อีเวนต์นางงาม…สะพรั่ง ผู้จัด ขนเวทีบุก ตจว.ดึงเรตติ้ง

แซ่บเวอร์ เบอร์แรง ต้องยกให้ ศึกเวทีนางงาม เพราะเป็นการเปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์เวทีใหญ่ ถึง 2 เวที คือ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ที่เปลี่ยนมือจาก “สุรางค์ เปรมปรีดิ์” เป็น “สมชาย ชีวสุทธานนท์” จากบริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด โดยครองสิทธิ์ยาว 5 ปี (ปี 2562-2566) ซึ่งปิดรับสมัครลงแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากนี้จะมีการคัดเลือกสาวงาม เพื่อไปประกวดรอบตัดสินวันที่ 29 มิ.ย.นี้ และเวทีนางสาวไทยที่สิทธิ์การจัดประกวดตกเป็นของ “ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์” ในกลุ่มบริษัททีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ปว่ากันว่า นี่คือ ศึกศักดิ์ศรีระหว่าง ทีพีเอ็น 2018 และทีดับบลิวฯ หลังก่อนหน้านี้ ถูก ทีพีเอ็น 2018 ปาดหน้าชิงลิขสิทธิ์จัดประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ในประเทศไทยไป

งานนี้จึงกลายเป็นเกมร้อนแบบ เสียเงินไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้

โดยเวที “มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์” นั้น “สมชาย ชีวสุทธานนท์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด บอกว่า ปีนี้ได้ปรับรูปแบบการนำเสนอใหม่ โดยให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นแบบเรียลไทม์ พร้อมถ่ายทอดสดบรรยากาศหลังเวทีการประกวด โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ความงามที่ทรงพลังอย่างมีคุณค่า”

ส่วนการคัดเลือกสาวงามก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประกวดจากทุกเวที รวมถึงผู้มีประสบการณ์แล้วสามารถกลับมาประกวดได้อีก โดยจะคัดเลือกผู้ร่วมประกวดจำนวนมากถึง 60 คน จากเดิม 40 คน เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะไปชิงมงกุฎมิสยูนิเวิร์สต่อไป

“สมชาย” ย้ำว่า ในระยะเวลา 5 ปี ที่ถือสิทธิ์จะต้องคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สให้แก่ประเทศไทย เป็นครั้งที่ 3 ให้ได้

ขณะที่ “เวทีนางสาวไทย” ซึ่งบริษัท ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์ จำกัด ได้รับมอบสิทธิจัดประกวด 5 ปี (ปี 2562-2566) จาก “สมาคมศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ก็มีการปรับแนวคิดและกระบวนการจัดประกวดเช่นกัน

“ธนวัฒน์ วันสม” ประธาน บริษัท ทีดับเบิลยู เพเจ้นส์ จำกัด ในฐานะประธานคณะกรรมการผู้อำนวยการจัดงานประกวดนางสาวไทย 2562 เดิมพันสุดตัวด้วยการพลิกโฉมการจัดประกวดนางสาวไทยใหม่ โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Iconic Beauty-นางสาวไทย งามสง่า สู่สากล”

เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนรูปแบบการคัดเลือกนางงามใหม่ โดยเริ่มจากการประกวดนางงามประจำจังหวัด และคัดเลือกผู้ชนะจาก 77 จังหวัด เข้าสู่รอบภูมิภาค ซึ่งจะจัดประกวดโดยแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค เพื่อคัด 40 ตัวแทนเข้าประกวดนางสาวไทย โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.-12 ก.ค.นี้ พร้อมเพิ่มจุดขายใหม่ที่ปีนี้ผู้ชนะการประกวดนางสาวไทย 2019 จะถูกส่งเข้าประกวดในเวทีสากล “มิสอินเตอร์เนชั่นแนล” ซึ่งเป็นเวทีประกวดนางงามอันดับ 3 ของโลก

ไม่เพียงเท่านั้น “ธนวัฒน์” ยังกำลิขสิทธิ์การจัดประกวดมิสเวิลด์ในไทยด้วย ส่วนลิขสิทธิ์การจัดประกวด “มิสไทยแลนด์เวิลด์” เพื่อคัดเลือกหาตัวแทนเข้าสู่เวทีมิสเวิลด์ อยู่ในมือของ “บีอีซี เวิลด์” ซึ่งจะเปิดรับสมัครประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี

แหล่งข่าวจากวงการประกวดนางงามวิเคราะห์ว่า การประกวดนางงามปีนี้ถือคึกคักขึ้น เพราะเวทีใหญ่ คือ มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ และนางสาวไทย ตกอยู่ในมือของผู้ถือลิขสิทธิ์รายใหม่ ซึ่งแต่ละเวทีก็พยายามพลิกโฉมการประกวดใหม่ ทั้งลักษณะการจัดประกวด รางวัลที่ผู้ชนะจะได้รับ และการได้ไปประกวดต่อในเวทีสากล

ขณะเดียวกัน เวทีประกวดระดับประเทศก็พยายามเจาะเข้าระดับภูมิภาค ระดับจังหวัดมากขึ้น ซึ่งข้อดีของโมเดลนี้ คือ สปอนเซอร์ หรือสินค้าที่จะเข้ามาสนับสนุนก็กว้างและหลากหลายขึ้น

จากเดิมที่มีเฉพาะสินค้าเกี่ยวข้องกับความงามเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ โมเดลธุรกิจของ “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” ถือว่าชัดเจน เพราะเจ้าของสิทธิ์ “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ได้กระจายสิทธิ์การจัดประกวดให้แก่ตัวแทนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อคัดเลือกนางงามเข้ามาประกวดบนเวทีหลัก และได้ก่อตั้งเวทีประกวดระดับนานาชาติ “มิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล” ด้วย โดยล่าสุดเวที “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” ก็ทยอยจัดประกวดเพื่อหาตัวแทนทั้ง 77 จังหวัด มาประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ รอบตัดสินวันที่ 13 กรกฎาคมนี้

“ตอนนี้มีเวทีประกวดนางงามในไทยเพิ่มจำนวนขึ้น ตั้งแต่เวทีประกวดระดับตำบล จังหวัด ระดับภูมิภาค จนถึงเวทีระดับประเทศ แม้จำนวนเวทีจะเพิ่มขึ้น แต่การประกวดนางงามก็ยังขายได้ เพราะยังมีคนให้ความสนใจจำนวนมาก นั่นหมายถึงสินค้าก็ยังสนใจที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน”

กลายอีกจุดเปลี่ยนที่พลิกโฉม เวทีนางงาม ให้ร้อนแรงขึ้น