝั่งของไทยเบฟต้องส่งฮันทส์แมนออกมาปิดช่องว่างในเซ็กเมนต์ดังกล่าว ตามมาด้วยคอปเปอร์ ที่หวังเจาะตลาดคราฟต์เบียร์ เสริมทัพกับสโนวี่ฯ

และล่าสุด ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่แล้ว สิงห์ก็เปิดตัวแบรนด์ใหม่อีกแบรนด์ที่ชื่อว่า “มายเบียร์” ซึ่งแหล่งข่าวในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ความเห็นว่า สิงห์ได้ปรับกลยุทธ์แบรนด์สิงห์ไลท์ใหม่ โดยเปลี่ยนไปใช้ชื่อแบรนด์มายเบียร์ และสร้างแบรนด์จากภาพลักษณ์ใหม่แทน เพื่อเซ็กเมนเทชั่นสินค้าในแต่ละตลาดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยชื่อดังกล่าวยังสามารถนำไปเล่นคำ เพื่อสื่อสารได้หลากหลาย เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นตอนเปิดตัวยูเบียร์พร้อม ๆ กับการเข้าไปถือหุ้นในบริษัท ฟูลมูน บรูเวิร์ค จำกัด ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์แบรนด์ “ชาละวัน” อย่างเงียบ ๆ ผ่านบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ในสัดส่วน 30% เป็นอันดับที่ 3 รองจากสัดส่วนของ 2 ผู้ก่อตั้งอย่าง

นายกมลาศ พัฒนาไพศาล และนายสุกิจ ทีปฏิมา ถือหุ้นกันคนละ 31.4074%ศึกแห่งศักดิ์ศรีของพี่ใหญ่ในตลาดทั้ง 2 รายในปีนี้ คงจะทวีความร้อนแรงกันแบบสุด ๆ เพราะใกล้ถึงเดดไลน์ปี 2563 เต็มที การชิงไหวชิงพริบ การเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และคู่ค้าของทั้งคู่จะดุเดือดขนาดไหนคงต้องติดตาม

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!