วงการฟาสต์ฟู้ดป่วนหนัก พิซซ่า-เบอร์เกอร์-ไก่ทอดวัตถุดิบขาด

คอลัมน์ : Market-Move

แม้แต่แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีระบบบริหารจัดการซัพพลายเชนประสิทธิภาพสูงที่สุด ในแง่ของความสามารถจัดหาวัตถุดิบป้อนสาขาจำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่สามารถรอดพ้นจากปัญหาต้นทุนและวัตถุดิบขาดแคลนที่กำลังแพร่ไปทั่วโลก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เชนร้านฟาสต์ฟู้ดหลายแบรนด์ในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมถึงมาเลเซีย ต่างเริ่มออกอาการทั้งกัดฟันปรับขึ้นราคา

หรือลดไซซ์เมนูราคาประหยัดที่เป็นแม็กเนตสำคัญ และจำกัดการขายอาหารบางเมนู เนื่องจากปัญหาซัพพลายเชนและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น

อาทิ โดมิโน่ พิซซ่า และ ไก่ทอดป๊อปอายส์ ในสหรัฐต่างประกาศปรับราคา-ไซซ์ของเมนูราคาประหยัด รวมถึงจำกัดการขายเฉพาะทางออนไลน์เท่านั้น ไม่สามารถสั่งทางหน้าร้านได้

ในขณะที่ยักษ์ฟาสต์ฟู้ดอย่าง แมคโดนัลด์ ประกาศงดจำหน่ายเฟรนช์ฟรายและแฮชบราวน์ในหลายประเทศเนื่องจากวัตถุดิบขาดแคลน

โดย “โดมิโน่ พิซซ่า” ประกาศลดจำนวนชิ้นปีกไก่และไก่ไม่มีกระดูกในเมนูราคาประหยัด ซึ่งปกติจะขายในราคา 7.99 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 10 ชิ้น เหลือ 8 ชิ้น พร้อมจำกัดให้สั่งซื้อได้ทางออนไลน์เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อตรึงระดับราคาเดิมที่ผู้บริโภคคุ้นเคยเอาไว้

“ลิซ อัลลิสัน” ซีอีโอของโดมิโน่ พิซซ่า อธิบายสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เป็นการรับมือกับต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การจำกัดให้สั่งผ่านออนไลน์นั้นมีประโยชน์หลายด้าน

ทั้งลดค่าใช้จ่ายลงเพราะไม่ต้องมีคอลเซ็นเตอร์และเป็นช่องทางที่ลูกค้ามีแนวโน้มสั่งสินค้าปริมาณมากขึ้น ในขณะที่บริษัทสามารถเก็บข้อมูลอินไซต์ของลูกค้าได้ด้วย

ไปในทิศทางเดียวกับแบรนด์ป๊อปอายส์ ซึ่งออกนโยบายใหม่โดยลูกค้าที่สั่งเมนูราคาประหยัด 5 ดอลลาร์สหรัฐทางหน้าร้านหรือไดรฟ์ทรูจะต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากสั่งผ่านออนไลน์ไม่ว่าจะแอปหรือเว็บไซต์จะยังได้ราคาปกติ ซึ่งบริษัทได้อธิบายในแถลงการณ์ว่าเป็นยุทธศาสตร์ในการจูงใจให้ผู้บริโภคหันไปใช้บริการผ่านออนไลน์

ส่วน “แมคโดนัลด์” กำลังเผชิญปัญหาความล่าช้าในการขนส่งมันฝรั่งไปยังหลายประเทศต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เริ่มจากในประเทศญี่ปุ่นที่ต้องประกาศจำกัดการขายเฟรนช์ฟรายเฉพาะไซซ์เล็กในทั้ง 2,700 สาขาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม โดยเดิมยักษ์ฟาสต์ฟู้ดคาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายช่วงต้นปี 2565 นี้ แต่กลับไม่เป็นตามคาดทำให้ต้องขยายเวลาจำกัดการขายออกไปอีก

แต่นอกจากจะไม่คลี่คลายแล้ว การขาดแคลนมันฝรั่งนี้กลับลุกลามไปยังสาขาในประเทศอื่น ๆ โดยแมคโดนัลด์ประเทศมาเลเซียเป็นสาขาล่าสุดที่ประกาศนำเฟรนช์ฟรายไซซ์ใหญ่

และเซตอาหารไซซ์ใหญ่ออกจากเมนูตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมแบบไม่มีกำหนดโดยบริษัทระบุผ่านโซเชียลมีเดียว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะกลับมาจำหน่ายทั้ง 2 เมนูให้เร็วที่สุด

ในขณะที่สาขาในไต้หวันแม้จะไม่มีปัญหาด้านเฟรนช์ฟราย แต่กลับประสบปัญหาแฮชบราวน์หรือมันฝรั่งบดทอดขาดแคลน โดยเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาบางสาขาต้องประกาศระงับการขายเมนูนี้ชั่วคราว

นอกจากมันฝรั่งแล้ว เนื้อสัตว์เป็นอีกกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาเช่นกัน โดยเคเอฟซีในออสเตรเลียมีไก่สดไม่เพียงพอจนต้องระงับการขายอาหารบางเมนูชั่วคราว ซึ่งทางแบรนด์ระบุว่าเป็นผลจากซัพพลายเออร์ขาดแคลนคนงานจึงไม่สามารถส่งสินค้าได้ทัน

“ปีเตอร์ ซาเลย์” นักวิเคราะห์ของบริษัทบีทีไอจี ผู้ให้บริการทางการเงินการลงทุนให้ความเห็นว่า ปกติช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์จะเป็นโลว์ซีซั่นของฟาสต์ฟู้ด ทำให้แต่ละรายต้องกระหน่ำโปรโมชั่นกันอย่างหนัก แต่ปีนี้แทบไม่มีการโฆษณาเมนูฮิตอย่างไก่ทอดทางสื่อหลักอย่างทีวีเลย สะท้อนว่าแต่ละรายต่างปรับตัวรับมือวิกฤตซัพพลายเชน

ขณะที่ “ลีนนา โอลบินสกี้” ผู้อำนวยการของเทเบิลนีด บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นสำหรับธุรกิจอาหาร เสริมว่า การปรับตัวที่เห็นได้ในปีนี้ค่อนข้างหลากหลาย นอกจากการปรับราคาและลดไซซ์แล้ว

การพยายามนำวัตถุดิบที่ยังมีสต๊อกอยู่มาใช้เป็นอีกกลยุทธ์ เช่น ร้านที่เด่นด้านเมนูเบค่อน อาจนำเสนอเมนูรองท้องที่ใช้วัตถุดิบอื่น ๆ มาทำเพื่อเฉลี่ยการใช้วัตถุดิบ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวในวงการฟาสต์ฟู้ดที่แต่ละแบรนด์ต่างพยายามแก้ปัญหาซัพพลายเชนกันเต็มที่

ต้องรอดูว่าสถานการณ์จะลุกลามต่อไปอีก หรือผู้ประกอบการจะสามารถสกัดปัญหานี้ไว้ได้ก่อน