สธ. ชี้ยอดติดเชื้อไทยลดลงต่อเนื่อง เร่งจับตาโควิดสายพันธุ์ C.1.2 หวั่นเข้าไทย

สธ. เผยสัญญาณบวกอัตราติดเชื้อไทยลดลงต่อเนื่อง ชี้เป็นผลยกระดับมาตรการล็อกดาวน์-ระดมฉีดวัคซีนทำติดเชื้อลด 20-25% ด้านผู้เสียชีวิตต่ำกว่าหลัก 200 คนครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์ ชี้กว่า 88% เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงวัย-7 โรคเรื้อรัง พร้อมจับตาสายพันธุ์ C.1.2 หวั่นเข้าไทย เร่งสุ่มตรวจพันธุกรรมโควิดในประเทศ-ต่างประเทศสัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยส่งสัญญาณบวกต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ค่อย ๆ ลดลงมา จนล่าสุดมียอดการติดเชื้อราว 14,355 คน ส่วนผู้เสียชีวิต 190 คน เป็นครั้งแรกที่เห็นตัวเลขต่ำกว่า 200 คน นับตั้งแต่มีการระดับหนักตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา

หากย้อนกลับไปจะพบว่ากราฟของการติดเชื้อในประเทศไทยจะสูงขึ้นราววันที่ 13 ส.ค. ก่อนที่จะค่อย ๆ ลดลงมา หลังจากการใช้มาตรการควบคุมโรค อาทิ การล็อกดาวน์ สัมพันธ์กับการคาดการณ์ในก่อนหน้านี้ว่าจะช่วยลดการติดเชื้อได้ราว 20-25% ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น

อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกลงรายละเอียดมากขึ้นจะพบว่าวันนี้ (31 ส.ค.) ยอดผู้ติดเชื้อใน กทม.-ปริมณฑล ได้พลิกกลับมานำต่างจังหวัดเล็กน้อยด้วยจำนวน 7,327 คน คิดเป็น 51% ของยอดติดเชื้อทั่วประเทศ ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวน 7,028 คน คิดเป็น 49% ถือว่าอยู่ระดับใกล้เคียงกัน

ส่วนข้อมูลผู้เสียชีวิตประจำวันพบว่ามี 190 คน และกว่า 88% เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และมีเพียง 12% เท่านั้นที่เป็นกลุ่มผุ้มีอายุน้อยกว่า 60 ปีที่ไม่มีโรคเรื้อรังใด ๆ ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตโดยรวมยังกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งมีการติดเชื้อในระดับสูงที่สุดอยู่ โดยเวลาเฉลี่ยการเสียชีวิตอยู่ที่ 10 วัน หลังทราบผลการติดเชื้อโควิด แต่ก็มีบางรายที่เสียชีวิตหลังจากรู้ผลราว 60 วัน

ขณะที่ภาพรวมการฉีดวัคซีนในวันนี้ (31 ส.ค.) ฉีดได้ 817,342 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 383,094 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 430,625 โดส และเข็มที่ 3 จำนวน 3,623 โดส เมื่อนับรวมการฉีดตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมาจะมียอดสะสมการฉีดทั้งหมดกว่า 31 ล้านโดส

เมื่อถามว่าแม้ภาพรวมทั้งประเทศจะดีทั้งในด้านการติดเชื้อที่ลดลง ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่กระแสข่าวโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ที่พบในประเทศจีนและอังกฤษ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงและอาจดื้อต่อวัคซีนจะมีผลกระทบต่อไทยหรือไม่นั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัสที่จะมีการกลายพันธุ์ได้ อย่างไรก็ตาม ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการสุ่มตรวจจีโนมฯ ดูพันธุกรรมของเชื้อโควิดทุก ๆ สัปดาห์ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 500 คน เป็นทั้งการสุ่มตัวอย่างจากในประเทศ และผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ หากตรวจจีโนมฯ และพบเชื้อตัวดังกล่าว ก็จะทำให้ทราบที่มาที่ไปได้ว่ามาจากไหน และสกัดโรคได้ถูก ซึ่งปัจจุบันเชื้อสายพันธุ์ C.1.2 นี้ยังไม่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่กว่า 92-93% ยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า พร้อมกันนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เองก็ได้มีการเฝ้าระวังและจับตาสายพันธุ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ส่วนความรุนแรงเกี่ยวกับสายพันธุ์ C.1.2 อาจยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า มีการติดเชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมมากแค่ไหน หรือรุนแรงกว่าเดลต้าหรือไม่ ยังคงต้องรอดูอีกสักระยะควบคู่กับการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเป็นระยะ ๆ