ตลาดปลากระป๋องซึมยาว “ปุ้มปุ้ย” รุกออนไลน์สู้วิกฤต

ตลาดปลากระป๋อง 9 พันล้านยังไม่ฟื้นจากพิษเศรษฐกิจ-แข่งขันสูง “ปุ้มปุ้ย” บุกหนักเตรียมเพิ่มไลน์อัพสินค้า นวัตกรรม ชูจุดขายรสชาติอร่อย-ราคาเข้าถึงง่าย เดินหน้าระดมสินค้าขายออนไลน์ พร้อมทำการตลาด ตั้งบูทลดแลกแจกแถม ปูพรมซูเปอร์มาร์เก็ต ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เข้าถึงผู้บริโภคทุกช่องทางขาย ด้านต่างประเทศ ผลพวงโควิด ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำส่งออกล่าช้า ลั่นปีนี้มุ่งรักษายอดขาย ผลกำไรทะลุเป้า

นายไกรฤทธิ์ โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตปลากระป๋อง “ปุ้มปุ้ย” และ “Smiling Fish” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดปลากระป๋องประเภทซอสมีมูลค่ากว่า 8,000-9,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่าในปี 2564 ยังคงทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่าย รวมถึงยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกปี ทั้งในแง่ของการจัดโปรโมชั่นลดราคา ทั้งแบรนด์ใหญ่ที่อยู่ในตลาดและแบรนด์โลคอลของผู้ประกอบการรายย่อย

สำหรับภาพรวมของบริษัทในปี 2563 ที่ผ่านมา ในช่วงไตรมาส 2-3 บริษัทได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้ากักตุน ทำให้สินค้ากลุ่มปลากระป๋องมียอดขายเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ตัวเลขยอดขายลดลง แต่ยังมีการจับจ่ายต่อเนื่อง โดยในทางกลับกันต้องยอมรับว่าปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจปลากระป๋องค่อนข้างสูง สำหรับปุ้มปุ้ย ปัจจุบันได้ครองตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องปรุงรส ซึ่งมีกว่า 30 รสชาติ และปลาราดพริกเป็นผลิตภัณฑ์ขายดีสุด โดยปีที่ผ่านมาได้ลอนช์รสชาติใหม่ 1-2 รสชาติ เพื่อสร้างความหลากหลายให้สินค้าและความแปลกใหม่ในตลาดอยู่เป็นระยะ ๆ

นายไกรฤทธิ์กล่าวต่อถึงกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานในปี 2564 ยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและรสชาติใหม่ ๆ โดยการจะเปิดตัวสินค้าใหม่แต่ละครั้งจะไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มปลากระป๋องเท่านั้น แต่จะมีทั้งกลุ่มปลาปรุงรส หอยปรุงรส อาหารพร้อมทาน และเครื่องแกงสำเร็จรูป หลัก ๆ จะมาจากการวิจัยความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนการคัดสรรวัตถุดิบและการควบคุมคุณภาพในขั้นตอนการผลิตให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการวางราคาให้เหมาะสม โดยให้ความสำคัญในเรื่องของต้นทุนผลิตภัณฑ์ที่มีประมาณ 25-30% ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละฤดูกาล

นอกจากนี้ บริษัทยังคงบริหารช่องทางจำหน่ายไม่ให้สินค้าขาดสต๊อก โดยปัจจุบันมี 4 ช่องทางหลัก ได้แก่ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มีสัดส่วนยอดขาย 42% ตามด้วยช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรด มีสัดส่วนยอดขาย 36% ช่องทางการจัดงานออกบูท 13% และช่องทางอีคอมเมิร์ซ ยังคิดเป็นสัดส่วนที่ยังไม่มากนัก โดยทุก ๆ ช่องทางจะมีการทำตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

โดยช่วงนี้ยังไม่สามารถจัดโรดโชว์ชวนชิมได้ จากมาตรการความปลอดภัยของภาครัฐ จึงหันมาเน้นการตั้งบูทโชว์สินค้าพร้อมจัดโปรโมชั่น และมีพนักงานเชียร์ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต อาทิ บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส เป็นต้น ส่วนในต่างจังหวัดจะทำการตลาดร่วมกับร้านค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพื่อกระตุ้นยอดขายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

“ทุก ๆ ช่องทางจะครอบคลุมหมดแล้ว ปีนี้จะหันมาเพิ่มน้ำหนักช่องทางออนไลน์ จากปัจจุบันจะเน้นนำผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องไปขายผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดี เซ็นทรัล แต่หลังจากนี้จะเพิ่มสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ในพอร์ตเข้าไปเพิ่มความหลากหลาย เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถือว่าเป็นโอกาสขาย โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส
โควิดที่มีอัตราการสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้น”

ด้านตลาดต่างประเทศ ปีที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมการตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายเพื่อสื่อสารแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยปัจจุบันยอดขายหลักมาจากกลุ่มประเทศ CLMV โดยมาจากกัมพูชาถึง 72% รองลงมาได้แก่ เมียนมา เวียดนาม และลาว โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากสุด ยังคงเป็นกลุ่มปลาในซอสเข้มข้น ราดพริก และปลาทอด เป็นต้น

ส่วนแผนงานขยายตลาดจากนี้ จะมุ่งนำสินค้าเข้าไปเปิดตลาดทางฝั่งยุโรป แต่ยังถือว่าท้าทายอยู่มาก เนื่องจากแต่ละประเทศจะมีแบรนด์ที่ทำตลาดมานาน ดังนั้น สินค้าที่ส่งไปจำหน่าย จะต้องตอบโจทย์ทั้งเรื่องคุณภาพ รสชาติที่ถูกปาก และราคาที่เข้าถึงง่าย ซึ่งปัจจุบันการส่งออกหลัก ๆ จะเน้นกลุ่มกระป๋องและพร้อมทาน โดยจากนี้จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้ส่งสินค้าน้ำแกงพร้อมทานรสชาติต่าง ๆ และปลาซาบะในน้ำเกลือ ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีออร์เดอร์เข้ามาต่อเนื่อง

แต่ขณะนี้ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อใช้ในการบรรจุสินค้าไม่เพียงพอกับจำนวนสินค้า ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งออก ซึ่งเป็นผลจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในไตรมาส 3/63 บริษัทมีรายได้ 300.68 ล้านบาท ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อนที่มีรายได้ 363.24 ล้านบาท ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลง โดยปี 2563 จะมุ่งเน้นรักษายอดขายและผลกำไรให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้