“เวนดิ้งพลัส” ระดมนวัตกรรม สแกนหน้า-แชตบอตชิงตู้หยอดเหรียญ

“เวนดิ้งพลัส” ดึงนวัตกรรมจ่ายเงินด้วยการสแกนใบหน้า-แชตบอต “น้องเติมสบาย” เสริมแกร่งธุรกิจตู้หยอดเหรียญ-เติมเงิน ย้ำจุดแข็งบริการหลังการขาย-สะดวกปลอดภัย รักษาโมเมนตัมการเติบโต 1 ปี ทะลุ 2,000 ตู้ มั่นใจสิ้นปีแตะ 5,000 ตู้

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญแบรนด์ “เวนดิ้งพลัส” กล่าวว่า เทคโนโลยีการชำระเงินแบบใหม่ ๆ เช่น การสแกนคิวอาร์โค้ด บัตรเติมเงิน และอื่น ๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยแข่งขันสำคัญของตลาดตู้ขายสินค้าหยอดเหรียญที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นตู้จากแบรนด์ต่าง ๆ เนื่องจากช่วยให้สามารถรองรับลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยและลดต้นทุนการบริหารเพราะช่วยลดจำนวนเงินสดและความถี่ของการขนย้ายเงินสดออกจากตู้ลงได้ เพื่อชิงความได้เปรียบ พร้อมย้ำภาพผู้นำด้านนวัตกรรม และดึงดูดผู้บริโภค จึงได้เปิดตัว 2 เทคโนโลยีใหม่ คือ การชำระเงินด้วยใบหน้า (face pay) ซึ่งใช้เทคโนโลยีระบุข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (biometric) และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานร่วมกันเพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้บริการและตัดเงินค่าสินค้า เพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกในการใช้งานที่ไม่ต้องหยอดเหรียญ โดยนำมาทดลองในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และมีแผนจะนำไปใช้กับตู้ขายสินค้าของบริษัทในอนาคต หลังจากก่อนหน้านี้นำระบบการชำระเงินแบบต่าง ๆ เช่น หยอดเหรียญ, คิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ และระบบ redemption program อื่น ๆ มาใช้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีเอไอแชตบอต “น้องเติมสบาย” ซึ่งเป็นระบบตอบรับและให้ข้อมูลอัตโนมัติบนแพลตฟอร์มไลน์ เริ่มทดลองใช้จริงเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ให้บริการทั้งในด้านการแจ้งข้อมูลโปรโมชั่น, ข้อมูลตู้สำหรับเจ้าของตู้ และยังสามารถแจ้งรับบริการหรือแจ้งซ่อมทั้งตู้กดน้ำกระป๋องและตู้เติมเงินออนไลน์ได้อีกด้วย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและย้ำจุดแข็งด้านการบริการหลังการขายที่เดิมมีทั้งคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง และไลน์แอ็กเคานต์อยู่แล้ว

ทั้งนี้ เป็นการเสริมจุดแข็งของบริษัท ซึ่งช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมากลยุทธ์จับมือคู่ค้าเพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตู้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และอื่น ๆ พร้อมวางราคาสินค้าต่ำกว่าร้านสะดวกซื้อประมาณ 1-3 บาท เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการเลือกเจาะแหล่งชุมชน ห้างสรรพสินค้า และปั๊มน้ำมันหลายเครื่อง ทั้งเซ็นทรัล, โรบินสัน, แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส, เชลล์, เอสโซ่, ซัสโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสร้างการรับรู้ด้วยโครงการซีเอสอาร์ โดยจับมือสภากาชาดไทยร่วมทำโครงการ “ดื่มได้บุญ” ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายเครื่องดื่มในตู้ที่ร่วมโครงการ จะนำไปบริจาคสมทบทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี อ.ศรีราชากลยุทธ์เหล่านี้ช่วยให้จำนวนตู้ของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยหลังจากเปิดตัวเมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันมีจำนวนตู้อยู่ทั้งหมด 2,150 ตู้ และเชื่อว่าจะสามารถติดตั้งตู้เพิ่มได้เป็น 5,000 ตู้ภายในสิ้นปีนี้