เบียร์สด…ร้านสะดวกซื้อ ผิด กม.หรือ พ่ายกระแส?

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

ถึงวันนี้ แม้ว่าร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่นจะยุติการขายเบียร์สดลีโอ ที่เพิ่งทดลองตลาดใน 18 สาขาลงแล้ว

ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการพิจารณาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีข้อสรุปว่าการมีตู้กดเบียร์สด เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (1) ที่ว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ และผิดมาตรา 32 ที่ว่าห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่ม

อันเป็นผลจากการที่เอ็นจีโอ เปิดเกมรุกด้วยการเปิดประเด็นว่า การขายเบียร์สดด้วยเครื่องกดดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ยากต่อการควบคุมการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน เสี่ยงเพิ่มจำนวนคนดื่มแล้วขับ และอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ต่อต้านเหล้า-เบียร์

แต่อีกด้านหนึ่ง หลาย ๆ ฝ่ายก็ยังสงสัยและมีคำถามตามมาว่า การขายเบียร์สดผ่านเครื่องกดดังกล่าวผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ ค่ายเบียร์-ร้านค้าปลีก สามารถจะขายเบียร์ผ่านเครื่องกดได้หรือไม่ อย่างไร และดุลพินิจของคณะอนุกรรมการดังกล่าวจะนำมาเป็นบรรทัดฐานได้มากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวเกิดขึ้นในโลกโซเชียล เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และระบุว่า การขายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อไม่ผิดกฎหมาย เพราะลักษณะการขาย คือ พนักงานร้านสะดวกซื้อจะเป็นผู้กดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ซื้อจะชำระเงินกับพนักงาน จึงจะได้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไม่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30 (1) การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ

หากจะผิดตามมาตรา 30 (1) ต้องเป็นตู้หยอดเหรียญ และรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทันที

“นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ” รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค ระบุว่า ความผิดตามมาตรา 30 (1) นั้น ต้องเป็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ หากจะผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นตู้หยอดเหรียญ และรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทันที

ด้าน “บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ” โฆษกอนุกรรมการระบุว่า แม้บริษัทซีพี ออลล์ จะประกาศยุติการทดลองจำหน่ายเบียร์สดไปแล้วนั้น แต่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว จึงมีมติว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยเข้าข่ายความผิดในมาตรา 31(1) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะ การใช้เครื่องขายอัตโนมัติ และมาตรา 32 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

จากนี้ คณะอนุกรรมการจะส่งมติไปยังคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาต่อไป

งานนี้ เท่ากับว่า ภาครัฐเองมีความเห็นไม่ตรงกัน

อีกด้านหนึ่งก็จะพบว่า การขายเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อนั้น ผู้ประกอบการได้มีการขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตถูกต้อง และงานนี้ ผู้บริหารระดับสูง กรมสรรพามิตเองก็ยังออกอาการงง ๆ กับกระแสที่เกิดขึ้น

ในความเป็นจริง กรณีการเบียร์สดลีโอในร้านเซเว่นฯดังกล่าว ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีในประเทศไทย หากย้อนกลับไปก็จะพบว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไทยเบฟฯก็จับมือกับร้านแฟมิลี่มาร์ท นำร่องขายเบียร์สดช้าง ที่สาขาโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ และโลกออนไลน์ก็มีการพูดถึงในวงกว้างเช่นกัน

จะว่าไปแล้วการนำเบียร์สดเข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ ในแง่มุมของนักการตลาดถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการเพิ่มช่องทางจำหน่าย และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค เมื่อคู่แข่งทำก็ยอมไม่ได้ และขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำก่อนหน้าทำตามหลังเท่านั้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ยังยืนยันว่า การขายเบียร์สดด้วยเครื่องกดและวิธีการขายในร้านเซเว่นฯ สามารถทำได้ และไม่ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แต่เมื่อเครื่องกดเบียร์สดวางขายในร้านสะดวกซื้อไม่ได้ ก็ต้องนำไปขายเข้าช่องทางอื่น ๆ งานบุญ งานเลี้ยง งานแต่ง งานบวชนี่คือ ทางออก ในแง่ของคนทำมาค้าขายสำหรับกรณีนี้อาจจะกล่าวได้ว่า กระแสการต้านเบียร์สดในร้านสะดวกซื้อที่เกิดขึ้น

ไม่ต่างไปจาก “คำพิพากษาของสังคม” ที่เวลานี้ สินค้าอื่น ๆ ก็เกิดความกังวลว่า กำลังจะตกเป็นจำเลยของสังคมอีกหรือไม่ หรือทางที่ดี อาจต้องพึ่งศาลยุติธรรมเป็นผู้ตัดสิน เพื่อจะได้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในวันข้างหน้า