“สหพัฒน์” ปรับสู้นิวนอร์มอล โยกสหกรุ๊ปแฟร์จัดออนไลน์

ผนึกกำลัง - ครั้งแรกของเครือสหพัฒน์ ในการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ พร้อมกับการผนึก 3 แพลตฟอร์มอย่าง ลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล

“สหพัฒน์” โหมอีคอมเมิร์ซรับนิวนอร์มอลค้าปลีก ลุยปรับโมเดลธุรกิจ-การตลาด-กระบวนการทำงาน ตามแผนลีนองค์กรลดค่าใช้จ่ายชดเชยกำลังซื้อทรุดยาว ประเดิมผนึก 3 ยักษ์อีคอมเมิร์ซจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ พร้อมระดมโปรโมชั่น-กิจกรรม หวังจับทั้งลูกค้า B2C/B2B ตั้งเป้ายอดขายทั้งงาน 100 ล้านบาท

นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ปัจจุบันกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มกลับมาประมาณ 90% ของช่วงก่อนล็อกดาวน์แล้ว แต่ยังวางใจไม่ได้เนื่องจากกำลังซื้อของคนไทยลดลงไป 10% ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา และหลายธุรกิจยังเลิกจ้างคนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้เวลาอีกนานกว่ากำลังซื้อจะฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติ

จึงต้องจับตาสถานการณ์รวมถึงปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นนิวนอร์มอลอย่างการรุกช่องทางอีคอมเมิร์ซซึ่งยังมีแนวโน้มเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี เพราะแม้จะคลายล็อกแล้ว แต่ผู้บริโภคยังหลีกเลี่ยงที่ที่มีคนพลุกพล่านและช็อปผ่านอีคอมเมิร์ซต่อไป สะท้อนจากสัดส่วนรายได้จากอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มจาก 10% เป็น 30% ของรายได้รวมในช่วงล็อกดาวน์ และขณะนี้ยังทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 25%

นอกจากนี้ยังปรับโมเดลธุรกิจของแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือให้สอดคล้องกับสภาพกำลังซื้อ ไม่ว่าจะเป็นลดจำนวนสินค้าที่จะเปิดตัวในแต่ละครั้ง รวมถึงปรับช่องทางจัดอีเวนต์และช่องทางขาย การสร้างมาตรฐานกลางของไซซ์เสื้อผ้า และจัดหมวดหมู่สินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกผ่านหน้าจอได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น แบรนด์วาโก้ที่เดิมเปิดตัวสินค้าทุกเดือน เดือนละ 3-4 รายการ จะต้องลดจำนวนลง และไม่เปิดตัวสินค้าประเภทเดียวกันพร้อมกัน เป็นต้น ขณะเดียวกันมุ่งลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงาน และการผลิตลงเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย

โดยงานสหกรุ๊ปแฟร์ ปี 2563 นี้จะเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่สะท้อนและทดลองกลยุทธ์การปรับตัวของบริษัทสำหรับลูกค้าทั้ง B2C ที่เป็นผู้บริโภคทั่วไปและ B2B หรือกลุ่มร้านค้า-ร้านธงฟ้า โดยนอกจากการจัดงานแบบออนไลน์ 100% ครั้งแรกแล้ว ยังเพิ่มกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและเพิ่มโอกาสขายมากขึ้น

ซึ่งมีไฮไลต์เป็นการจัดงานบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 3 รายใหญ่ของไทย อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดีเซ็นทรัลพร้อมกัน เนื่องจากทั้ง 3 รายมีฐานลูกค้าจำนวนมาก และผู้บริโภคชาวไทยคุ้นเคยกับการใช้งาน ส่วนบริษัทมีสินค้าและออฟฟิเชียลสโตลล์อยู่ก่อนแล้ว โดยมีเว็บไซต์ www.sahagroupfair.com เป็นตัวกลางให้ผู้บริโภคเลือกสินค้า แล้วจึงไปปิดการขายในแต่ละแพลตฟอร์มซึ่งจะมีโปรโมชั่นของตนเองไม่ว่าจะเป็นคูปอง โค้ดส่วนลด เสริมกับโปรโมชั่นลดราคาของบริษัท ขณะเดียวกันยังจัดพรีออร์เดอร์ล่วงหน้าในวันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม ผ่านลาซาด้าเพื่อเพิ่มโอกาสขายอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

“หนึ่งในนโยบายสำคัญของเครือสหพัฒน์ คือการทำ digital transformation เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล การจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบที่สุดของเครือสหพัฒน์ ซึ่งเปิดตัวมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นยุคที่ผู้บริโภคนิยมการซื้อสินค้าทางออนไลน์ และเหมาะกับสถานการณ์ที่ทุกคนควรเว้นระยะห่างทางสังคม”

เช่นเดียวกับกิจกรรมที่เพิ่มรูปแบบใหม่ ๆ ตามเทรนด์ของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่าง ไลฟ์สดขายสินค้า-แจกคูปองส่วนลด แจกคูปองทานอาหารแทนกิจกรรมชม-ชิม สอนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์ เป็นต้น ควบคู่กับกิจกรรมเดิมทั้งแฟชั่นโชว์ เวิร์กช็อปต่าง ๆ รับสมัครงาน การเปิดตัวสินค้าใหม่ ฯลฯ

ด้านลูกค้า B2B จะมีเซตสินค้าราคาพิเศษ และโค้ดส่วนลดเฉพาะ นอกจากนี้บริษัทจับมือกับสถาบันการเงินและกองทุนรวม 11 แห่ง เพื่อให้สินเชื่อพิเศษ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารออมสิน, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น เพื่อให้ส่วนลดเงินสดและเครดิตเงินคืนสำหรับการซื้อแบบบีทูซี ตลอดจนให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อแบบ B2B ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้อีกทาง

ทั้งนี้ ตั้งเป้ายอดขายในงานไว้ประมาณ 100 ล้านบาท หรือ 50% ของงานปีที่แล้วที่มียอดขายประมาณ 200 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับสภาพกำลังซื้อ และไลน์อัพสินค้าซึ่งหลายชนิดยังเหมาะกับการขายผ่านออฟไลน์ ซึ่งน่าจะทำให้ยอดซื้อต่อใบเสร็จน้อยลง ส่วน ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนลนั้น ปีนี้มีแนวโน้มขาดทุนประมาณ 10% ลดลงจากปีที่แล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้สอดคล้องกับแนวทางที่เจ้าสัวสหพัฒน์ นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จะทำให้ยอดขายของทั้งสหกรุ๊ปลดลง 10-20% และกำไรลดลง 20% โดยจะรับมือด้วยการโฟกัสกลุ่มสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งยังมีดีมานด์ต่อเนื่องมากขึ้น เช่น แบรนด์ไลอ้อน ฟาร์มเฮาส์ มาม่า และอื่น ๆ พร้อมเร่งลงทุนด้านออนไลน์ทั้งบุคลากร และโนว์ฮาว รวมถึงปรับขนาดธุรกิจให้เล็ก-ซับซ้อนน้อยลง