ทีวีดิจิทัล…ปล่อยของ อัดคอนเทนต์โกยรายได้คืน

“โล่งอก-ตัวเบา” ไปเป็นกอง สำหรับ “ทีวีดิจิทัล” จากมาตรการที่ กสทช.ออกมาช่วย “อุ้ม” สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายตลอดอายุใบอนุญาตและเงินค่างวดที่เหลือว่ากันว่า กลุ่มที่เคยมี 2 ช่อง เช่น บีอีซี อสมท และเนชั่น หลังจากคืนช่องแล้ว ต้นทุนต่าง ๆ ก็จะลดลง ทำให้ช่องเหล่านี้มีเม็ดเงินมาพัฒนาคอนเทนต์เพิ่มขึ้น รวมถึงขยายฐานผู้ชมในแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือช่องทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้นด้วย

ล่าสุด “15 ช่อง” ที่เหลืออยู่ในสมรภูมิ แต่ละช่องเริ่มทยอย “ปล่อยของ” ออกมาเรียกน้ำย่อยกันอย่างคึกคัก เริ่มจากเจ้าตลาด ช่อง 7 แม้จะยึดพื้นที่เดิม จุดขายหลักทั้งรายการข่าวและละคร แต่จากการแข่งขันที่ยังเข้มข้นดุเดือด ช่อง 7 ก็ไม่วางใจ อาศัยจังหวะที่ช่องอื่น ๆ กำลังจัดทัพเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ปล่อยละครใหม่ลงผังชนิดเต็มอัตราศึก เช่น กุหลาบเกราะเพชร (กันตพงษ์ บำรุงรักษ์ และฮาน่า ลีวิสมา) เรือมนุษย์ (เกรซ กาญจน์เกล้า-อ๋อม อรรคพันธ์) เป็นต้น พร้อมกับเขย่าผังรายการช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ใหม่ ด้วยการใส่หนังสุดสัปดาห์และรายการวาไรตี้เพิ่ม ตามด้วยการจัดโรดโชว์ปูพรมต่างจังหวัดเดือนละครั้งควบคู่กับการเดินหน้าโปรโมตช่องทางออนไลน์ด้วยแพลตฟอร์ม บักกาบูทีวี และแอปพลิเคชั่น “บักกาบู อินเตอร์” สำหรับผู้ชมต่างประเทศ

ด้านความเคลื่อนไหวของช่อง 3 บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เริ่มวางเกมใหม่ หลังได้ “อริยะ พนมยงค์” เข้าร่วมทีม เริ่มตั้งแต่การปรับแพ็กเกจการขายโฆษณาใหม่มาจับคู่กับธุรกิจที่มีอยู่ในเครือมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเจาะเข้าถึงลูกค้า (สินค้า) ควบคู่กับการให้น้ำหนักกับทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งไลน์ทีวี เฟซบุ๊ก ยูทูบ รวมถึงเว็บไซต์ของช่อง 3 และแอปพลิเคชั่นรับชมคอนเทนต์ของช่อง 3 ในชื่อ “เมลโล่” (Mello)

ส่วนด้านคอนเทนต์ก็เพิ่มดีกรีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะละครหลังข่าวที่ระดมใส่นักแสดงแม่เหล็กลงจอต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เช่น แรงเงา 2 (เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ-เคน ภูภูมิ), เพลิงนาคา (บอย ปกรณ์-พรีม รณิดา) เป็นต้น

พร้อมจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ระหว่างละครแต่ละเรื่องกับฐานผู้ชมมากขึ้น เช่น ร่วม Exclusive Trip ทำบุญกับนักแสดงเพลิงนาคา เป็นต้น

เป้าหมายเพื่อดึงรายได้คืนให้ได้มากที่สุด หลังจากผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมาไม่สวยนัก โดยมีรายได้ 2,023 ล้านบาท ลดลง 14% จากช่วงเดียวปีก่อน ขาดทุน 128 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มช่องใหม่ ที่ยังแรงดีไม่มีตก “เวิร์คพอยท์” “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า จะต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยจะมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เน็ตฟลิกซ์ วิว (VIU) หรือความร่วมมือ

ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับทางไลน์ทีวี ผลิตรายการ “Infinite Challenge Thailand ซุปตาร์ท้าแข่ง” โดยออกอากาศไลน์ทีวีเวลา 20.00 น. และออกอากาศที่เวิร์คพอยท์ทีวี 21.00 น.

“ขณะนี้ช่องทางออนไลน์โตขึ้นเรื่อย ๆ อย่าง ยูทูบ ก็ทำรายได้ให้แก่ช่องมากขึ้น ปัจจุบันมีคนซับสไครบ์ 23 ล้าน ติดอันดับ 70 ของโลก และคนดูคอนเทนต์ของเวิร์คพอยท์ติดอันดับ 17 ของโลก และสิ้นปีนี้จะแตะ 30 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อปี ถือว่าก็ยังโตได้ต่อเนื่อง”

“จากนี้ไป เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น เวิร์คพอยท์จะปรับผังรายการใหม่ให้หลากหลายมากขึ้น” ชลากรณ์ย้ำ

เช่นเดียวกับ “ช่อง 8” รายงานข่าวจากบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ได้เริ่มปรับผังรายการตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการนำซีรีส์ “อะลาดิน” และละครไทย วาไรตี้กลับมาออกอากาศ เพื่อเพิ่มเรตติ้ง หลังจากซีรีส์อินเดีย “พิฆเนศ ศึกมหาเทพอวตาร” ที่ออกอากาศมานานมีเรตติ้งลดลง

ฟาก “โมโน 29” เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้ประกาศเพิ่มงบฯซื้อ พัฒนาคอนเทนต์ เป็น 1,000-1,200 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้ 800-1,000 ล้านบาท รวมถึงมีการจัดแพ็กเกจการขายโฆษณาใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ด้านช่อง “อมรินทร์ทีวี” ที่อยู่ในร่มธงของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็ยังเดินหน้าเติมรายการใหม่ ๆ ทั้งวาไรตี้ เกมโชว์ และละครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการโฟกัสแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม ยกตัวอย่าง เช่น การตัดคลิปรายการแม่เหล็กอย่าง “ทุบโต๊ะข่าว” ออกคลิปย่อย เพื่อลงยูทูบ เป็นต้น

ตามด้วย “พีพีทีวี” ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ที่ได้มือดี “พลากร สมสุวรรณ” อดีตผู้บริหารช่อง 7 มาคุมทัพละคร ก็เตรียมเพิ่มคอนเทนต์ละคร ออนแอร์ทุกวันพุธ-ศุกร์ เวลา 20.15 น. ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เบาะ ๆ 3 เรื่อง ได้แก่ ธิดาซาตาน แพศยา มนตรา มหาเสน่ห์ เป็นต้น พร้อมได้นักแสดงแม่เหล็กลงจอเพียบ เช่น นุ่น วรนุช ชาคริต แย้มนาม แอนดริว เกร็กสัน แป้ง อรจิรา เป็นต้น

ด้านฟากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ช่อง MCOT 30HD มีแผนจะนำเสนอรายการใหม่ ๆ ทั้งสาระความรู้ บันเทิงให้แก่ช่องเพิ่มขึ้น เพื่อกู้เรตติ้งให้กลับมาติดท็อป 10 อีกครั้ง

ฝั่งทีวีดิจิทัล 2 ช่อง แห่งค่ายอโศก คือ ช่อง One 31 และช่อง GMM 25 ที่ตัดสินใจเดินหน้าต่อ ก็เร่งเติมคอนเทนต์ละครมากคุณภาพลงจอ เช่น อรุณา 2019 ลูกกรุง แก้วขนเหล็ก เป็นต้น

ส่วน NEW18 ก็ขยับตัว ด้วยการปรับโลโก้ช่อง ชูแนวคิด “พบประสบการณ์ใหม่ ที่ นิว18” ด้วยการเติมส่วนผสมคอนเทนต์ใหม่ระหว่างข่าวและสารคดีให้เข้มข้นขึ้น

ขณะที่ ทรูโฟร์ยู ในเครือ ซี.พี. ก็ซื้อลิขสิทธิ์ละครเกาหลีมาแปลงเป็นเวอร์ชั่นไทย “อลเวงรักสลับร่าง” เริ่มลงจอต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นี่เป็นเพียงความเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งของสมรภูมิรบทีวีดิจิทัลที่ยังร้อนระอุ

หลังจากนี้ไป 7 ช่องที่ตัดสินใจหยุดเลือดไหลด้วยการคืนใบอนุญาต คงเตรียมนับถอยหลังเพื่อปิดตัวลง แน่นอนว่าเรตติ้งของทั้ง 7 ช่องก็จะกระจายไปยัง 15 ช่องที่เหลือ ซึ่งผู้คร่ำหวอดจากวงการทีวีวิเคราะห์ว่า กลุ่ม “ช่องข่าว” อาจจะได้รับอานิสงส์ จากเรตติ้งของ 7 ช่องที่หายไปมากที่สุด

แต่ท้ายที่สุด เรตติ้งจะไหลไปที่ช่องไหน อย่างไร…ต้องติดตามกันต่อไป

จากนี้ไปคงต้องวัดกันที่คอนเทนต์ ใครจะเหนือกว่าใคร คอนเทนต์แบบไหน รายการแบบใดจะกวาดเรตติ้งได้มาก

คนที่เรตติ้งเหนือกว่า ย่อมดูดเงินโฆษณาได้มากกว่า