ศุภลักษณ์ อัมพุช ถอดรหัส…วินนิ่งฟอร์มูล่าสู้ดิสรัปต์

“ค้าปลีก” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูก disrupt หรือถูกคุกคามจากสารพัดเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยไม่มีการบอกเตือนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นความนิยมช็อปปิ้งออนไลน์ เทรนด์สินค้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ

การย้ายไปใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กหลากหลายแพลตฟอร์ม ฯลฯ ส่งผลให้บรรดาศูนย์การค้าในสหรัฐอเมริกาต้องพากันปิดตัวอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

แต่สำหรับในประเทศไทย สถานการณ์กลับตรงกันข้าม เมื่อบรรดาศูนย์การค้ายังเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ที่นอกจากอัพเกรดสาขาเดิมแล้ว ยังมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในไปป์ไลน์ทั้ง “EM Live” อารีน่าระดับเวิลด์คลาสในโครงการเอ็มสเฟียร์ และ “แบงค็อกมอลล์” ศูนย์การค้าใหญ่ย่านบางนา ที่เริ่มก่อสร้างและมีกำหนดเปิดในอีกไม่กี่ปี

ในงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 43 ประชาชาติธุรกิจ “GAME CHANGER PART II” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“ศุภลักษณ์ อัมพุช” หรือ “คุณแอ๊ว” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ประสบการณ์ในวงการค้าปลีกกว่า 30 ปี ช่วยให้ “เดอะมอลล์” รับมือกับการถูกดิสรัปต์ในวงการค้าปลีก และยืนหยัดมาอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตามเมื่อวงการค้าปลีกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีและเทรนด์ต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามามีผลกับธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคปัจจุบันและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น อีคอมเมิร์ซ, click&collect, online to offline, ออมนิแชนเนล, IOT, เอไอ, ฟินเทค ฯลฯ

ทำให้การค้นหา winning formula ที่สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นคีย์ซักเซสที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันฐานผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสูงวัย กลุ่มมิลเลนเนียลและยังแยกย่อยลงไปอีก จนยากที่ผู้บริหารศูนย์การค้าต่าง ๆที่เป็นคนรุ่นเก่าจะตามทันและทำความเข้าใจได้ สะท้อนชัดเจนจากคลื่นการปิดตัวอย่างต่อเนื่องของศูนย์การค้าในสหรัฐ

“การทำศูนย์การค้านั้นไม่หมูและใช้เงินลงทุนสูง แต่กลับสามารถล้มเหลวได้ง่ายมาก”

แม่ทัพใหญ่ เดอะมอลล์ กรุ๊ประบุว่า ดังนั้น ค้าปลีกจึงต้องปรับตัวใน 3 ด้านหลัก ๆ คือ globalization การรับมือกับยักษ์ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น อเมซอน ลาซาด้า และอื่น ๆ digitalization การรับมือกับเทรนด์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ โซเชียล และสุดท้าย tourism การใช้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของผู้คนทั่วโลกให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจ

พร้อมหันพึ่งคนรุ่นใหม่เพื่อทำความเข้าใจ “ปัจจุบัน” ไม่ว่าจะเป็นด้านตัวสินค้า รูปแบบ-ช่องทางการสื่อสาร ทัศนคติ แฟชั่นและอื่น ๆ พร้อมเปิดโลกทัศน์เพื่อนำประสบการณ์-แนวคิดจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาเป็นพื้นฐานเพื่อให้ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร และอะไรคือสิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการ เพื่อให้สามารถก้าวนำหน้าขึ้นเป็น disruptor ที่จะ disrupt ธุรกิจเสียเอง

“ศุภลักษณ์” อธิบายต่อไปว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้นำแนวคิดเหล่านี้ และประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกตลอด 30 ปีที่ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มา ทั้งวิกฤตค่าเงินบาท ความไม่สงบทางการเมือง, ภัยธรรมชาติ, สงครามการค้า รวมถึงความล้มเหลวของเดอะมอลล์ สาขาราชดำริ ที่ต้องปิดตัวหลังเปิดได้เพียง 2 ปี

นอกจากนี้ ยังเดินสายพบปะนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ดัง ๆ ทั่วโลกเพื่อศึกษาแนวคิด เริ่มตั้งแต่พื้นฐานว่า จุดแข็งของไทยคืออะไร ทำไมต่างชาติจึงอยากมาลงทุนและลงทุนด้วยเป้าหมายอะไร ลูกค้ากลุ่มใดมีศักยภาพ ปัจจัยอะไรที่จะสามารถต้านทานการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีได้ เป็นต้น

จนตกผลึกเป็น winning formula เฉพาะตัวของเดอะมอลล์ โดยอาศัยโอกาสที่ไทยเป็นฮับด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งจีน รัสเซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง ซึ่งต่างมีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีกว่า 35 ล้านคน และคาดว่าอนาคตจะถึง 80 ล้านคนได้ไม่ยาก ขณะเดียวกันยังมีดีมานด์สถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเปิดบริการได้ตลอดทั้งปี เพื่ออุดช่องว่างช่วงพักฟื้นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ

“เดอะมอลล์จึงเลือกโฟกัสกลุ่มนี้เป็นลูกค้าเป้าหมาย เสริมกับลูกค้าในประเทศ พร้อมเน้นจุดขายด้านประสบการณ์นอกเหนือจากการช็อปปิ้ง เช่น ความแปลกใหม่ อย่างเช่น น้ำตก-ภูเขาไฟ ในห้างเดอะมอลล์ยุคแรก หรือบรรยากาศและไลน์อัพสินค้าหรูหรา ของสยามพารากอนและเอ็มโพเรียม ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามา จนถึงการสร้างย่านช็อปปิ้ง “เอ็ม ดิสทริก” (M District) ที่ช่วยกระตุ้นความคึกคักในพื้นที่”

ส่วนจุดขายต่อไปนั้น “คุณแอ๊ว” ระบุว่า จะเป็น “อีเวนต์บันเทิงสด” เช่น คอนเสิร์ต และการแข่งกีฬา ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถต้านทานการดิสรัปต์จากกระแสดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เพราะมีฐานแฟนศิลปิน-กีฬาจำนวนมากที่พร้อมลงทุนเพื่อสัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตนเองซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งด้านท่องเที่ยวและการเป็นศูนย์กลางอาเซียน เจรจาและจับมือ “เออีจี” (AEG) ยักษ์ธุรกิจบันเทิงและกีฬาระดับโลก ผู้จัดอีเวนต์สดทั้งคอนเสิร์ต การแข่งกีฬา ฯลฯ มาเป็นพันธมิตรร่วมกันสร้าง “EM LIVE” และ “BANGKOK ARENA” ขนาด 6 พันและ 1.6 หมื่นที่นั่ง ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ และแบงค็อกมอลล์ตามลำดับ เพื่อเป็นเดสติเนชั่นด้านค้าปลีกและความบันเทิงแบบ all-in-One ดึงดูดลูกค้าจากทั่วโลก

เช่นเดียวกับการรับมือกับกระแสอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเลือกจับมือกับแพลตฟอร์มที่มีความแข็งแกร่งเพื่อเปิดออฟฟิเชียลสโตร์ แทนการเปิดแพลตฟอร์มของตนเองและเข้าแข่งขันโดยตรง ช่วยเลี่ยงความเสียหายจากสงครามราคาที่ดุเดือด จนปัจจุบันผู้เล่นแต่ละรายยังคงขาดทุนกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดการสร้าง winning formula ของเครือเดอะมอลล์ ที่ “คุณแอ๊ว” ยังได้ทิ้งท้ายแนะนำ สำหรับธุรกิจอื่น ๆ ที่ต้องการสร้าง winning formula ของตนเองว่า “ความสุข” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด ดังนั้น ธุรกิจต้องหาวิธีทำให้ผู้บริโภคมีความสุขให้ได้