เครือพริ้นซ์เสริมแกร่งเครือข่าย-เพิ่มคลินิกดัน Q2 โตกระฉูด 76%

รพ.พริ้นซ์เผย อานิสงส์โควิด-ขยายเครือข่าย รพ. คลินิก ดันรายได้ไตรมาส 2 พุ่ง 76% ขณะที่ครึ่งปีแรกทำยอดทะลุ 1,644 ล้าน ลุ้นคืนทุนภายในปี 2565

วันที่ 17 สิงหาคม 2564 นายธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2564 นี้ รพ.พริ้นซ์ได้ปรับแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด

ไม่ว่าจะเป็นการขยายเตียงรับผู้ป่วยโควิดเพิ่ม การจับมือโรงแรมทำหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ Hospitel การรับฉีดวัคซีนตามนโยบายภาครัฐ ตลอดจนการเปิดจองวัคซีนทางเลือก และการสร้าง รพ.สนาม ร่วมกับภาคเอกชนรายอื่น ๆ  

ส่งผลให้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ กลุ่มบริษัทมีรายได้มีจำนวน 921.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงพยาบาล มีรายได้จำนวน 845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89% เป็นผลมาจากทุกโรงพยาบาลในเครือ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่ปรับแผนในการให้บริการเน้นตรวจคัดกรองและรักษาโควิด-19 ซึ่งช่วยในการควบคุมโรคระบาดและยังเป็นการแบ่งเบาภาระภาครัฐ 

นอกจากนี้ ยังได้รับผลบวกจากการขยายฐานผู้ใช้บริการจากการเปิดโรงพยาบาลใหม่ อีก 2 แห่งใน 2 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี โรงพยบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และการขยายสาขาคลินิกเวชกรรมใกล้บ้านใกล้ใจจากปัจจุบัน 13 สาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงเป้าขยายเป็น 20 สาขาภายในปลายปี 2564 

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีรายได้ 76.9 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากสถานการณ์โควิด-19

ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปี 2564 เครือพริ้นซ์ มีรายได้รวม 1,644.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ แต่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และเป็นไปตามการคาดการณ์ของบริษัทเพราะปกติการลงทุนในกิจการประเภทโรงพยาบาลจะต้องใช้ระยะเวลา 5 ปี ในการคืนทุนหรือในปี 2565 

ประกอบกับโรงพยาบาลเร่งลงทุนขยายพื้นที่รองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม ขยายเตียงผู้ป่วยวิกฤตในการรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาด และยังคงดำเนินการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงแผนขยายโรงพยาบาลให้ได้ 20 แห่งภายในปี 2566 โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

นอกจากนี้ ผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 2 ของปี 2564 จำนวน 170.8 ล้านบาทนั้น ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 7% เนื่องจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และบริษัทย่อยมีรายการขาดทุนจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์จำนวน 43.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่เกิดเพียงครั้งเดียว หากไม่นับรวมรายการดังกล่าวจะมีผลขาดทุนในงวด จำนวน 127.5 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 56 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลงถึง 30% 

ส่วนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยพิจารณาจากกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในงวดไตรมาส 2 นี้ พลิกมีกำไร 25.4 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 20.7 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 222.6%