กระแสนักท่องเที่ยวบูม สนามบินเอเชียแห่โฟกัสค้าปลีก

สนามบินนานาชาติเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ค้าปลีกที่สำคัญไม่แพ้ห้างสรรพสินค้า ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการนับหมื่นคนต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง-บนที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมจับจ่ายกับทั้งของกิน-ของใช้ 


ทั้งนี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือไออาต้า (International Air Transport Association-IATA) คาดการณ์ว่า ในปี 2580 สนามบินทั่วโลกจะมีนักเดินทางใช้บริการรวมกันกว่า 8.2 พันล้านคน หรือ 2 เท่าของปัจจุบัน ซึ่งเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตสูงสุด

ด้วยศักยภาพนี้ ทำให้บรรดาสนามบินและค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย ต่างหันมายกเครื่องพื้นที่ในสนามบินให้กลายเป็นอาณาจักรค้าปลีกขนาดย่อม ๆ พรั่งพร้อมด้วยร้านค้าและแหล่งบันเทิง หวังดึงเม็ดเงินจากเหล่านักเดินทาง

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานถึงเทรนด์นี้ว่า สนามบินหลายแห่งในเอเชียพยายามปั้นตัวเองให้เป็นแหล่งช็อปปิ้ง และโฟกัสรายได้จากยอดขายสินค้าและค่าเช่าพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สนามบินชางงี ของสิงคโปร์ ที่ได้เปิดตัว “จิวเวล” (Jewel) โซนค้าปลีกสูง 10 ชั้น รวมพื้นที่ 1.35 แสน ตร.ม. มูลค่าลงทุน 1.24 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมจุดเด่นอย่างน้ำตกในร่มสูงที่สุดในโลก ซึ่งสามารถดึงดูดนักเดินทางได้ถึงวันละ 3 แสนคน ให้มาจับจ่ายในร้านค้า 280 แห่ง หวังต่อยอดและย้ำสถานะหนึ่งในแหล่งช็อปปิ้งสำคัญของสิงคโปร์ สะท้อนจากปีบัญชีที่ผ่านมา (เม.ย. 2561-มี.ค. 2562) ชางงีมีสัดส่วนรายได้จากค้าปลีกและค่าเช่าสูงถึง 60% ของรายได้รวมไปในทิศทางเดียวกับสนามบินนานาชาติฮ่องกง ที่เตรียมเปิดโซนธุรกิจ “สกายซิตี้” (SkyCity) บนพื้นที่ 2.5 แสน ตร.ม. ตรงข้ามสนามบิน

ปัจจุบันในปี 2564 โดยโซนนี้จะอัดแน่นไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม และอื่น ๆ เพื่อเตรียมรับนักเดินทางที่คาดว่าจะแตะ 100 ล้านคนในปี 2573

เช่นเดียวกับ สนามบินอินชอน ของเกาหลีใต้ ซึ่งแต่เดิมมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งช็อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี และโรงภาพยนตร์อยู่แล้วนั้น ได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2573 นอกจากเพิ่มรันเวย์และอาคารผู้โดยสารแล้ว ในปี 2567 จะเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รองรับเป้าเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้มากกว่า 100 ล้านคนต่อปี พร้อมเพิ่มยอดขายจากค้าปลีกอีกเท่าตัวเป็น 4.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573

ด้านแดนมังกรก็ไม่อยู่เฉย เห็นได้ชัดจากเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรุงปักกิ่งได้เปิดสนามบินปักกิ่งต้าชิง สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ มูลค่าลงทุน 1.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมทำสถิติอาคารเทอร์มินอลใหญ่ที่สุดในโลก สำหรับรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน ในปี 2564 และ 100 ล้านคนในอนาคต

สำหรับญี่ปุ่น สนามบินหลายแห่งหันโฟกัสรายได้อื่นนอกจากการบินเช่นกัน โดยปี 2563 สนามบินฮาเนดะจะเปิดอาคารแห่งใหม่ ซึ่งจะมีโรงแรม, ร้านค้า, ร้านอาหาร รวมถึงสปาอยู่ภายใน โดยจะเชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ หวังดึงดูดนักเดินทางต่างชาติ ด้วยความหวังว่าจำนวนนักเดินทางที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 จะสร้างรายได้เพิ่มอีก 5.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้น่าจะสร้างความคึกคักและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันรูปแบบใหม่ ๆ ในวงการค้าปลีกเอเชียหลังจากนี้ได้ไม่น้อย