ZEN เล็งขายแฟรนไชส์ AKA ไซซ์เล็ก-ลงทุนน้อย รุกต่างจังหวัด

ZEN ขายแฟรนไชส์ ร้าน AKA

“เซ็น คอร์ปอเรชั่น” รีวิวแผนครึ่งปีหลัง ทุ่ม 100 ล้าน นำทัพ 5 แบรนด์หลัก เซ็น-อากะ-ออน เดอะ เทเบิล-ตำมั่ว-เขียง เดินหน้าขยายสาขาต่อ เน้นร้านไซซ์เล็ก-โลเกชั่นทราฟฟิกดีหวังดึงลูกค้าเข้าร้าน พร้อมซุ่มทดลองโมเดลขายแฟรนไชส์แบรนด์อากะ ย้ำลงทุนน้อย คืนทุนใน 2 ปี เน้นปูพรมต่างจังหวัดจับตลาดวัยรุ่น พร้อมปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มความคล่องตัว ควบคุมค่าใช้จ่าย

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือเจ้าของแบรนด์ร้านอาหารเซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, ตำมั่ว และเขียง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในไทยมีมูลค่า 400,000 ล้านบาท ถือเป็นตลาดใหญ่และมีจำนวนร้านอาหารหลากหลายเซ็กเมนต์ และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นแม้จะไม่หวือหวามาก

หลังจากภาครัฐประกาศคลายล็อกดาวน์ ให้ธุรกิจร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายบุญยง ระบุว่าจะเห็นว่าทุก ๆ ค่ายเร่งกระหน่ำโปรโมชั่นและแคมเปญส่งเสริมการขายเรียกลูกค้าเข้าร้านอย่างต่อเนื่อง และอีกปัจจัยที่สำคัญต่อธุรกิจร้านอาหารจะต้องควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรงงาน และค่าเช่าพื้นที่ เพื่อให้ครอบคลุมภาระต้นทุนต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อยอดขายและกำไร

เช่นเดียวกับภาพรวมของบริษัท ขณะนี้มีลูกค้ากลับมาใช้บริการนั่งทานภายในร้านเฉลี่ย 80-85% ทั้งร้านในและนอกศูนย์การค้า ส่วนอีก 20% ที่หายไป จะอยู่ในส่วนของร้านในแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องปิดให้บริการ เนื่องจากร้านเหล่านี้จับกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยจะต้องรอให้ภาครัฐอนุญาตให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ แต่คาดว่ายังอีกนาน

จากที่ติดตามสถานการณ์รายวัน นายบุญยงประเมินการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2566-2567 เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และกว่าจะกลับมาคึกคักได้ต้องใช้เวลาอีกมาก ทำให้หลังจากนี้ธุรกิจร้านอาหารจะต้องโฟกัสผู้บริโภคคนไทยเป็นหลัก

แผนธุรกิจครึ่งปีหลัง

สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง ได้เตรียมงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายการเติบโตเน้นไปที่ 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, ตำมั่ว และเขียง โดยจะเปิดในรูปแบบร้านไซซ์เล็ก จากเดิมที่ร้านจะมีขนาด 200-300 ตารางเมตร จากนี้มุ่งขยายไปในทุกพื้นที่ ทั้งภายในศูนย์การค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์ ตลอดจนการย้ายทำเลร้านจากจุดที่ทำเลไม่ดี

เปลี่ยนมาอยู่ในทำเลที่มีทราฟฟิกหนาแน่น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท คือ ยอมจ่ายค่าเช่าสูงเพื่ออยู่ในทำเลที่ดี ล่าสุด เตรียมเปิดสาขาออน เดอะ เทเบิลที่เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ที่อยู่ในพอร์ต อาทิ ข้าวหน้าล้น มูฉะ และฟู เฟเวอร์ ได้ลดการขยายสาขาลง เนื่องจากแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยหลังจากนี้จะเน้นเฉพาะช่องทางขายดีลิเวอรี่เท่านั้น

“กลยุทธ์หลักในการขยายสาขาจากนี้ จะต้องเลือกทำเลเป็นหลัก ใช้พื้นที่ไม่ใหญ่มาก ควบคู่กับการรีโนเวตร้านให้ทันสมัย ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ปรับโครงสร้างภายในองค์กรและการบริหารจัดการใหม่ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่ายและบริหารจัดการต้นทุน”

นายบุญยงกล่าวต่อว่า เดิมทีบริษัทจะขายแฟรนไชส์เฉพาะแบรนด์ร้านอาหารไทย เช่น ตำมั่ว ลาวญวน แจ่วฮ้อน และเขียง เป็นหลัก แต่จากนี้ได้ปรับแนวทางใหม่โดยเตรียมขายแฟรนไชส์แบรนด์อากะ ร้านอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่น โดยจะเน้นขยายสาขาไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองโมเดล

แฟรนไชส์ที่ลงทุนต่ำ เช่น ปรับเปลี่ยนร้านขนาดเล็กลง หันมาใช้เตาไฟฟ้าทดแทนการใช้เตาดูดควัน หรือเปลี่ยนเป็นหม้อชาบูแทน จากเดิมแล้วโมเดลสาขาร้านอากะที่อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นร้านขนาดใหญ่ 150-160 ตารางเมตร และจะต้องใช้งบฯลงทุน 10-12 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก แต่ในต่างจังหวัดต้องมีโมเดลที่แตกต่างกัน เนื่องจากภาวะกำลังซื้อและความคุ้มค่าของการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนจะต้องได้ผลตอบแทนภายใน 2 ปี โดยเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำยอดขายได้ 500 ล้านต่อปี

โมเดลนี้คาดว่าจะได้เห็นในไตรมาส 4 อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสในการบุกตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากร้านอาหารญี่ปุ่นอากะ เป็นเซ็กเมนต์ที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก และได้รับการตอบรับดีมาก และสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคของคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยกลัวการใช้ชีวิต และอยู่ในวัยการเติบโต จึงมีเป้าหมายจะขยายร้านให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างครอบคลุม

ปัจจุบันร้านอาหารอากะมี 25 สาขา ส่วนใหญ่จะอยู่ในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และมีแฟรนไชส์ในต่างประเทศ 3 สาขา ได้แก่ ในประเทศเมียนมา 2 สาขา และเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาอีก 1 สาขา เป้าหมายจากนี้จะขยายสาขาในต่างประเทศประมาณ 10 แห่งภายในปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งใน 5 ปีข้างหน้า รวมถึงยังมองโอกาสจะขยายไปยังตลาดใหญ่อย่างในประเทศจีนและอินเดีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือการขยายสาขาแบรนด์เขียง ร้านอาหารไทยตามสั่ง โดยจะเน้นขายแฟรนไชส์ขนาดเล็ก เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนทำธุรกิจร้านอาหาร ปัจจุบันมี 70 แห่ง และภายในสิ้นปีนี้เตรียมขยายเพิ่มอีก 100 สาขา

ขณะเดียวกัน ยังต้องเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายดีลิเวอรี่ ทั้งการขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้แก่ ฟู้ดแพนด้า ไลน์แมน เก็ท แกร็บฟู้ด เป็นต้น รวมถึงแพลตฟอร์มคอลเซ็นเตอร์ 1376 Delivery โดยช่องทางนี้มีจุดขายคือ เมนูใหม่ ภายใต้ชื่อชิกเก้นซี ไก่ทอดที่พัฒนาสูตรขึ้นเอง เพื่อให้บริการลูกค้าเฉพาะช่องทางนี้ ปัจจุบันมี 12 สาขาที่ให้บริการแบบดีลิเวอรี่ได้ โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้ดีลิเวอรี่จะเพิ่มขึ้น 10% หรือมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาส 2/2563 บริษัทมีรายได้ลดลง 57.5% หรือมีรายได้ 314 ล้านบาท ซึ่งมาจากการลดลงของรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนการปิดร้านอาหารในศูนย์การค้าต่าง ๆ ชั่วคราว