ไฮเนเก้นบูมตลาดเบียร์0% แบรนด์ใหม่จ่อนำเข้าเพียบ

แฟ้มภาพ
ตลาดเบียร์คึกอีกระลอก “ไฮเนเก้น” เปิดเซ็กเมนต์ใหม่ “เบียร์ไร้แอลกอฮอล์” เพิ่มทางเลือกนักดื่ม อิมพอร์ตเตอร์รายใหญ่ “กัปตัน บาร์เรล” ส่ง “บาวาเรีย 0.0%” ร่วมบูมตลาดรวดเดียว 4 รสชาติ เผยอีกหลายค่ายจ่อโดดลุย เสียภาษีแบบเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มั่นใจอนาคตสดใส

เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นกระแสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาสักพัก และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ที่ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องสุขภาพ และการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมกันมากขึ้น และเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ค่ายเบียร์หลายค่าย ตลอดจนผู้นำเข้า ได้ทยอยส่งสินค้าลงสู่ตลาด เพื่อเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ในตลาดเบียร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดไฮเนเก้นได้นำเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ “ไฮเนเก้น 0.0” (ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์) เข้ามาทำตลาด โดยเริ่มวางจำหน่ายในช่องทางโมเดิร์นเทรด เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต บางสาขาแล้ว ราคากระป๋องละ 39 บาท 330 มล. ระบุประเภทของเครื่องดื่มว่า เป็น “nonalcoholic malt beverage” หรือเครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หลังจากเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไฮเนเก้นได้เริ่มทยอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องดื่มดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ข่าวเวิร์คพอยท์” ซึ่งระบุผ่านแฮชแท็กว่าเป็นบทความสปอนเซอร์ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ผู้บริโภค” โดยไฮเนเก้น 0.0 มีวางจำหน่ายแล้ว 14 ประเทศ และเพิ่งเปิดตัวในเอเชียที่สิงคโปร์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด (ทีเอพี) ผู้ผลิตและทำตลาดเบียร์ไฮเนเก้น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ศึกษาตลาดเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์มาระยะหนึ่งแล้ว และคาดว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ โดยที่ผ่านมาบริษัทแม่ของไฮเนเก้นได้เปิดตัวสินค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 หรือประมาณ 2 ปีที่แล้ว และเมื่อตลาดตอบรับดี จึงขยายการจำหน่ายออกไปยังประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตลาดเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ในไทยถูกจัดอยู่ในประเภทเครื่องดื่มมอลต์ หรือมอลต์ดริงก์ ปัจจุบันมีวางขายอยู่ในช่องทางโมเดิร์นเทรด และตามร้านเบียร์อยู่ประมาณ 9-10 แบรนด์ รวมเกือบ 20 เอสเคยู อาทิ ไฮท์ ซีโร่, บาวาเรีย 0.0%, เออดิงเงอร์ แอลกอฮอล์ฟรี, ครอมบาเชอร์ ฯลฯ เป็นต้น

นายอาชว มหามงคล ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท กัปตัน บาร์เรล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์จากต่างประเทศ อาทิ บาวาเรีย, ลา ทร้าปท์ ฯลฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ของเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีไลฟ์ไตล์การดื่มแบบรับผิดชอบกันมากขึ้น อยากสังสรรค์หรืออยากได้รสชาติของเบียร์ แต่ไม่อยากเมา

โดยบริษัทได้นำเข้า บาวาเรีย 0.0% เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา มียอดขายเติบโตขึ้นทุกปี จนล่าสุดได้เพิ่มพอร์ตสินค้าให้มีถึง 4 รสชาติ อาทิ ออริจินอล เลมอน สตรอว์เบอรี่ และแอปเปิล ในรูปแบบกระป๋อง 49 บาท 330 มล. และแบบขวด ในบางรสชาติ ราคา 55 บาท พร้อมกับขยายช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ในโมเดิร์นเทรด เช่น เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลอดจนช่องทางออนไลน์ อาทิ www.jd.co.th

ขณะที่ นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเบียร์ไทย-ต่างประเทศ เจ้าของแบรนด์ไลเกอร์ และอัลเลมองท์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เทรนด์ของเครื่องดื่มแบบไม่มีแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์ปริมาณน้อย คาดว่าจะมีผู้สนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะได้เห็นรายอื่น ๆ เปิดตัวกันมากขึ้น หลังจากดูกระแสตอบรับของตลาดที่เกิดขึ้นหลังจากที่ค่ายใหญ่ได้เริ่มวางตลาด เช่นเดียวกันกับไอเอสทีบีเองก็มีแผนเตรียมออกสินค้าในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีพอร์ตฯเบียร์นำเข้าที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาทิ ไฮท์ ซีโร่ 0.00 ปัจจุบันวางขายในช่องทางโมเดิร์นเทรดและร้านอาหาร ราคากระป๋องละ 59 บาท 355 มล. ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการดื่ม แต่ไม่ต้องการแอลกอฮอล์ ผู้ที่กังวลเรื่องการดื่มแล้วเจอด่านตรวจ หรือคนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ

นายอาชิระวัสส์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวไม่ถูกจัดว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงสามารถทำการโฆษณา ขายได้ตลอด ทั้งหมดสามารถทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย หรือโปรโมชั่น ฯลฯ ได้ ในขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีข้อห้ามจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กำหนดเอาไว้ ในขณะที่ด้านของการเสียภาษีก็จะเสียในอัตราเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั่วไป

ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบียร์ 0% จะไม่ถือว่าเป็นสุรา ที่ต้องเสียภาษีในหมวดสุราแช่ แต่การเสียภาษีจะอยู่ในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ปัจจุบันมีอัตราจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 14% ของมูลค่า (ราคาขายปลีกแนะนำ) บวกกับอัตราตามค่าความหวาน

“ถ้ามีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 0.5 ดีกรี เราจะไม่ถือว่าเป็นสุรา ก็ต้องไปเสียภาษีเป็นเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันเบียร์ประเภทนี้ยังไม่มีการผลิตภายในประเทศ แต่ก็จะมีคนนำเข้ามาขายตามร้านอาหารอยู่บ้าง โดยจริง ๆ แล้วไม่ใช่เบียร์ แต่อาจจะมีกลิ่นหรือรสชาติที่ทำให้เหมือนเบียร์” นายณัฐกรกล่าว

คลิกอ่าน…“สิงห์-ช้าง” รัวหมัด ศึกชิงเจ้าตลาดเบียร์ร้อนฉ่า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!