“ซุปเปอร์เซฟ” พ่ายศึกค้าปลีก สี TOA ถอดใจยกธงขาว-แจ้งเลิกกิจการ

ปิดฉาก “ซุปเปอร์เซฟ” ค้าปลีกตระกูล “ตั้งคารวคุณ” เจ้าของสี TOA หลังเปิดมาได้กว่า 5 ปี ก่อนไปต่อไม่ไหว พับแผนขยาย 1,000 สาขาเข้ากรุ ล่าสุดดิ้นปรับตัวอีกเฮือก ! ปั้นแบรนด์ใหม่ “ฟู้ด ฮับ” เสียบแทนสาขาเดิม พร้อมรุกออนไลน์ผุดแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรับพฤติกรรมนักช็อปรุ่นใหม่ เดินเกมชิงตลาดค้าปลีกออฟไลน์-ออนไลน์อีกรอบ!

แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยจะแข่งขันกันอย่างดุเดือด และมี “ขาใหญ่” อยู่ในทุกเซ็กเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ แต่ทว่า ยังมีแบรนด์ใหม่ ๆ หาช่องว่างที่จะเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อชิงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในธุรกิจนี้ที่มีการประเมินว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมค้าปลีกในไทยนั้นใหญ่ถึง 3.8 ล้านล้านบาท “ซุปเปอร์เซฟ” เป็นอีกรายหนึ่งเล็งเห็นโอกาสในตลาดนี้ จึงพัฒนาร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ตขึ้นมาเมื่อปี 2557 ก่อนที่จะปิดตัวลงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ซุปเปอร์เซฟขาดทุนหนัก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์ “ซุปเปอร์เซฟ” ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกของตระกูล “ตั้งคารวคุณ” เจ้าของสีทีโอเอที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 มีการเข้าไปลงทุนขยายสาขาตามตึกแถวย่านชุมชน และจับมือกับปั๊มน้ำมันเอสโซ่เปิดให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑลกว่า 30 สาขาได้ทยอยปิดตัวลง และปิดกิจการไปในที่สุดช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่บริษัท ซุปเปอร์เซฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต “ซุปเปอร์เซฟ” จะแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถึงการเลิกกิจการ ได้มีการแจ้งเปลี่ยนข้อมูลผู้ถือหุ้น จากเดิมที่ผู้ถือหุ้น 5 คน เป็นคนจากตระกูลตั้งคารวคุณ และหวั่งหลี เป็นนายประสบสันต์ รชตพฤทธิ์ ถือหุ้นใหญ่ 99.98% จากทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังพบว่าผลการดำเนินงานย้อนหลังของบริษัทเผชิญกับภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้ง โดยปี 2557 มีรายได้ 2.4 แสนบาท ขาดทุน 1.8 แสนบาท ปี 2558 มีรายได้ 25 ล้านบาท ขาดทุน 5.5 ล้านบาท ปี 2559 มีรายได้ 141 ล้านบาท ขาดทุน 81 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้ 326 ล้านบาท ขาดทุน 189 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้ 181 ล้านบาท ขาดทุน 144 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นางบุศทรี หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ทีโอเอ เคยระบุเอาไว้ว่า ซุปเปอร์เซฟเป็นโมเดลค้าปลีกแบบใหม่ที่ต้องการเข้าไปจับตลาดค้าปลีกประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกจำนวนมาก โดยภายในปี 2560 ตั้งเป้าการเปิดสาขาไว้ที่ 100 แห่ง และภายใน 5 ปีหลังจากดำเนินกิจการจะเปิดให้ได้ 1,000 แห่ง

นายศิวกร ลาชะเลา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซุปเปอร์เซฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ระบุถึงโมเดลของการขยายธุรกิจของซุปเปอร์เซฟว่า โดยหลักจะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ ตามขนาด ได้แก่ S-M-L ใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 3-35 ล้านบาทต่อสาขา โดยไซซ์ S มีพื้นที่ไม่เกิน 100 ตร.ม. จะเปิดเป็น “ซุปเปอร์เซฟ มินิมาร์ท” ไซซ์ M พื้นที่ 100-300 ตร.ม. เปิดเป็น “ซุปเปอร์เซฟ มินิมาร์เก็ต” และไซซ์ L พื้นที่ 700-1,000 ตร.ม. เปิดเป็นซุปเปอร์เซฟ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ในรูปแบบสแตนด์อะโลน และคอมมิวนิตี้มอลล์ เน้นการขยายสาขาไปตามชุมชน นิคมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ฯลฯ ตลอดจนปั๊มน้ำมัน โดยพาร์ตเนอร์กับเอสโซ่ และคาลเท็กซ์

ปั้นแบรนด์ใหม่เสียบแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากการทยอยปิดสาขาของซุปเปอร์เซฟ พบว่าสาขาสุขาภิบาล 5 มีค้าปลีกแบรนด์ใหม่เข้ามาเปิดแทน ภายใต้ชื่อ “ฟู้ด ฮับ” (FOOD hub) ให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตและคอมมิวนิตี้มอลล์อยู่บริเวณที่ร้านเดิม ขณะเดียวกัน ก็มีการตกแต่งปรับโฉมตึกดังกล่าวใหม่ และคัดเลือกสินค้าที่วางจำหน่ายให้หลากหลายและพรีเมี่ยมมากขึ้น เช่น กลุ่มผลไม้สด มีการเพิ่มไลน์ผลไม้นำเข้า อาทิ มันเทศญี่ปุ่น อโวคาโด ลูกพีช ฯลฯ รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีสาขาที่สุขาภิบาล 5, รพ.รวมแพทย์ ฉะเชิงเทรา, โมเดิร์นทาวน์ เอกมัย, ทีโอเอ บางนา, เดอะ นิช โมโน พระราม 2 เป็นต้น

นอกจากนี้ ฟู้ด ฮับยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อรุกตลาดค้าปลีกในช่องทางออนไลน์ไปด้วยพร้อม ๆ กัน ช่วยในการเข้าถึงฐานลูกค้าและโอกาสในการขายที่มากขึ้น ตลอดจนรองรับพฤติกรรมการช็อปของคนรุ่นใหม่ที่เน้นความสะสวดสบายรวดเร็ว

ทั้งนี้ ฟู้ด ฮับเป็นร้านค้าปลีกที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท ฟู้ด ฮับ รีเทล จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา (เปลี่ยนชื่อจากบริษัท ทีโอเค รีเทลบิซ จำกัด) ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดยมีนายประสบสันต์ รชตพฤทธิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ค้าปลีกปี”63 ยังเหนื่อยต่อ

ภาพรวมของตลาดค้าปลีกในปัจจุบัน นอกจากจะต้องเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงแล้ว ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการต้องออกแรงหาวิธีกระตุ้นยอดขายกันทุกวิถีทาง พร้อมกับการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากขึ้น

สอดคล้องไปกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ระบุว่า กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวทำให้การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกชะลอตัวลง โดยอัตราการเติบโตในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.7-3.0% ขณะที่ปี 2562 มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 3.1% โดยเซ็กเมนต์ของค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบก็คือ กลุ่มที่เจาะกำลังซื้อกลางและล่าง เช่น ร้านค้าแบบดั้งเดิม และไฮเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและอีคอมเมิร์ซที่เจาะกลุ่มกำลังซื้อปานกลางยังมีแนวโน้มการเติบโตดีกว่าเซ็กเมนต์อื่น ๆ

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงภาพรวมของสถาณการณ์ค้าปลีกในปีนี้ ว่า ยังคงมีปัจจัยลบที่น่ากังวล ทั้งปัจจัยในประเทศอย่างปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบกับกำลังซื้อและรายได้ของภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนก็กระทบกับคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลกรวมถึงไทย ตลอดจนการตัดสิทธิประโยชน์พิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ที่อาจทำให้เกิดการลดกำลังการผลิต การเลิกจ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศตามลำดับ

โดยกลุ่มที่กระทบมากที่สุด คือ ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของประชากรทั้งประเทศ จึงทำให้ผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูค่อนข้างนาน