เครื่องดื่มสิงคโปร์สะเทือน ยกระดับต้านหวาน ห้ามโฆษณา

การลดการบริโภคน้ำตาลยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในวงการสุขภาพและธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม หลังจากหน่วยงานรัฐในหลายประเทศต่างพากันออกมาตรการอย่าง การเก็บภาษี หรือติดคำเตือน หวังสกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงของประชาชนในประเทศของตน

ล่าสุด สิงคโปร์ได้ออกมาตรการพิเศษ เพื่อลดการดื่มเครื่องดื่มน้ำตาลสูงของชาวสิงคโปร์เช่นกัน และดูเหมือนว่า มาตรการของสิงคโปร์ จะมีความเข้มข้นและแข็งกร้าวมากกว่าประเทศอื่น ๆ มาก โดยมีทั้งการห้ามโฆษณา และการกำหนดให้ติดฉลากเตือนบนตัวสินค้า โดยมีกำหนดใช้อย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะมีมาตรการทางภาษี และการห้ามขายเด็ดขาด ตามออกมาในอนาคตอีกด้วย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ประกาศมาตรการจัดเกรดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาทิ น้ำอัดลม, เครื่องดื่มชูกำลัง, น้ำผลไม้, เครื่องดื่มมอลต์, นมปรุงแต่งรสและนมเปรี้ยว เป็นต้น ตามส่วนผสมที่ส่งผลกระทบกับสุขภาพ เช่น ปริมาณน้ำตาล ไขมัน ไขมันอิ่มตัวและอื่น ๆ

โดยแบรนด์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพสูงและมีสารอาหารน้อยจะถูกจัดอยู่ในระดับต่ำสุด และจะถูกห้ามโฆษณาในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน รวมถึงสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันยังกำหนดให้สินค้าเหล่านี้ต้องติดฉลากพิเศษที่ระบุระดับเกรดของตัวเองให้เห็นเด่นชัด

“เอ็ดวิน ถัง” รัฐมนตรีอาวุโส ประจำกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ อธิบายว่า การจัดเกรดและติดฉลากจะช่วยให้ผู้บริโภคแยกแยะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงได้ง่าย และการห้ามโฆษณาจะช่วยลดการรับรู้แบรนด์ต่อสาธารณะ พร้อมบีบให้บรรดาผู้ผลิตต้องปรับสูตรสินค้าของตนให้เป็นมิตรกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น

หลังจากนี้จะระดมความเห็นแบบรอบด้านจากทั้งกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภค ผู้ผลิตสินค้า และเอเยนซี่โฆษณา เพื่อออกแบบฉลากระบุเกรด และการนำมาตรการทั้ง 2 ไปใช้จริง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในครึ่งแรกของปี 2563 พร้อมกับศึกษาความเป็นไปได้ที่ใช้การเก็บภาษีความหวาน รวมถึงการห้ามจำหน่ายเด็ดขาด

ปัจจุบันชาวสิงคโปร์บริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 12 ช้อนชาต่อวัน โดย 64% มาจากเครื่องดื่มแบบพร้อมดื่ม ซึ่งเฉลี่ยแต่ละแบรนด์มีน้ำตาลผสมอยู่ถึง 5 ช้อนชาต่อ 250 มล.

ด้าน “แดเนียล เต๋า” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพอคคา อินเตอร์เนชั่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มแบรนด์ “พอคคา” กล่าวว่า บริษัทไม่กังวลกับมาตรการนี้ เนื่องจากปัจจุบันสินค้า 50% ของพอร์ตได้รับฉลากทางเลือกสุขภาพ (healthier choice) แล้ว และส่วนสินค้าอีก 50% อยู่ระหว่างการพัฒนาสูตร จึงมั่นใจว่าจะไม่มีตัวใดถูกจัดอยู่ในกลุ่มต่ำสุดจนถูกห้ามโฆษณาแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตเครื่องดื่มรายอื่น ๆ  ในสิงคโปร์ว่าจะรับมือความท้าทายครั้งนี้อย่างไร

รวมถึงรอดูว่ามาตรการนี้จะสามารถลดการบริโภคเครื่องดื่มน้ำตาลสูงของชาวสิงคโปร์ได้ตามที่รัฐบาลหวังไว้หรือไม่