“อีเวนต์” วูบ 15% เซ่นพิษไวรัส “อินเด็กซ์” ระดมแผนปั๊มยอด

“ธุรกิจอีเวนต์” จ่อวูบหนัก 15% เซ่นพิษโควิด-19 “อินเด็กซ์ฯ” ชี้คอนเสิร์ตโดนหนักสุด หลายงานแห่เลื่อนไปจัดครึ่งปีหลัง ลุ้นเม็ดเงินรัฐบาลอัดฉีดงบฯหนุนงานท่องเที่ยว ยันไม่เลื่อนงานเวิลด์เอ็กซ์โปที่ดูไบ พร้อมผนึกพันธมิตรระดมอีเวนต์รูปแบบใหม่ ๆ ปั้นโอว์นอีเวนต์ ก่อนประเดิมกลุ่มกิน-ดื่ม จับมือเชฟมิชลินสตาร์เสิร์ฟอาหารนอกสถานที่ ดีเดย์เมษาฯนี้ มั่นใจปีนี้โต 10% สวนกระแส ศก.

นายเกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้จัดอีเวนต์รายใหญ่ฉายภาพว่า ตลาดอีเวนต์ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวถึง 15% ทำให้มีมูลค่าเหลือประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้งานอีเวนต์ อาทิ จัดประชุมนานาชาติ, คอนเสิร์ต, กิจกรรมการตลาด, งานวิ่ง ไปจนถึงงานเลี้ยงรุ่นและอื่น ๆ จำนวนมาก ที่มีกำหนดจัดเดือนมีนาคม ต้องเลื่อนไปจัดในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสถานการณ์อาจมีความคลี่คลายทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นอีกครั้ง

ส่วนกลุ่มที่จะจัดในเดือนเมษายน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตก็เสี่ยงที่จะมีจำนวนผู้ร่วมงานน้อยลงเพราะผู้บริโภคยังกังวล ทำให้ผู้จัดอาจต้องเตรียมปรับรูปแบบงานหรือลดสเกลลงด้วย ขณะเดียวกัน ผู้จัดรายเล็กที่สายป่านไม่ยาวพออาจล้มหายไปเพราะการยกเลิก-เลื่อนงานทำให้ขาดเงินทุน

ทั้งนี้มองว่าธุรกิจ “คอนเสิร์ต” จะกระทบหนักที่สุด เพราะแม้ครึ่งปีหลังสถานการณ์ไวรัสจะจบลงแล้ว แต่การเลื่อนจัดงานยังทำให้เกิดความท้าทายในการหาสถานที่จัดงาน เพราะช่วงดังกล่าวถือเป็นไฮซีซั่นของวงการอีเวนต์ ซึ่งคอนเสิร์ตต้องใช้สถานที่เฉพาะทางซึ่งมีจำกัด การแข่งขันจึงสูงมาก ต่างจากอีเวนต์ประเภทอื่นซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ได้คล่องตัวกว่า

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีโอกาสสำหรับอีเวนต์ท่องเที่ยว เพราะรัฐบาลน่าจะอัดฉีดงบฯมาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของทั้งคนไทยและต่างชาติเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไปจนถึงปลายปี โดยขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเริ่มเคลื่อนไหวระดมไอเดียงานช่วงสงกรานต์แล้ว ขณะเดียวกันยังมีดีมานด์จากภาคอสังหาฯที่เริ่มวางแผนจัดอีเวนต์ของโครงการต่าง ๆ ที่จะเปิดตัวในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

“มั่นใจว่าสุดท้ายแล้วเทรนด์การจัดอีเวนต์จะกลับมาแน่นอน เพราะผู้บริโภคยังต้องออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและร่วมกิจกรรมกับเพื่อนฝูง เช่นเดียวกับธุรกิจต่าง ๆ ที่ยังต้องเดินหน้าต่อไป เห็นได้จากฟีดแบ็กของงาน Index Creative Village Open House ซึ่งมีผู้เข้าชมมากขึ้นเท่าตัวในปีนี้”

นอกจากเตรียมรับดีมานด์อีเวนต์ท่องเที่ยวจากภาครัฐที่จะมาช่วงเมษายนและครึ่งปีหลังแล้ว ยังเดินหน้าพัฒนาและจัดอีเวนต์ของตัวเอง หรือโอว์นอีเวนต์ (own event) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้เสริมกับการรับจ้างจัดอีเวนต์ ซึ่งเดิมมีสัดส่วน 60-70% ของรายได้

โดยเฉพาะอีเวนต์รูปแบบใหม่ ๆ เช่น ไดนิ่งเอ็กซ์พีเรียนซ์ ซึ่งอาศัยช่องว่างที่ผู้บริโภคจองร้านระดับมิชลินนั้นได้ยาก ทดลองจับมือกับเชฟมิชลินสตาร์ จัดทานอาหารนอกสถานที่พร้อมเสริมความแปลกใหม่ด้วยเทคโนโลยีแสง-สี-เสียง โดยมีกำหนดจัดในเดือนเมษายน คาดว่าจะมีรายได้จากการขายบัตรและสปอนเซอร์รวมกันไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะต่อยอดเพิ่มจำนวนงานในอนาคต ตามด้วยจัดการแสดงแบบถาวรและเก็บค่าเข้าชม ด้วยงบฯลงทุน 150 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 2.5 พัน ตร.ม. โดยกำลังหาทำเลศูนย์การค้าใน กทม. เชื่อว่าจะเปิดได้ในเดือนตุลาคม รวมถึงอีเวนต์นวท่องเที่ยวที่เน้นให้เกิดการพักค้างแรมในจังหวัด ต่อยอดจากงานวัดร่องขุ่น ไลท์ เฟส และวิลเลจ ออฟ อิลลูมิเนชั่น ที่สิงห์ปาร์ค ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมไปถึงมกราคม ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ 100 ล้านบาท

“เดิมเชียงรายมีปัญหาเรื่องคนมาเที่ยว แต่ไม่พักค้างแรม บริษัทจึงตอบโจทย์ด้วยการจัดงานในช่วงกลางคืนเพื่อให้นักท่องเที่ยวต้องพักในพื้นที่ด้วย ซึ่งได้ผลตอบรับดี หน่วยงานท้องถิ่นจึงสนับสนุนให้จัดงานรูปแบบนี้ต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแบ็กล็อกหรืองานที่ได้สิทธิ์จัดแล้ว รวมมูลค่า 800-900 ล้านบาท โดยมีเพียง 5-6 งานที่ถูกเลื่อน และงานใหญ่อย่างการบริหารไทยพาวิลเลี่ยนในงานเวิลด์เอ็กซ์โป ที่เมืองดูไบ ช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งสร้างรายได้ถึง 15% ของรายได้รวมยังไม่ถูกกระทบ จึงมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตต่อเนื่อง 6-10% หรือมีรายได้ 1,900 ล้านบาท ในสิ้นปี