‘แฟชั่น-นาฬิกาหรู’ ดิ้นปรับตัว พิษโควิด-19 ทุบธุรกิจซึมยาว

สินค้าหรูแห่ปรับตัว หลังโควิด-ช็อปปิ้งออนไลน์ ทุบยอดร่วงหนัก คาดตลาดซึมยาว 5 ปี “รอนนี่ อินเตอร์-เทรดดิ้งฯ” ชะลอแผนลงทุนสาขา ลดจำนวนหน้าร้าน ตั้งบริษัทลูกดูการบุกช่องทางออนไลน์ พร้อมนำเข้าหน้ากากอนามัยสุดหรูราคาแพงจากสวีเดนเข้ามาจำหน่าย ด้าน “ทีเอสแอล” เลื่อนเปิดสาขาทิวดอร์ แฟลกชิปนาฬิกาหรูใหญ่สุดในอาเซียน และคาร์ล เอฟ. บุคเคอเรอร์ ออกไปไม่มีกำหนด

นายรอนนี่ โกรเวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รอนนี่ อินเตอร์-เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซเมืองไทย ส่งผลกระทบต่อภาพรวมตลาดสินค้าแฟชั่นเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของพฤติกรรมการซื้อสินค้าและจำนวนเงินในการจับจ่าย ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนแผนงานเกือบทั้งหมดด้วยการปรับโครงสร้างและช่องทางการขายใหม่

โดยได้โยกช่องทางจำหน่ายไปยังออนไลน์ 80% และออฟไลน์หรือหน้าร้าน 20% พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท กรู๊ฟ แอนด์ กรู๊ฟวี่ ดอทคอม จำกัดขึ้นมา เพื่อดูแลการจำหน่ายสินค้ากลุ่มแฟชั่นไลฟ์สไตล์ นาฬิกา และรองเท้าในช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ ควบคู่กับการจับมือกับมาร์เก็ตเพลซ ทั้งช้อปปี้และลาซาด้า เป็นต้น พร้อมกับปิดสาขา 35 แห่ง ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเหลือหน้าร้านไว้เพียง 2 สาขา ได้แก่ สุขุมวิท 47 และระยอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวแบรนด์ ขณะที่ในส่วนของพนักงานทุกคนก็พร้อมเข้าใจและสามารถเลือกตัดสินใจได้ว่าใครพร้อมจะอยู่ต่อกับบริษัทหรือจะรับชดเชยตามกฎหมายกำหนด จากเดิมที่บริษัทมีสัดส่วนยอดขายที่มาจากออนไลน์ 30% และออฟไลน์ 70%

“ปี 2563 ยอมรับว่าเป็นปีที่บริษัทต้องอยู่นิ่ง ๆ สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องรัดเข็มขัด 100% เพื่อทำให้เจ็บตัวน้อยที่สุด อะไรที่เคยทำในช่วงโควิดตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นการชะลอแผนงาน ปิดสาขา โฟกัสการขายไปยังช่องทางออนไลน์ ก็จะยังคงทำแบบเดิม และจะไม่มีการนำเข้าสินค้าใหม่ ๆ โดยส่วนตัวมองว่า วัคซีนจะเป็นความหวังของทุกฝ่าย และน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างนี้ทำอย่างไรเราถึงจะอยู่รอดได้”

ซีอีโอบริษัท รอนนี่ อินเตอร์-เทรดดิ้ง กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน บริษัทได้ปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ด้วยการนำเข้าหน้ากากอนามัยแบรนด์แอรินั่ม (Airinum) จากประเทศสวีเดนเข้ามาทำตลาด โดยหน้ากากอนามัยดังกล่าว มีคุณสมบัติในการป้องกัน PM 2.5 ได้ เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายพรีเมี่ยม ราคาตั้งแต่ 2,790 บาท ล่าสุดได้เตรียมสต๊อกสินค้าเพิ่มอีกกว่า 3,000-4,000 ชิ้น และคาดว่าในปี 2564 จะสามารถสร้างยอดขายได้หลักหมื่นชิ้นขึ้นไป

“ประเมินว่าภาพรวมตลาดสินค้าแฟชั่นและนาฬิกาหรูในปี 2563 จะหดตัวลงมากกว่า 50% จากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบตลอดทั้งปี ขณะที่ในปี 2564 เป็นสถานการณ์ที่ยากจะประเมิน แต่คาดว่าจะยังไม่ฟื้นตัวในช่วง 5 ปีนับจากนี้ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายจากสถานการณ์โควิด-19 และการเข้ามาของช็อปปิ้งออนไลน์ที่ดิสรัปต์ธุรกิจให้เปลี่ยนแปลงไป”

ด้านนายศาศวัต ตัณมานะศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอสแอล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายนาฬิกาจากต่างประเทศ อาทิ บอมเบิร์ก (Bomberg), เอโพส (Epos), เฟนดิ (Fendi), ทิวดอร์ (Tudor), คาร์ล เอฟ. บุคเคอเรอร์ (Carl F. Buchere) และซาร์การ์ (SARCAR) เปิดเผยว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ยอมรับว่าส่งผลต่อภาพรวมตลาดสินค้าแฟชั่นเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของบริษัทหลังจากมีการปรับโครงสร้างแบรนด์สินค้าในเครือช่วงต้นปีที่ผ่านมา และเริ่มทำการตลาดเชิงรุกได้ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา จึงยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องเลื่อนแผนงานหลายส่วนออกไป ทั้งแผนการเปิดแฟลกชิปสโตร์ (บูทีคช็อป) แห่งใหม่ของแบรนด์ทิวดอร์ (Tudor) ในศูนย์การค้าสยาม เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พื้นที่ 120 ตร.ม. หลังจากได้ใช้งบประมาณลงทุนไปกว่า 20 ล้านบาท ก็จะต้องเลื่อนแผนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการจากช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอประเมินสถานการณ์และนโยบายบริษัทแม่ในต่างประเทศอีกครั้ง จากเดิมที่มีแผนจะเปิดในเดือนธันวาคม 2563

“สินค้าลักเซอรี่หน้าร้าน คือสิ่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้ง ดังนั้น บริษัทจะยังคงโฟกัสหน้าร้านอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกชมสินค้าและศึกษาสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ได้”

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เลื่อนการเปิดตัวแบรนด์คาร์ล เอฟ. บุคเคอเรอร์ (Carl F. Buchere) แบรนด์นาฬิกาหรูเก่าแก่ของสวิส ระดับราคา 5 หมื่น-ล้านบาท ที่เคยอยู่ทำตลาดในเมืองไทยมาระยะหนึ่ง ก่อนจะหายไปจากตลาดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ออกไปหลังเดือนมกราคม 2564

“โควิด-19 ทำให้ตลาดนาฬิกาหรูทั่วโลกซบเซามาก ทำให้ไม่มีการจัดงานนาฬิการะดับโลก และไม่มีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ขณะที่บริษัทแม่ของหลายแบรนด์ก็ได้มีการทยอยปิดโรงงานไปหลายแห่ง พร้อมทั้งมีการโยกฐานการผลิตใหม่ ซึ่งการระบาดใหม่ในประเทศเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มองว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมสินค้าแฟชั่นหรือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอีกครั้ง และอาจจะทำให้ตลาดซบเซาไปอีก 1-2 ปี”

ทั้งนี้ภาพรวมตลาดนาฬิกาเมืองไทยปี 2562 มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มนาฬิกาลักเซอรี่ราคา 5 แสนบาทขึ้นไป 20%, นาฬิกาไฮเอนด์ ราคา 1-5 แสนบาท 34.85%, นาฬิกามิดเอนด์ ราคา 2 หมื่น-1 แสนบาท 30.62%, นาฬิกาแฟชั่นและเทรนด์ ราคา 5,000-20,000 บาท 14.53%