“เด็กหลอดแก้ว” อนาคตสดใส “จีเอฟซี” ทุ่มลงทุน-งัด 0% ขยายฐานลูกค้า

ศูนย์ผู้มีบุตรยาก GFC ไม่หวั่นโควิด มั่นใจตลาดมีศักยภาพเติบโต ปิ๊งไอเดียเข็นบริการออนไลน์ รับปรึกษา เดินหน้าลงทุนนำเข้าเทคโนโลยีทางการแพทย์เลือกตัวอ่อน เล็งเปิดสาขาเพิ่มบุกอีสาน รับลูกค้าประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งเป้าปี’64 โต 15%

นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีฟ เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ GFC ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ขณะนี้ตลาดรักษาผู้มีบุตรยากในประเทศไทยจะเป็นตลาดที่ไม่ใหญ่มากนัก หรือมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ด้วยพฤติกรรมกลุ่มคนวัยทำงานที่ตัดสินใจมีบุตรในช่วงที่อายุมากขึ้น หรือมีความพร้อมเมื่ออายุประมาณ 35-40 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ความสมบูรณ์ของไข่มีคุณภาพน้อยลง รวมทั้งมีภาวะความเครียดจากการทำงานทำให้คู่สมรสหลายคู่หันมาพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้น

ที่ผ่านมาศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในไทยมีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2561 เพิ่งมาสะดุดเล็กน้อยช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยโควิด ทำให้กลุ่มลูกค้าห่วงเกิดปัญหาสุขภาพและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ประกอบกับการปรึกษาด้านการตั้งครรภ์หรือการมีบุตรมีขั้นตอนหลาย ๆ อย่างต้องตรวจกับแพทย์เฉพาะทางโดยตรง ทำให้ปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดหดตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ลูกค้าของ GFC ส่วนใหญ่เป็นคนไทยราว 90% และชาวต่างชาติ 10% จึงไม่ได้รับผลกระทบในแง่การพึ่งพารายได้จากชาวต่างชาติมากนัก

นายกรพัสกล่าวว่า ทั้งนี้ บริการของ GFC ครอบคลุมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อการมีบุตร การให้คำปรึกษาไปจนถึงบริการทำบุตรจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ อาทิ ไอวีเอฟ ผสมเทียม โดยมีราคาแตกต่างกันไป เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว ราคา 190,000-300,000 บาท ขึ้นอยู่กับอายุคุณแม่และแพทย์ที่รักษาเป็นหลัก โดย GFC มีกลุ่มแพทย์เฉพาะความสามารถสูง เข้าถึงง่าย อีกทั้งยังเปิดบริการในรูปแบบสแตนด์อะโลน ต่างจากกลุ่มโรงพยาบาลที่ต้องผ่านหลายขั้นตอนก่อนถึงแพทย์ ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มผู้มีลูกยากทั้งในไทยและต่างประเทศสนใจเข้าใช้บริการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ลาว อินเดีย เวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดยังไม่คลี่คลาย GFC ได้ปรับกลยุทธ์การให้บริการด้วยการรับให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นซูม (zoom) อิงจากข้อมูลประวัติการรักษาที่ผ่านมา เพื่อประเมินผู้รับบริการในเบื้องต้นก่อนจะนัดเข้ามาเช็กความพร้อมของร่างกายอีกครั้ง รวมถึงการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ บริการการฝากเก็บไข่สำหรับผู้หญิงที่มีอายุน้อยที่อยากมีบุตรในอนาคตเมื่อพร้อม เป็นต้น

Advertisment

โดยทุกบริการของ GFC มีทั้งระบบเงินสดและระบบผ่อนจ่าย 0% ใน 10 เดือน ควบคู่กับการขยายฐานลูกค้าทางออนไลน์โดยสื่อสารแบรนด์ เน้นความน่าเชื่อถือ ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจผ่านคอนเทนต์ให้ความรู้วิธีการรักษาผู้มีบุตรยากทางแพลตฟอร์มดิจิทัล เพจเฟซบุ๊ก GFC ที่เปรียบเสมือนคอมมิวนิตี้สำหรับผู้มีบุตรยาก

ล่าสุดได้ลงทุนประมาณ 7-8 ล้านบาท นำเข้าเทคโนโลยีการเลือกตัวอ่อน (automated embryo evaluation) สำหรับการเลี้ยงและดูแลตัวอ่อนเพื่อรองรับความต้องการและบริการที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนจะลงทุนขยายสาขาเพิ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าจากลาว และเวียดนาม

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา GFC เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2561 มีรายได้ 129 ล้านบาท ปี 2562 มีรายได้ 250 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ตัวเลขตกราว 10% เหลือ 218 ล้านบาท แต่ปีนี้ตั้งเป้าเติบโตประมาณ 15% เพราะเชื่อว่าตลาดนี้ยังสามารถเติบโตได้” นายกรพัสกล่าว