ธุรกิจยกระดับรับมือไวรัส หยุดอีเวนต์-ห้างแห่ลดค่าเช่า

ธุรกิจไทยยกระดับเฝ้าระวังโควิด-19 หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจยกเลิกประชุมสัมมนา เลื่อนอีเวนต์ใหญ่ “มันนี่เอ็กซ์โป-มหกรรมบ้านคอนโด” แห่ประกาศห้ามเดินทางทุกประเทศ ฝ่าฝืนมีความผิด ธุรกิจท่องเที่ยว “บางกอกแอร์เวย์ส-รร.เซ็นทารา” เร่งลดค่าใช้จ่าย ให้สิทธิ์พนักงานลาไม่รับค่าจ้าง “คิง เพาเวอร์ ศรีวารี” ปิดชั่วคราว ยักษ์ศูนย์การค้ากัดฟัน “ลดค่าเช่า” ซื้อใจร้านค้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019-(COVID-19) ที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในประเทศไทย ทำให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งหลายได้มีการยกระดับการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันความเสี่ยงจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ มีการประกาศมาตรการอย่างเข้มงวด รวมทั้งห้ามการเดินทางต่างประเทศ ยกเลิกกิจกรรรมงานสัมมนา อีเวนต์ต่าง ๆ อาจเรียกว่าทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในเดือนมีนาคมเกิดอาการหยุดชะงักไป

เลิก “มันนี่เอ็กซ์โป-บ้านคอนโด”

นางสาวภาคนี วิริยะรังสฤษฏ์ ประธานจัดงานร่วม มหกรรมการเงิน “Money Expo” เปิดเผยว่า ตามที่วารสารการเงินธนาคาร เตรียมจัดงานมหกรรมการเงินหาดใหญ่ ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2563 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อยู่ในช่วงการเฝ้าระวัง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทางผู้จัดจึงขอเลื่อนการจัดงานดังกล่าวจากกำหนดการเดิมออกไปจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และจะแจ้งกำหนดการจัดงานใหม่อีกครั้ง

ขณะที่งานสัมมนาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการการเงินอื่น ๆ ทยอยประกาศยกเลิกเช่นกัน โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส แจ้งยกเลิกงานสัมมนา “ตั้งหลัก จัดพอร์ต แก้ชงปีชวด” ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกำหนดเดิมในวันเสาร์ที่ 7 มี.ค. 63 รวมถึงในช่วงก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ ได้แจ้งเลื่อนงานสัมมนา “SCBAM Investment Symposium 2020” ที่มีกำหนดจัดวันที่ 27 ก.พ. 63 ออกไปไม่มีกำหนด

ด้านนายชัยรัตน์ ธรรมพีร ประธานกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 42 ที่มีกำหนดจัดวันที่ 19-22 มีนาคม 2563 ที่สยามพารากอน เปิดเผยว่า ทางผู้จัดงานขอเลื่อนการจัดงานแบบไม่มีกำหนด เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เป็นที่วิตกกังวลของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ออกบูทหลายรายได้ขอยกเลิกการออกบูทรวมถึงธนาคารที่ร่วมเป็นสปอนเซอร์หลายแห่ง จึงได้มีการหารือกับนายกสมาคมทั้ง 3 สมาคม คือ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย มีความเห็นร่วมกันว่าจะขอเลื่อนการจัดงานมหกรรมออกไปก่อน ซึ่งกำหนดการจัดงานครั้งต่อไปจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง

“มอเตอร์โชว์” รอลุ้นสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม-5 เมษายน 2563 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ขณะที่ทางคณะผู้จัดแจ้งว่าอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์ โดยคาดหวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายและจะสามารถจัดงานได้ตามปกติ ขณะที่ค่ายรถยนต์โดยเฉพาะค่ายใหญ่จากญี่ปุ่นกังวลต่อการแพร่ระบาด ได้เสนอให้เลื่อนการจัดงานออกไปก่อน เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ก็อาจจะไม่มีลูกค้ามาเดินและเลือกซื้อรถยนต์

นอกจากนี้ ในกลุ่มค่ายรถยนต์ยังกังวลสถานการณ์โควิด-19 ได้ออกหนังสือเวียนให้พนักงานปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ทางกรมควบคุมโรคประกาศ ขณะที่บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) เข้มงวดเป็นพิเศษ ประกาศห้ามเดินทางไปต่างประเทศทุกกรณี พนักงานที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศทุกกรณีให้แจ้งผู้บังคับบัญชา และฝ่ายบุคคลเพื่อพิจารณาอนุมัติการทำงานจากที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน สำหรับพนักงานที่ยังปฏิบัติงานทั้งในสำนักงาน หรือนอกสถานที่ ขอให้ตรวจวัดไข้ทุกวัน และขอให้ดูแลสมาชิกในครอบครัวที่มีความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ

รัฐ-เอกชนสั่งห้ามเดินทาง ตปท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 กำลังขยายวงกว้างออกไป ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาตรการ และข้อปฏิบัติสำหรับหน่วยงานตลอดจนบุคลากรในองค์กร เพื่อช่วยกันดูแลและป้องกันผลกระทบจาการแพร่ระบาด โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ ขณะที่มีหลายบริษัทที่ได้ประกาศห้ามพนักงานเดินทางไปทุกประเทศ และมีมาตรการจัดการแบบเข้มงวดอาทิ บมจ.ทีพีไอ โพลีน โดยนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ได้ออกหนังสือเป็นคำสั่งแจ้งการงดเว้นเดินทางไปต่างประเทศทุกประเทศ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะควบคุมได้ แต่หากพนักงานที่ยืนยันจะเดินทางไปต่างประเทศ ขอให้พนักงาน “ลาออก” จากบริษัท สำหรับพนักงานที่หลบเลี่ยง ปกปิด แจ้งข้อมูลเท็จ ฝ่าฝืนเดินทางไปต่างประเทศ ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยของบริษัท บริษัทจะออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร

“บุญรอด” สั่งห้ามไปทุกประเทศ

รวมทั้งบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มีการออกประกาศห้ามพนักงานของบริษัท และบริษัทในเครือ เดินทางไปต่างประเทศทุกประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางได้ ให้แจ้งเหตุผลหรือความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุดเพื่อพิจารณา และเมื่อเดินทางกลับมาแล้ว ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด

สำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืนเดินทางไปต่างประเทศ และหลบเลี่ยง ปกปิด หรือแจ้งข้อมูลเท็จการเดินทางไปต่างประเทศ ถือเป็นความผิดทางวินัยร้ายแรง บริษัทจะพิจารณาลงโทษ และเมื่อเดือนทางกลับจากต่างประเทศ ต้องลาพักอยู่บ้านเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้าง (leave without pay)

นอกจากนี้ ยังให้งดการประชุมร่วมกับบุคคลที่เดินทางมาจากต่างประเทศ งดการสัมมนาหรือการดำเนินการใด ๆ ทั้งภายในบริษัทหรือสถานที่อื่น ๆ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป รวมทั้งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมสถานที่ของบริษัท และโรงงาน ไปจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 สิ้นสุดลงปิดชั่วคราว คิง เพาเวอร์ ศรีวารี

แหล่งข่าวจากกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า คิง เพาเวอร์ ใช้โอกาสที่จีนมีนโยบายระงับการเดินทางท่องเที่ยวของทัวร์จีน ปิดสาขาคิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ศรีวารี เป็นการชั่วคราวไปแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นสาขาที่มีนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก พร้อมทั้งถือโอกาสทำการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส ทำความสะอาดทุกจุดอย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวกลับเข้าใช้บริการอีกครั้งหลังจากทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ สำหรับพนักงานทั้งหมด บริษัทได้บริหารจัดการกระจายกำลังเข้าไปช่วยงานสาขาอื่น ๆ หรือเข้าอบรมพัฒนาทักษะ สำหรับคิง เพาเวอร์ สาขาอื่น บริษัทมีมาตรการดูแลพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่ปลอดเชื้ออย่างเคร่งครัด

บางกอกแอร์ลดเงินเดือน 50%

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทได้ทบทวนแผนธุรกิจ รวมถึงออกมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านปฏิบัติการบินและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ประกอบด้วย 1.ปรับลดความถี่ของเที่ยวบิน ตลอดจนพิจารณายกเลิกเส้นทางบินในบางเส้นทาง 2.ปรับลด

เงินเดือนตั้งแต่ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กรรมการ/รองผู้อำนวยการใหญ่สายงานบริหารกลาง และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชีลง 50% 3.ยกเลิกการปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี 2563 ของผู้บริหารสูงสุดของฝ่าย 4.ปรับลดสวัสดิการของผู้บริหารและพนักงาน 5.ให้นายสถานีและรองนายสถานี ที่ประจำสถานีต่างประเทศและสถานีอื่น ๆ ในประเทศ ย้ายกลับมาประจำการที่สถานีกรุงเทพฯ และ 6.ขอความร่วมมือจากผู้บริหารและพนักงาน ลางานโดยไม่รับค่าจ้าง จำนวน 10-30 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป

เซ็นทาราให้ “ลาไม่รับค่าจ้าง”

ขณะที่นายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา ได้ออกประกาศถึงพนักงานเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ขอความร่วมมือเพื่อนร่วมงานทุกคนสมัครใจใช้สิทธิ์การลาแบบไม่รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1-31 มีนาคม 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทโดยพนักงานที่จะใช้สิทธิ์จะยังคงได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ตามปกติ ทั้งเซอร์วิสชาร์จ และโบนัส ทั้งนี้ พนักงานสามารถใช้สิทธิ์ลาไม่รับค่าจ้างโดยไม่จำกัดจำนวนวันลา และพนักงานที่ใช้สิทธิ์ลาตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป จะได้รับส่วนลดพิเศษ 20% เช่น ขอลาแบบไม่รับค่าจ้าง 5 วัน แต่จะถูกหักค่าจ้างเพียง 4 วัน และพนักงานสามารถขอใช้ staff rate จองห้องพักโรงแรมในเครือเซนทารา ควบคู่ไปกับการลาได้ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงทุกคนที่สำนักงานใหญ่ได้สมัครใช้สิทธิ์การลาจำนวน 5 วัน

ปิดกิจการ “เลเจนด์ สยาม”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มณุศาศิริ ผู้บริหารโครงการเลเจนด์ สยาม (Legend Siam) มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 164 ไร่ ซึ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2561 ได้ทำจดหมายแจ้งปิดกิจการถึงพนักงาน

โดยระบุว่า เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2562 อีกทั้งปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์ภาวะโรคระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท ทำให้บริษัทประสบภาวะขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องปิดกิจการและต้องเลิกจ้างพนักงานทุกคน ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยบริษัทจะจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย

MBK-แพลทินัมลดค่าเช่าร้านค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมค้าปลีก โดยเฉพาะศูนย์การค้าที่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจีน ทำให้ทราฟฟิกของศูนย์หรือห้างลดลงไปจำนวนมาก ส่งผลให้ร้านค้า หรือผู้เช่าพื้นที่ออกมาเรียกร้องให้ศูนย์หามาตรการช่วยเหลือ เช่นที่ผ่านมาทางผู้ค้าใน MBK ที่รวมตัวกันประท้วงขอลดค่าเช่า ซึ่งหลังการเจรจา นายสุเวทย์ ธีรวชิรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด ประกาศจะลดค่าเช่าพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการตามสัดส่วนประเภทการเช่าตั้งแต่ 10-20% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 ส.ค. 2563

ขณะที่ “เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป” ก็ได้ช่วยเหลือผู้ที่จ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน (สัญญา 1 ปี) จะลดค่าเช่า 10-35% ตามสัดส่วนและประเภทการเช่าเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค.-31 พ.ค. 63 ส่วนผู้เช่าระยะยาวเซ้ง 10 ปี ซึ่งบริษัทไม่ได้มีรายได้ค่าเช่ารายเดือนจากผู้เช่ากลุ่มนี้แล้ว แต่ก็มีความเห็นใจและเข้าใจในสถานการณ์ จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป

เอเชียทีคฯลดค่าเช่า 25%

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าหลักของโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติถึง 70% และตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัส ถึงขณะนี้พบว่ายอดผู้เข้ามาใช้บริการลดลงไปราว 50% จากปกติช่วงเสาร์-อาทิตย์มีคนเข้ามาใช้บริการประมาณ 50,000 คน และวันธรรมดาราว 30,000 ราย ปัจจุบันเหลือประมาณ 15,000-18,000 คนเท่านั้น บริษัทจึงมีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการด้วยการให้ส่วนลดค่าเช่า 25% สำหรับเดือนมีนาคมนี้

“เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เรียกประชุมร้านค้าและชี้แจงถึงมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งในหลักการเราจะพิจารณาให้สอดรับกับสถานการณ์แบบวันต่อวัน จึงออกมาตรการเป็นรายเดือน หากในเดือนมีนาคม สถานการณ์หนักกว่าเดิมก็ต้องพิจารณาต่อเวลาให้ส่วนลดเพิ่มขึ้น” นางวัลลภากล่าว

ด้านนางสาวนภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน บัญชี บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลพลาซา เซ็นทรัลเฟสติวัล รวม 33 แห่งในไทย และอีก 1 แห่งในมาเลเซีย ระบุว่า บริษัทอยู่ระหว่างการหารือถึงผลกระทบ และมาตรการการเยียวยาให้กับคู่ค้า ผู้เช่าพื้นที่ ว่าจะพิจารณาลดค่าเช่าเท่าไหร่ หรือนานแค่ไหน เบื้องต้นอาจจะ 1-2 เดือน และจะพิจารณาเป็นระยะ ๆ ต่อไป

ร้านหรูขอลดค่าเช่าไอคอนสยาม

นายยุทธชัย จรณะจิตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อิตัลไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจบริการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่จากที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในส่วนของธุรกิจโรงแรมของอิตัลไทย อย่างโรงแรมอมารี, OZO รวมถึงโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ ขณะนี้ก็ควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงการเลิกจ้างในส่วนของลูกจ้างชั่วคราว

นอกจากนี้ ในกลุ่มอิตัลไทยก็เป็นผู้บริหารศูนย์การค้า “ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก” ก็อยู่ระหว่างการเจรจากับทางผู้เช่าถึงมาตรการช่วยเหลือ คาดว่าจะลดค่าเช่าตั้งแต่ 10-30% ขึ้นอยู่กับประเภทร้านค้า เบื้องต้นจะพิจารณาช่วยเหลือ 3 เดือนก่อน และมอนิเตอร์กันอีกครั้ง

ขณะเดียวกันในส่วนของบริษัทอิตัลไทย ก็เป็นแฟรนไชส์ร้านชาพรีเมี่ยม “TWG Tea” ก็มีการเช่าพื้นที่ของทั้งห้างไอคอนสยาม, สยามพารากอน และเอ็มโพเรียม ซึ่งในส่วนนี้บริษัทก็ได้ขอเจรจากับทั้ง 3 ศูนย์ เพื่อลดค่าเช่าเช่นกัน โดยอยู่ในช่วงการเจรจา คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

“ตอนนี้ศูนย์การค้าใหญ่ ๆ โดนกันหมด ภาพตอนนี้ก็เป็นลักษณะเอกชนช่วยเอกชน เพราะถ้าเจ้าของศูนย์การค้าไม่ลดค่าเช่า ผู้เช่าก็อยู่ไม่ได้ ทางศูนย์การค้าก็จะยิ่งลำบาก ถ้าร้านค้าปิดกันหมด”