“กิฟฟารีน” รุกออนไลน์ กระหน่ำ “ส่วนลด-อินเซนทีฟ” สู้ขายตรงซบ

“กิฟฟารีน” เปิดเกมรุกออนไลน์เต็มสูบ แก้ปมตลาดขายตรง 6 หมื่นล้านชะลอตัว พิษเศรษฐกิจทุบกำลังซื้อบวกโควิดทำพบลูกค้าไม่ได้ เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจสมัครสมาชิก ส่วนลดซื้อสินค้า-ประกันอุบัติภัย พร้อมเน้นช่วยให้สมาชิกทำงานได้ง่าย-มีรายได้ง่ายขึ้น ล่าสุดปรับเปลี่ยนอินเซนทีฟโปรแกรมท่องเที่ยวเป็นเงิน ประกาศเดินหน้าส่งสกินแคร์-เสริมอาหาร บุกตลาดรับกระแสเฮลท์แอนด์บิวตี้มาแรง มั่นใจสิ้นปีโต 10% สวนกระแส

นายพงศ์พสุ อุณาพรหม ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมขายตรงในไทยที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 60,000 ล้านบาท อยู่ในช่วงชะลอตัว จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่แน่นอน ผู้บริโภคจับจ่ายลดลง รวมถึงภาวะการแข่งขันในตลาดที่มีค่อนข้างสูง

นอกจากการแข่งขันของธุรกิจขายตรงด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับธุรกิจอื่นที่มีสินค้าประเภทเดียวในช่องทางค้าปลีก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคจะหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ และเน้นในเรื่องราคาที่เข้าถึงง่ายเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อ ที่สำคัญคือ ผู้บริโภคไม่ได้สนใจว่าสินค้าดังกล่าวจะเป็นแบรนด์ของขายตรงหรือไม่ ขอแค่มีคุณภาพที่ตรงกับการใช้งาน

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทขายตรงทุกค่ายต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าให้ตรงกับเทรนด์ความต้องการของลูกค้าในช่วงนั้น ๆ ควบคู่กับการขยายช่องทางจำหน่ายให้ครอบคลุม ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขายตรงมีข้อดีคือ มีฐานลูกค้าประจำ ที่ยังซื้อสินค้าอยู่ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในตลาดคือ การมองหาลูกค้ารายใหม่ ๆ
จะเริ่มยากขึ้น

“ตอนนี้ธุรกิจขายตรงคงไม่กลับมาเติบโตเหมือนกับช่วง 2 ปีที่แล้ว ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไปต่อได้ ส่วนรายเล็กอาจจะไม่ถึงกับล้มหายไปจากตลาด แต่ต้องเร่งปรับตัวทั้งในเรื่องของรูปแบบและสเกล เพื่อประคับประคองสถานการณ์ เพราะตอนนี้ปัญหาในตลาด มีแบรนด์สินค้าหลากหลาย เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ดังนั้นการทำแบรนดิ้งสินค้าจะต้องชัดและน่าสนใจ และปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนยอดขายในตลาดขายตรง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 56% กลุ่มผลิตภัณฑ์ความงามและดูแลผิว 28% กลุ่มผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน 8% และอื่น ๆ 8% ในปีนี้คาดว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมยังมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งจากเทรนด์คนเริ่มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น”

เพิ่มน้ำหนักขายออนไลน์

ผู้อำนวยการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท กิฟฟารีนฯ กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์สำคัญของบริษัทในช่วงจากนี้ไป กิฟฟารีนจะยังคงให้น้ำหนักกับช่องทางที่เป็นออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่บริษัทได้รุกตลาดออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการเพิ่มช่องทาง

จัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางไลน์แอด และ www.giffonline24hour.com ที่รวบรวมสินค้ามากกว่า 100 รายการ รวมถึงมีการจัดอบรมให้กับนักธุรกิจให้สามารถปรับกระบวนการการทำงานให้มีความเชี่ยวชาญ และผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อนำมาปรับใช้ในการขยายเครือข่ายนักธุรกิจต่อไป

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และทางการได้ประกาศล็อกดาวน์ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก ทำให้นักธุรกิจและลูกค้าติดต่อกันได้ลำบาก สมาชิกกิฟฟารีนก็หันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น อาทิ ไลน์และเฟซบุ๊ก เป็นตัวกลางในการสื่อสารกัน ทั้งการอบรมนักธุรกิจและติดตามให้บริการลูกค้า ถือว่าได้รับการตอบรับดี จะเห็นว่าความถี่ในการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น จึงทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ทางการได้คลายล็อก อนุญาตให้จัดประชุมสัมมนาภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง บริษัทก็ได้เตรียมจัดกิจกรรมให้นักธุรกิจได้กลับมาพบปะพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อประสิทธิภาพในการขายมากขึ้น”

เดินหน้าเพิ่มฐานสมาชิก

นายพงศ์พสุกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กิฟฟารีนจะมุ่งขยายฐานการสมัครสมาชิก ด้วยประโยชน์ที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่สมัครสมาชิกเพียง 180 บาท และมอบสิทธิประโยชน์ อาทิ ส่วนลดการซื้อสินค้า 25%, ได้รับการคุ้มครองประกันอุบัติภัย ตั้งแต่ 120,000-320,000 บาท (เมื่อได้รับตำแหน่งบรอนซ์สตาร์) ได้รับเงินปันผลตั้งแต่ 10% 15% 25% (เมื่อได้รับตำแหน่งบรอนซ์สตาร์เป็นต้นไป) โบนัสสะสมแต้ม โปรแกรมท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทุก ๆ เดือนกิฟฟารีนจะมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละหลักพันคนต่อเดือน มีทั้งสมัครซื้อสินค้าใช้เอง และสมัครทำธุรกิจ มองว่าอาจเป็นเพราะทุกคนอยากหารายได้เสริม

อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เดินทางไปต่างประเทศยังไม่ได้ ล่าสุด บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนอินเซนทีฟในส่วนที่เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยง ด้วยการเปลี่ยนมาเป็นเงินสดแทน ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นการปรับระยะสั้นเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เท่านั้น ในอนาคต เมื่อสถานการณ์กลับมาคลี่คลาย และสามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น บริษัทก็จะเป็นรางวัลการท่องเที่ยวเหมือนเดิม

“สิ่งสำคัญในตอนนี้ก็คือ การช่วยทำให้นักธุรกิจหรือสมาชิกปรับตัว ปรับรูปแบบการทำงานการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้น ทำงานได้ง่ายขึ้น และทำให้นักธุรกิจสามารถมีรายได้ง่ายขึ้น โดยขวัญและกำลังใจ คือสิ่งที่ต้องรักษาไว้ ธุรกิจถึงจะไปต่อได้”

ทยอยส่งโปรดักต์ใหม่บุกตลาด

นายพงศ์พสุกล่าวว่า นอกจากนี้ กิฟฟารีนยังคงเน้นพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยจะโฟกัสไปที่กลุ่มสกินแคร์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เน้นตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะด้าน คุณภาพดี ราคาคุ้มค่า โดยจะมีกลุ่มเฮาส์โฮมโปรดักต์เพิ่มเข้ามา เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างผักและผลไม้ โดยสินค้าที่เป็นตัวหลัก จะใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นตัวแทนหลักในการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้า และยังมีบริการดีลิเวอรี่ส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน เน้นความสะดวกและประหยัดเวลา คาดว่าจะเข้ามาช่วยให้บรรยากาศในตลาดคึกคักขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมงบประมาณ 150-200 ล้านบาท สำหรับใช้ทำการตลาด แบ่งเป็นการใช้ทำโฆษณา รีวอร์ดต่าง ๆ เพื่อสื่อสารแบรนด์และสร้างการรับรู้ต่อเนื่อง พร้อมกันนี้บริษัทได้มีการปรับสัดส่วนการใช้สื่อ โดยจะหันไปให้น้ำหนักกับสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยจะเป็นการโยกงบฯที่เคยให้กับสื่อที่ไปสนับสนุนสื่อใหม่แทน โดยได้วางงบฯไว้ 10 ล้านบาทต่อหนึ่งโปรเจ็กต์

นายพงศ์พสุกล่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของกิฟฟารีนว่า มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% หลัก ๆ เป็นผลมาจากการปรับรูปแบบวิธีการทำงานผ่านช่องทางการจำหน่ายออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนการเปิดให้นักธุรกิจสามารถนำสินค้าเข้าไปขายผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้าและช้อปปี้ได้ แต่ต้องเป็นสมาชิกกิฟฟารีนก่อน เพื่อการบริการหลังการขาย และให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้อย่างตรงจุด ที่ผ่านมาได้เปิดตัวสินค้าใหม่ประมาณ 10 ตัว ทั้งกลุ่มสกินแคร์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตลอดจนการเพิ่มกำลังการผลิตเจลล้างมือ กิฟฟารีน ไฮจีนิค รองรับความต้องการในตลาดที่มีมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในสิ้นปีนี้กิฟฟารีนตั้งเป้าเติบโตไว้ 10% หลัก ๆ คาดว่าจะมาจากการไดรฟ์ตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการกระจายช่องทางขายให้สะดวกและครอบคลุมมากขึ้น ปัจจุบันกิฟฟารีนมีจำนวนสมาชิกผู้บริโภค 7.8 ล้านรหัส มีสมาชิกนักธุรกิจ 7 แสนรหัส และมีจำนวนสาขา 106 แห่ง ให้บริการสมาชิกทั่วประเทศ