“เบียร์อิมพอร์ต” ทะลัก 100 ยี่ห้อ แข่งเดือดสวนกระแสตลาดฝืด

เบียร์อิมพอร์ตทะลักกว่า 100 แบรนด์ ผู้นำเข้าปูพรมช่องทางขาย ค่ายใหญ่ “สไมล์ลิ่ง แม๊ดด๊อก” ส่งแบรนด์ใหม่ ราคาเข้าถึงง่าย ขยายฐานลูกค้า ก่อนเพิ่มดีกรีเจาะโมเดิร์นเทรด ด้าน “เบียร์ไทยอิมพอร์ต” ส่งโปรดักต์ใหม่รัว ปลุกตลาดไม่ยั้ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้แม้จะมีการประเมินเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ ว่า มีมูลค่าตลาดรวมไม่ถึง 1% ของตลาดเบียร์ทั้งหมดที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.8 แสนล้าน แต่ก็เป็นเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตสูง สวนทางกับตลาดรวมที่ค่อนข้างนิ่งจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยหลัก ๆ เนื่องจากผู้ดื่มเบียร์อิมพอร์ตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ หรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบการณ์กินดื่มที่แตกต่างตามไลฟ์สไตล์ บวกกับลูกค้ากลุ่มนี้มีความรู้เรื่องชนิดของเบียร์ที่มากขึ้น

อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ประกอบการที่เห็นช่องว่างและโอกาสการเติบโต จึงมีการทยอยนำเบียร์ชื่อดังจากประเทศเข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้มีภาพของเบียร์แบรนด์แปลก ๆ ใหม่ ๆ จากหลากหลายประเทศ วางจำหน่ายตามช่องทางต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งเชลฟ์เครื่องดื่มตามซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าส่ง รวมถึงเมนูเครื่องดื่มตามสถานบันเทิงผับ บาร์ และร้านเบียร์

นายกัณฑ์ นาวิกผล กรรมการ บริษัท สไมล์ลิ่ง แม๊ด ด๊อก จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า อาทิ บัลลาส พอยต์, บริวด๊อก, โคโรนาโด, อีวิล ทวิน ฯลฯ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดเบียร์นำเข้ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งในด้านของจำนวนแบรนด์ และผู้นำเข้า

โดยปัจจุบันมีแบรนด์ที่วางขายอยู่ในตลาดมากกว่า 100 แบรนด์ และมีผู้นำเข้ากว่า 20 ราย ขณะที่การกระจายสินค้าก็ครอบคลุมช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่เบียร์อิมพอร์ตจะเน้นวางขายในช่องทางออนพรีมิส หรือร้านอาหาร ผับ บาร์ เป็นหลัก แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีเข้าไปจำหน่ายในช่องทางออฟพรีมิส หรือร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และค้าส่งรายใหญ่ มากขึ้น

สำหรับบริษัท สไมล์ลิ่ง แม๊ด ด๊อก ปัจจุบันมีพอร์ตเบียร์นำเข้าจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สกอตแลนด์ เบลเยียม เยอรมนี ฯลฯ รวม 13 แบรนด์ และปีนี้เตรียมจะเพิ่มช่องทางเข้าไปในช่องทางออฟพรีมิสให้มากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนการขาย 15-20% เป็น 25-30% รับกับเทรนด์ของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าปลีกมากขึ้นจากความสะดวกสบายในการเข้าถึง ราคา และวาไรตี้ของสินค้าในช่องทางดังกล่าว

“3-4 ปีที่ผ่านมา ร้านขายเบียร์นำเข้ามีแค่ในใจกลางเมือง แต่วันนี้จะเห็นร้านประเภทนี้ไปเปิดรอบนอก หรือต่างจังหวัดกันเยอะขึ้น จนทำให้ซัพพลายโตอย่างรวดเร็ว ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง จึงจำกัดกลุ่มคนดื่ม รวมถึงความถี่ในการดื่ม” นายกัณฑ์กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะนำเบียร์แบรนด์ใหม่ ๆ จากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดเพิ่ม โดยจะเน้นไปที่กลุ่มราคาประมาณ 100-200 บาท/ขวด เพื่อให้กลุ่มลูกค้าสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น จากปกติที่ราคาของเบียร์นำเข้าจะอยู่ที่ประมาณขวดละ 250- 300 บาท ทั้งนี้ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเบียร์อิมพอร์ตรายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเติบโตของเบียร์อิมพอร์ตดังกล่าวทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้นด้วย โดยหลัก ๆ จะเป็นเรื่องของการแข่ง เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้มีความครอบคลุมมากขึ้น และการสื่อสารกับกลุ่มลูกค้า ภายใต้การควบคุมทางกฎหมายที่เข้มงวด และระดับราคา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแบรนด์ไทยนำเข้า ซึ่งสามารถทำราคาได้ต่ำกว่า เพราะส่วนใหญ่ใช้ฐานผลิตในอาเซียน และไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเบียร์นำเข้า สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ แบรนด์ต่างประเทศ และแบรนด์ไทยที่ผลิตต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคราฟต์เบียร์ไทย ที่ต้องใช้ฐานผลิตต่างประเทศแล้วนำกลับเข้ามาจำหน่ายเนื่องจากไม่สามารถผลิตในประเทศ ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงไม่แพ้กัน โดยปัจจุบันมีแบรนด์ในตลาดมากกว่า 60 แบรนด์

โดยแบรนด์ต่างประเทศ ส่วนใหญ่มีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากมีภาษีนำเข้า ที่ต้องเสียถึง 60% เช่น จากสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เบียร์ไทยนำเข้า มักจะใช้ฐานผลิตในกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ซึ่งได้ยกเว้นภาษีนำเข้าจากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าหรือ FTA อย่างไรก็ตาม เบียร์ไทยนำเข้าบางแบรนด์ก็ยอมที่จะใช้ฐานผลิตที่อื่น อย่างสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะต้องเสียภาษีนำเข้าสูงก็ตาม

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของแบรนด์ไลเกอร์, อัลเลมองท์ และตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเบียร์ไทยนำเข้า (Thai imported beer) ฉายภาพกับให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า ตลาดของเบียร์นำเข้าส่วนใหญ่ ยังคงเป็นของแบรนด์ต่างประเทศเป็นหลัก จากมูลค่าและจำนวนแบรนด์ แต่สัดส่วนของเบียร์ไทยนำเข้าก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้น การออกสินค้าใหม่ ๆ ของผู้ผลิตรายเดิม การตอบรับของตลาดทั้งผู้บริโภค และช่องทางการขาย โดยกลุ่มค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงค้าส่ง ก็ต้องการเบียร์ไทยน้ำเข้า หรือคราฟต์เบียร์ไทย เข้าไปจำหน่ายมากขึ้น ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 119 บาท 129 บาท 149 บาท และ 159 บาท มีสตอรี่ที่เข้าใจได้ง่าย และสินค้าที่พัฒนาอยู่ตลอด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!