กูร์เมต์มาร์เก็ตลุยโตนอกห้าง เดอะมอลล์งัด “นิวโมเดล” ชิงเค้ก 8 หมื่นล้าน

เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ไม่หวั่นโควิด เปิดแผนทุ่มงบฯ ขยายสาขา “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ชิงธงตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต 8 หมื่นล้าน ผุดโมเดลใหม่ เพิ่มสาขาเล็ก เจาะออฟฟิศบิลดิ้ง-ปั๊มน้ำมัน พร้อมระดมกลยุทธ์ O2O-จัดเต็มสต๊อกอาหารสด-แห้ง รับดีมานด์ช่วงขยายล็อกดาวน์ ชี้ โควิด-19 หนุน ตลาดสินค้าสุขภาพ-ออร์แกนิก ยอดละลิ่ว

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดรวมซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยมีมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี ทั้งนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตกลายเป็นเพียงร้านค้าไม่กี่ประเภทที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหนึ่งเรือธงของค่ายค้าปลีกที่ยังมีแผนการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

เปิดโมเดลใหม่บุกนอกห้าง

นายศุภวุฒิ ไชยประสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้เดินหน้าลงทุนทยอยปรับโฉมกูร์เมต์ มาร์เก็ต สู่การเป็น world class gourmet destination ทั้งสาขาเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน, สยามพารากอน และเดอะมอลล์ ท่าพระ มาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ไป บริษัทจะยังคงสานต่อแผนงานเดิมในการทยอยรีโนเวตทั้ง 17 สาขา สู่รูปโฉมใหม่ โดยสาขารูปแบบแฟลกชิปสโตร์ และรอบเมือง ใช้งบประมาณรีโนเวตราว 200-300 ล้านบาทต่อสาขา ในสาขารูปแบบสแตนด์อะโลน จะใช้งบประมาณในการรีโนเวตอยู่ที่ 50-70 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจกูร์เมต์ มาร์เก็ตเติบโตขึ้น 10%

นอกจากนี้ เดอะมอลล์มองหาโอกาสทางการเติบโตผ่านโมเดลใหม่ ๆ และการขยายสาขาให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยปีหน้ามีแผนจะขยายเพิ่ม 2-3 สาขา ใน 3 โมเดลหลัก ได้แก่ 1.โมเดล stand alone ก็ยังคงมีการขยายสาขาอยู่อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นขณะนี้มีเจ้าของพื้นที่ (แลนด์ลอร์ด) ติดต่อมาที่กูร์เมต์ มาร์เก็ตหลายรายให้เข้าไปลงทุนขยายสาขา 2.โมเดลการขยาย โดยการเบลนด์ไปพร้อมกับร้านอาหาร เพื่อให้เป็นทำเลทองในอนาคต และ 3.การเพิ่มร้านเล็ก ๆ หรือสาขาในคอมมิวนิตี้, ออฟฟิศบิลดิ้ง หรือปั๊มน้ำมัน เบื้องต้นอยู่ระหว่างการปรับแผนการขั้นสุดท้าย เพื่อให้รับกับสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีผู้เสนอให้กูร์เมต์ มาร์เก็ตไปเปิดร่วมหลายราย และทุกรายล้วนมีศักยภาพสูง

“ทุกโมเดลที่จะเปิด เราเน้นเจาะเข้าในทำเลที่มีศักยภาพ โดยให้ความสำคัญกับเรื่องไลฟ์สไตล์ในการช็อปปิ้ง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และแนวคิดนี้น่าจะเหมาะกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและสถานการณ์ปัจจุบัน โดยรูปแบบของการขยายจะเปลี่ยนไป ร้านอาหารจะมีความยืดหยุ่นและเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและเหมาะสมในการลงทุน ซึ่งการลงทุนร้านขนาดใหญ่จะระมัดระวังมากขึ้น และความเป็นแบรนด์ลอยัลตี้จะลดลง หันไปแข่งที่คุณภาพสินค้า, ความคุ้มค่าคุ้มราคา และสินค้าที่สะอาดปลอดภัยมีมาตรฐานแทน”

งัดกลยุทธ์ O2O ตอบโจทย์ลูกค้า

นายศุภวุฒิกล่าวต่อไปว่า สำหรับในแง่ของกลยุทธ์ทางการตลาดกูร์เมต์ มาร์เก็ตจะให้ความสำคัญกับการนำกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบต่าง ๆ มาใช้เพื่อในการเติมจุดแข็งให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำการตลาดแบบผสาน ออนไลน์และออฟไลน์ หรือ O2O เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและรองรับพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย มากขึ้น โดยจะแบ่งการทำงานในส่วนของออนไลน์ออกเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสแรก กูร์เมต์ มาร์เก็ตมีการขยายการให้บริการโดย Call To Order และ Chat & Shop ซึ่งก็มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด

และเฟสที่ 2 การเปิดตัว www.gourmetmarketthailand.com ที่จะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึงมากขึ้น ควบคู่กับการจับมือกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Happy Fresh, Panda Mart และ Robinhood ทำให้มีข้อมูลและสามารถวิเคราะห์แนวโน้มของการเลือกซื้อสินค้าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้

จากภาพรวมของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้าง แต่โดยส่วนตัวมองว่า ธุรกิจนี้ยังมีปัจจัยบวกจากเรื่องของ online หรือ omnichannel ที่ทุกผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมถึงความพยายามในการรักษาการจ้างงานให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป

ขณะที่การเพิ่มขึ้นของจำนวนซัพพลายเออร์, ธุรกิจใหม่ ๆ, การพัฒนาสินค้า รวมถึงวิธีการนำเสนอ การขยาย portfolio และการต่อยอดธุรกิจในแนวใหม่ และให้ความสำคัญกับ คุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยของสินค้ามากขึ้น เพื่อรวมให้เกิดห่วงโซ่ หรือ value chain มากขึ้นในหลายธุรกิจ

โควิดทำเทรนด์ซูเปอร์ฯเปลี่ยน

นายศุภวุฒิยังกล่าวถึงการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดที่ผ่านมา ว่า แม้จะมีตลาดสดขนาดใหญ่หลายแห่งปิดตัวลง แต่ก็ยังมีตลาดเล็ก ๆ เปิดให้บริการมากขึ้น ลูกค้าจึงหันไปซื้อสินค้าใกล้บ้านเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในส่วนของกูร์เมต์ มาร์เก็ตเองได้รับอานิสงส์บ้าง แต่น้อยมากและเป็นระยะสั้น ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับการระบาดรอบแรก หรือรอบ 2 การระบาดครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้บริโภคเคยมีประสบการณ์มาแล้ว จึงไม่ได้มีการกักตุนสินค้าไว้มากนัก ประกอบกับในแง่ของกำลังซื้อ ที่มีจำกัด

ส่วนใหญ่จึงเน้นการซื้อสินค้าที่จำเป็นครั้งละเล็ก ๆ น้อย ๆ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ครั้งนี้ผู้บริโภคจะซื้อวัตถุดิบสำหรับไปทำอาหารทานที่บ้านมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มอาหารสดมีแนวโน้มที่ดีมาก เมื่อเทียบกับอาหารแห้ง

สำหรับกูร์เมต์ มาร์เก็ตเอง ได้มีการเตรียมความพร้อม ด้วยการร่วมมือกับซัพพลายเออร์หลายรายในการจัดเติมสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ พร้อมยกระดับการควบคุมพนักงานไม่ให้มีความเสี่ยงในการติดโรค ด้วยมาตรการ bubble seal มาใช้ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังเพิ่มคู่ค้า รวมถึงการเพิ่มความปลอดภัยในสินค้าที่จำเป็น (top item) ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่ม commodity, cleaning, Health necessary, beverage, เครื่องปรุง และกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะกลุ่ม organic ทั้งในกลุ่มผักและผลไม้ ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากเทรนด์สุขภาพที่มาแรง

“หลังจากโควิดคลี่คลาย พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป เรื่องของคุณภาพ ความสะดวกสบาย ราคาสมเหตุสมผล และปลอดภัย จะเป็นสิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ผู้แข่งขันแต่ละรายจะต้องมีการปรับตัวเร่งสปีดธุรกิจ แม้กระทั่งการหาธุรกิจใหม่หรือการต่อยอด รวมถึง value chain นอกจากนี้การขยายสาขา รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเข้มงวดยิ่งขึ้น แต่ต้องให้ไว และยืดหยุ่นกับธุรกิจ การเพิ่ม และการรักษาซัพพลายเออร์ที่ดี มีคุณภาพ ในแต่ละสินค้าจะมากขึ้น การรักษาความสัมพันธ์และรักษาสมดุล เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จะมีบทบาทที่สำคัญ และพนักงานจะต้องทักษะที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น”