พีเอสไอ…เดินเกมใหม่ ต่อยอดธุรกิจรอบทิศ

การเติบโตเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมทีวี ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ต้องปรับตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเจ้าตลาดจานและกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมอย่างพีเอสไอ ที่แม้จะเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับการเปลี่ยนผ่านมาแล้วสักระยะ แต่ก็ยังต้องปรับตัวอยู่ตลอดเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นมาทดแทนรายได้ก้อนใหญ่ที่กำลังจะค่อย ๆ หายไป

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “สมพร ธีระโรจนพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณดาวเทียม เครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์ “พีเอสไอ” ถึงแนวโน้มของธุรกิจจานและกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม รวมถึงทิศทางธุรกิจใหม่ที่ค่อย ๆ เริ่มต้นขึ้น

Q : แนวโน้มธุรกิจจานและกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมจะโตขึ้นอีกหรือไม่

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาธุรกิจจานดาวเทียมเริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตาม แม้คนจะดูทีวีลดลงเรื่อย ๆ แต่เรามองว่าคนที่ดูทีวีทุกวัน หรือคนที่ดูปีละครั้งก็ยังต้องซื้อกล่องทีวีดาวเทียม 1 กล่องเหมือนกันทำให้กล่องทีวีดาวเทียมก็ยังขายได้ หรือเฉลี่ยปีละ 2-3 ล้านกล่อง แต่ภาพรวมตลาดกล่องทีวีดาวเทียมก็จะไม่โตไปกว่านี้แล้ว ดังนั้น พีเอสไอก็ต้องเปลี่ยนถ่ายตัวเองไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้

Q : ภาพการปรับตัวของพีเอสไอขณะนี้

Advertisment

ตอนนี้ต้องยอมรับว่าตลาดเปลี่ยนเร็ว คนดูมีทางเลือก เปิดรับสื่อจากช่องทางอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ เป็นต้น เพราะสะดวกและตอบโจทย์คนดู ดังนั้น สิ่งที่พีเอสไอทำคือรักษาพื้นที่ของตัวเองพร้อม ๆ กับต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยในส่วนการรักษาส่วนแบ่งตลาดกล่องทีวีดาวเทียมนั้น

ล่าสุดได้เปิดตัวกล่องไฮบริด “พีเอสไอ S3” เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา วางราคา 1,590 บาท ซึ่งกล่องนี้มี 2 ระบบ คือ ดูได้ช่องทีวีดาวเทียมและอินเทอร์เน็ตทีวี รองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ชมยุคนี้ ตั้งเป้าหมายว่า 3-5 ปีจากนี้จะมียอดขาย 10 ล้านกล่องทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็แตกธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้มี 3 สินค้า ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องแยกน้ำ กล้องวงจร และปี 2563 มีแผนจะขยายไลน์สินค้าเพิ่มอีก เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

“การปรับตัวพีเอสไอ คือ ต่อยอดจากของเดิมด้วยการใช้ฐานช่างติดตั้งสาขาที่มีในต่างจังหวัดมาต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างโปรดักต์และบริการใหม่ ๆ ต่อเนื่อง”

Q : ธุรกิจใหม่จะโตอย่างไร

Advertisment

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ธุรกิจใหม่เป็นตัวเสริมที่ทำให้ทีมช่างมีบริการที่ครบวงจรและมีรายได้มากขึ้น ขณะที่สเต็ปต่อไปคือการใช้ศักยภาพที่มีทั้งเครือข่ายสาขา ทีมช่างติดตั้งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย อีกทั้งฐานลูกค้า 17-18 ล้านครัวเรือนที่รู้จักแบรนด์พีเอสไออยู่แล้วมาต่อยอดธุรกิจ เพราะมองว่าการมีฐานลูกค้าขนาดนี้จะต่อยอดธุรกิจอะไรก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นเพิ่มอีกก็ทำได้ไม่ยากแล้ว โดยเฉพาะทีมช่างที่ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการนำสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่พีเอสไอในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นเรียกช่าง “FixIT” ขึ้น โดยแอปนี้ยังสามารถรองรับบริการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

Q : พีเอสไอมีรายได้จากธุรกิจอะไร

รายได้หลักยังมาจากธุรกิจเดิม คือ ขายจานและกล่องทีวีดาวเทียม ส่วนธุรกิจใหม่การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น แอร์ เครื่องแยกน้ำ กล้องวงจรปิด ก็โตขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายธุรกิจรับ-ส่งสัญญาณช่องทีวีดาวเทียม ปัจจุบันให้บริการอยู่ 60-70 ช่อง ซึ่งธุรกิจรับ-ส่งสัญญาณอาจจะไม่โตขึ้น แต่ก็ไม่ได้หดตัวลง คนต่างจังหวัดก็ยังดูช่องทีวีดาวเทียมอยู่ เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ครอบคลุม ประกอบกับค่าบริการยังมีราคาสูง ทำให้คนก็ยังดูทีวีดาวเทียมอยู่ ตลาดนี้ก็ยังไปได้

Q : ทิศทางธุรกิจ 3-5 ปีจากนี้ไป

เป้าหมายคือสร้างแพลตฟอร์มด้วยการเดินหน้าสู่การเป็นอินเทอร์เน็ตทีวี ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำปีนี้ คือ เริ่มผลักกล่องรุ่นใหม่ “พีเอสไอ S3” เข้าสู่ตลาดให้มากที่สุด โดยตั้งเป้าหมายว่า 3-5 ปีจะขายให้ได้ 10 ล้านกล่อง หรือคนไทยต้องมีกล่องพีเอสไอ S3 ถึง 10 ล้านครัวเรือน ถ้าทำได้เท่ากับว่าจะมีฐานคนดูที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทันที โดยขณะนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการต่อยอดธุรกิจในอนาคตไว้หมดแล้ว

“การขายกล่องได้กำไรไม่มาก ทำให้พีเอสไอต้องปรับตัวด้วยการใช้กล่องเป็นฐานเชื่อมลูกค้าและผู้ขายเข้าด้วยกันซึ่งเมื่อก่อนกล่องทีวีดาวเทียมทำไม่ได้ แต่ตอนนี้กล่องไฮบริด ทำได้ด้วยการส่งสัญญาณเข้าไปที่กล่องรับสัญญาณสามารถทำได้ทั้งการขายสินค้า พ็อปอัพโฆษณา จนนำไปสู่การปิดการขายโดยไม่รบกวนผู้ชม ดังนั้น ภาพที่จะเกิดขึ้น 3-5 ปีจากนี้ คือ บริษัทกำลังสร้างแพลตฟอร์มและคอมมิวนิตี้ขนาดใหญ่ที่สื่อสารระหว่างบริษัทกับผู้บริโภคได้ผ่านเทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น”