หนุ่มเมืองจันท์ : ซับซ้อนซ่อน “จำปี”

คอลัมน์ Market-Think
โดย สรกล อดุลยานนท์

ถ้าอยู่ในสนามรบ การแก้วิกฤติ “การบินไทย” ก็ถึงขั้น “ติดดาบปลายปืน” แล้ว

ไม่มีหลบกำบังสาดกระสุนเข้าหากัน

แต่ติดดาบเข้าหากันเลย

มีแต่ “ตาย” กับ “รอด”

เห็นตัวเลขบัญชีของ “การบินไทย” แล้วน่ากลัวมาก

Advertisment

มีสินทรัพย์ 262,965 ล้านบาท

มีหนี้ 243,487 ล้านบาท

อยู่ในระดับเดียวกับ “แจแปนแอร์ไลน์” ช่วงที่ขอฟื้นฟูกิจการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ตอนนั้น JAL มีหนี้สินสูงกว่า 1.5 ล้านล้านเยน จากสินทรัพย์ทั้งหมด 1.7 ล้านล้านเยน

Advertisment

ใกล้เคียงกัน

การที่ให้รัฐบาลอัดฉีดเงิน 2 ก้อน 50,000+80,000 =130,000 ล้านบาทเพื่ออุ้มการบินไทย เป็นแนวทางที่ถูกตั้งคำถามมากมาย

ทั้งมุมการเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการการช่วยเหลือคนยากจน

หรือมุมธุรกิจว่าทำแบบนี้คุ้มหรือไม่

การบินไทยจะรอดหรือไม่

เพราะคนรับผิดชอบเงินก้อนนี้คือคนไทยทั้งประเทศ

มีคนเปรียบเทียบว่าถ้าเรามีเงิน 130,000 ล้านบาท

ระหว่างอุ้ม “การบินไทย” กับซื้อกิจการไทยแอร์เอเชีย

อะไรคุ้มกว่ากัน

ราคาหุ้นไทยแอร์เอเชียวันก่อน 1.68 บาทมูลค่าหลักทรัพย์ 8,200 ล้านบาท

5 ปีที่ผ่านมากำไร 3,800 ล้าน

ขณะที่การบินไทย 5 ปีที่ผ่านมาขาดทุน 38,000 ล้านบาท

มูลค่าหลักทรัพย์ 11,350 ล้านบาท

เราเอาเงินไปซื้อไทยแอร์เอเชียทั้งบริษัท ยังไม่ถึง 10,000 ล้านบาท

เหลืออีกตั้ง 120,000 ล้านบาท

ซื้อบางกอกแอร์เวย์ส หรือไทยไลอ้อนแอร์ ก็ได้

ครับ ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ การฝืนอุ้มการบินไทยอาจจะเป็นไปได้

แต่สถานการณ์วันนี้ไม่ปกติ

วิกฤตโควิดหนักหนาสาหัสมาก

ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและความเปราะบางทางอารมณ์ของสังคม

ตัดสินพลาด จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่

และเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดของ “การบินไทย” ปมปัญหายิ่งซับซ้อน

เพราะสถานะความเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ที่มีรัฐบาลค้ำอยู่ข้างหลังทำให้

คนมั่นใจที่จะลงทุนใน “หุ้นกู้” ของการบินไทย

ถือว่าเป็น “หุ้นกู้” ที่ปลอดภัย

สหกรณ์ต่างๆ จึงลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยเยอะมาก

73 สหกรณ์ ถือหุ้นกู้ 37,000 ล้านบาท

มีทั้งสหกรณ์ กฟผ. ปตท. ธรรมศาสตร์ มหิดล กรมทางหลวง สภากาชาด ฯลฯ

ตอนนี้เริ่มมีปัญหาแล้วครับ เพราะคนที่ถือหุ้นสหกรณ์ต่าง ๆ กลัวว่าเงินจะสูญ

จนสหกรณ์หลายแห่งต้องรีบออกมาให้ข้อมูลว่าจำนวนหุ้นกู้การบินไทยที่ลงทุนไปนั้น เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมด

และสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง

เพราะเขารู้ดีว่าความตื่นตระหนกน่ากลัวแค่ไหน

โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เศรษฐกิจขาลง

ถ้าสมาชิกทุกคนคิดแบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” แห่ถอนเงินออกมา ปั่นป่วนแน่

อย่าลืมว่า 73 สหกรณ์เกี่ยวพันกับคนจำนวนเป็นแสนคน

แค่คิดก็หวาดเสียวแล้ว

ลำพังปัญหาของการบินไทยอย่างเดียวก็หนักแล้ว มาเจอเรื่องมวลชนอีก

การตัดสินใจเรื่องนี้จะละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

แต่ถ้าคิดในแง่บวก หากรัฐบาลตัดสินใจฟื้นฟูกิจการแบบ “แจแปนแอร์ไลน์””การบินไทย” อาจจะรอด

เพราะ JAL ใช้เวลา 2 ปี กลับสู่ตลาดหลักทรัพย์ และมีกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท

เป็นเรื่อง “มหัศจรรย์” ในแวดวงธุรกิจ

คนที่ชุบชีวิต JAL คือ คุณคาสิโอะ อินาโมริ ผู้ก่อตั้งเคียวเซร่า

ตอนนั้นเขาอายุ 78 ปี มารับหน้าที่กอบกู้ JAL โดยไม่รับเงินเดือนสักบาทเดียว

ฟังแล้วมีความหวังขึ้นมาไหมครับ

บางทีรัฐบาลฟังเรื่องนี้แล้วอาจอยากเลียนแบบบ้าง

แต่ให้เริ่มต้นที่การหา “มืออาชีพ” เก่ง ๆ นะครับ ไม่ใช่เริ่มหาคนอายุ 78

กลัวจริง ๆ