เทรนด์สุขภาพหนุน “แพลนต์เบส” ตลาดใหม่มาแรง…อนาคตสดใส

จับกระแสตลาด

 

แม้ตลาดอาหาร “แพลนต์เบส” (plant based) หรือนวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนจากพืช เพิ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้เพียง 1-2 ปี แต่ดูเหมือนว่าตลาดน้องใหม่นี้กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มคนรักสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพจะเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการมีผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ สตาร์ตอัพ รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตอาหาร กระโดดเข้ามาในตลาดมากขึ้น

“แพลนต์เบส” แนวโน้มเติบโตดี

“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพด น้ำนมข้าวโพดแบรนด์วีคอร์น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบรนด์วีฟาร์ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสในไทยยังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก จากมูลค่าตลาดรวมราว ๆ 2 หมื่นล้านบาท จากการเข้ามาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ยิ่งในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ตลาดเติบโตขึ้น

ส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันในแง่ของโปรดักต์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ราคาที่ไม่สูงมาก เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งหลัก ๆ ประกอบด้วย กลุ่มที่ทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำ, กลุ่มวีแกน ที่นิยมการกินแบบมังสวิรัติแต่เคร่งกว่า และกลุ่มที่ทานเจ เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น อีกด้านหนึ่งจะเห็นว่าเริ่มมีร้านอาหารที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ทานอาหารมังสวิรัติ และวีแกนเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

หลังจากปีที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาแบรนด์มอร์มีท (More Meat) อาหารพร้อมรับประทานที่ทำมาจากโปรตีนจากพืชเข้ามาทำตลาด ผลิตภัณฑ์ตัวแรก คือ ลาบทอดจากพืช ในรูปแบบ ready to eat วางจำหน่ายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและออนไลน์ รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศอังกฤษ และไตรมาส 3-4 นี้ บริษัทได้เตรียมลอนช์สินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดอีก 4-5 รายการ โดยจะมีวาไรตี้เมนูให้หลากหลาย เน้นการชูจุดขายวัตถุดิบที่นำมาพัฒนาเป็นโปรตีนจากพืช ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่นในตลาดที่ใช้วัตถุดิบจากถั่วเหลือง เบื้องต้นตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 20 ล้านบาทต่อปี

ยักษ์แฮมเบอร์เกอร์โดดร่วมวง

“ธนวรรธ ดำเนินทอง” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านเบอร์เกอร์คิง ในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยทำให้ผู้บริโภคในไทยหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น และเลือกมองหาเมนูอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ทำให้อาหารแพลนต์เบสที่มีส่วนประกอบจากพืช 100% ให้โปรตีนสูง ให้ปริมาณแคลอรีที่ต่ำกว่าการทานเนื้อสัตว์ทั่วไป มีรสชาติที่คล้ายกับเนื้อสัตว์ เข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์และต้องการดูแลสุขภาพของตนเองในระยะยาว

สำหรับ เบอร์เกอร์ คิง เองที่ผ่านมา ได้เปิดตัว “แพลนต์เบสวอปเปอร์” ที่ทำจากแพลนต์เบสจากพืช 100% และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นรายแรกในธุรกิจ QSR (quick-service restaurant) ในไทย โดยเริ่มวางขายตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เน้นจับกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ จากปัจจัยทางด้านสุขภาพ รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อาทิ การละเว้นการทานเนื้อสัตว์ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เป็นต้น ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่น แพลนต์เบสวอปเปอร์จับคู่กับวอปเปอร์ในราคาเพียง 299 บาท

“ในครึ่งปีหลังนี้เตรียมจะขยายตลาดเพิ่มด้วยการพัฒนาเมนูใหม่ที่มีส่วนประกอบจากพืชเพิ่มขึ้นหลายรายการ และราคาเข้าถึงง่าย เพื่อไม่จำเจ และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคให้กว้างขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงาน นอกจากความเคลื่อนไหวของแฮมเบอร์เกอร์ค่ายใหญ่ดังกล่าว ที่ผ่านมาแมคโดนัลด์ ร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังก็ได้เปิดตัวเมนูแพลนต์เบส ทั้งข้าวกะเพราแพลนต์เบสมีส่วนประกอบหลักที่ทำจากโปรตีนพืช ได้แก่ พืชตระกูลถั่วจากธรรมชาติ, แต่งสีธรรมชาติ เช่น บีตรูตสกัดเข้มข้น และแครอตสกัดเข้มข้น จัดโปรโมชั่น ราคาเริ่มต้น 129 บาท จากราคาปกติ 169 บาท รวมทั้งบริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน

“เนสท์เล่” เจาะตลาด B2B

“เครือวัลย์ วรุณไพจิตร” ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และเนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประจำภูมิภาคอินโดไชน่า กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากเทรนด์ผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงมีบางกลุ่มที่ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาทานอาหารที่มีโปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบสทดแทนในบางมื้อบางโอกาส รวมไปถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่เรียกว่าเฟล็กซิทาเรียน (flexitarian) ที่ยืดหยุ่นในการรับประทาน กินเนื้อสัตว์น้อยลง ขณะที่ในประเทศไทยมีผู้บริโภคกลุ่มนี้มากกว่า 25% ทั้งเป็นคนที่ทานอาหารทำจากพืช ทานมังสวิรัติ หรือเจ เป็นต้น จะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 20% ขณะที่ตลาดแพลนต์เบสในต่างประเทศโตกว่า 50%

จากปัจจัยดังกล่าว เนสท์เล่จึงเปิดตัวสินค้าอาหารแพลนต์เบส ภายใต้แบรนด์ “ฮาร์เวสต์ กูร์เมต์” มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย อาทิ เนื้อเบอร์เกอร์, เนื้อบดละเอียด, ไก่ย่างรมควัน, ไก่ชุบเกล็ดขนมปัง และมีตบอล โดยเฟสแรกสินค้าจะผลิตจากโปรตีนพืชตระกูลถั่ว อนาคตจะมีการผลิตจากโปรตีนจากพืชประเภทอื่นเข้ามาเพิ่ม โดยมีฐานผลิตในประเทศมาเลเซีย โดยระยะแรกได้เริ่มทำตลาดในลักษณะของ B2B ทั้งเครือข่ายร้านอาหารหรือเชนร้านอาหารหลายราย ในการป้อนสินค้าเข้าไปจำหน่ายเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงมีการพัฒนาเมนูอาหารร่วมกัน

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารรายใหญ่ “แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) (NRF) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจผลิตภัณฑ์ด้านอาหารโปรตีนจากพืชในไทยมีโอกาสเติบโตที่ก้าวกระโดด จากมูลค่าตลาดอาจแตะระดับ 4.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 เพื่อรองรับโอกาส บริษัทจึงเตรียมขยายกำลังการผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย อัลมอนด์ ข้าวโอ๊ต โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการแปรรูปสมัยใหม่มาพัฒนารสชาติ รูปลักษณ์ กลิ่น และผิวสัมผัสให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นตัวเลือกรายแรก ๆ ในการผลิตสินค้า ให้แก่บริษัทอาหารสำเร็จรูปทั้งในไทยและต่างประเทศ

นับว่ายังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากกระแสผู้บริโภคต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง