‘คาร์นิวาล’ ผนึก 2 เชฟมิชลิน ปักธงร้านอาหารพารากอน

“คาร์นิวาล” จับมือ 3 เชฟชื่อดังเจ้าของร้านมิชลินสตาร์ รุกธุรกิจอาหาร ผุดร้าน “ซี ดีกรี” ภัตตาคารผสมคาเฟ่ชูจุดเด่นอาหารหรูในราคาจับต้องได้ ปักธงสาขาแรกสยามพารากอนปลายตุลาคมนี้ ชู 3 แม็กเนต ดึง 3 กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พร้อมใช้กลยุทธ์ถนัดคอลลาบอเรชั่นทำสินค้าของใช้เสริม

นายอนุพงศ์ คุตติกุล ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์นิวาล ซัพพลาย จำกัด ร้านคาร์นิวาล (Carnival) ร้านจำหน่ายสินค้าสตรีตแวร์และสนีกเกอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดร้านคาร์นิวาลมีแผนจะแตกไลน์ธุรกิจใหม่จากวงการค้าปลีกและวงการแฟชั่นไปสู่วงการร้านอาหารในชื่อของ “ซี ดีกรี” เป็นร้านอาหารและคาเฟ่ในคอนเซ็ปต์ใหม่ สาขาแรกที่บริเวณกราวนด์ของศูนย์การค้าสยามพารากอน บนพื้นที่ประมาณ 200 ตร.ม. รวม 50 ที่นั่ง

แบ่งเป็น 2 ชั้น ด้านล่างเป็นร้านคาเฟ่เครื่องดื่ม เบเกอรี่และขนม ส่วนชั้นบนเป็นร้านอาหาร พร้อมกับมีสินค้าของใช้ต่าง ๆ วางจำหน่ายด้วย ตามเทรนด์ของร้านอาหาร-คาเฟ่ในปัจจุบัน การตกแต่งเน้นธีมสีดำต่างจากคาเฟ่ทั่ว ๆ ไป ภายใต้แนวคิดการทำให้ผู้บริโภคระดับกลาง-บนสามารถเข้าถึงอาหารระดับมิชลินสตาร์และไฟน์ไดนิ่งได้ง่ายขึ้น

โดยร้านดังกล่าวเป็นการร่วมลงทุนกับเชฟ “กากั้น อนันต์” (Gaggan Anand) เชฟมิชลินระดับ 2 ดาว เจ้าของร้านอาหารอินเดีย “กากั้น อนันต์” และร้าน “กากั้น” ที่ได้รับการจัดอันดับเป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย 4 ปีซ้อน กับเชฟ 2 พี่น้อง แมทธิอัส และโทมัส ซูห์ริ่ง (Mathias Shring-Thomas Shring) เชฟอาหารเยอรมันระดับมิชลิน 2 ดาว เจ้าของร้าน “ซูห์ริ่ง” (Shring) ซึ่งได้อันดับ 5 ร้านอาหารดีที่สุดในเอเชีย

“ส่วนชื่อร้านซี ดีกรีนั้นมาจากคอฟฟี่ (coffee), ชิล (chill) และคาร์นิวัล (carnival) ร่วมกับดีกรีหรือระดับอุณหภูมิที่เป็นตัวแปรในการทำอาหาร โดยราคาอาหารรวมเครื่องดื่มของร้านจะอยู่ที่ประมาณ 700-800 บาทต่อหัว และไม่ต้องสั่งเป็นแบบคอร์สที่ต้องมีตั้งแต่ของทานเล่น จานหลัก และของหวาน เหมือนร้านไฟน์ไดนิ่งทั่วไป”

ทั้งนี้ เชฟกากั้นจะทำหน้าที่ดูแลส่วนคาเฟ่ ขณะที่เชฟแมทธิอัส และเชฟโทมัส จะดูแลส่วนร้านอาหาร สำหรับคาร์นิวาลจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและออกแบบสินค้าในการออกแบบร้าน รวมถึงสินค้าต่าง ๆ ที่จะวางจำหน่าย อาทิ แก้วน้ำ เสื้อยืด กระเป๋า หมวก ฯลฯ รวมไปถึงกำลังศึกษาโอกาสทำสินค้าคอลลาบอเรชั่นกับแบรนด์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ทำในร้านคาร์นิวาล

ส่วนการทำตลาดจะใช้ช่องทางโซเชียลเป็นหลัก โดยอาศัยโซเชียลมีเดียของทั้ง 3 หุ้นส่วนสื่อสารไปกลุ่มแฟน ๆ ของแต่ละฝ่าย เน้นสร้างการรับรู้และความเข้าใจในโมเดลธุรกิจของร้านร่วมกับโมเดลการดึงดูดด้วยการทำสินค้าของใช้ต่าง ๆ วางจำหน่ายภายในร้าน

“การรวมตัวกันของเชฟชื่อดัง 3 คน และเป็นเจ้าของร้านดัง 2 ที่ ซึ่งต่างก็มีฐานลูกค้าของตนเอง ขณะที่คาร์นิวาลที่เป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีฐานแฟนคลับอยู่ไม่น้อยนี้ ต่างก็น่าจะเป็นแม็กเนตที่ช่วยสร้างความน่าสนใจ และดึงดูดฐานลูกค้าของแต่ละกลุ่ม รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปได้ จึงได้เริ่มโปรเจ็กต์นี้ขึ้นเมื่อประมาณ 1 ปีก่อน อาศัยความสนใจด้านอาหารและการที่รู้จักกับเชฟกากั้นเป็นการส่วนตัว ก่อนจะชวนเชฟซูห์ริ่งมาร่วมมือด้วย”

นายอนุพงศ์กล่าวว่า ส่วนกำหนดการเปิดบริการนั้นเดิมวางแผนเปิดช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารอย่างการจำกัดจำนวนลูกค้าในร้าน เนื่องจากหากไม่สามารถรับลูกค้าได้ 100% การเปิดไปอาจจะมีความเสี่ยง

“อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงที่ผ่านมาการระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อในภาพรวม แต่โดยส่วนตัวยังมั่นใจในศักยภาพของฐานผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและจุดแข็งของทั้งคาร์นิวาลและเชฟทั้ง 3 ว่าจะสามารถดึงดูดลูกค้าได้” นายอนุพงศ์กล่าว