สงกรานต์ 2565 แห่สต๊อกเบียร์ ออร์เดอร์พุ่ง-โรงงานผลิตไม่ทัน

เบียร์

ตลาดเบียร์คึกคักรับเทศกาลสงกรานต์ ยี่ปั๊วซาปั๊วแห่สต๊อกรับหน้าขายสำคัญ โรงงานผลิตป้อนแทบไม่ทัน เผยปรับราคาเพิ่ม 1-3 บาท/ขวด/กระป๋อง ไม่สะเทือนลูกค้ารับได้ คาดสังสรรค์ดื่มกินในหมู่ญาติ-เพื่อนฝูงที่บ้านมาแรง หนุนภาพรวมตลาดโตเบาะ ๆ 30%

ทยอยประกาศปรับราคาขึ้นไปกันไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และวันนี้ประกาศราคาใหม่กันครบทุกค่ายแล้ว สำหรับเบียร์เครื่องดื่มยอดนิยมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หลังจากที่ผ่านมาปัญหาต้นทุนต่าง ๆ ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน รวมถึงวัตถุดิบที่มีปัญหาซัพพลายเชนและการขนส่งจากต่างประเทศจากผลกระทบของโควิด-19

เริ่มจากค่ายช้าง (ไทยเบฟฯ) ที่ชิงเปิดเกมก่อนใครด้วยการประกาศขึ้นราคา ช้างคลาสสิค 12 บาท/ลัง (12 ขวด) จาก 589 บาท เป็น 601 บาท มีผลปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ตามด้วย ไฮเนเก้น (ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่) ขวดใหญ่ ปรับขึ้นประมาณ 50 บาท/ลัง (12 ขวด) จาก 800 บาท เป็น 850 บาท ส่วนขวดเล็ก ปรับขึ้น 90 บาท/ลัง (24 ขวด) เดิม 940 บาท เป็น 1,030 บาท กระป๋องเล็ก (แคนสลิม) ปรับขึ้น 90 บาท/ถาด (24 กระป๋อง) จาก 940 บาท เป็น 1,030 บาท เป็นต้น

ท้ายสุดถึงคิวของเบอร์หนึ่งตลาดเบียร์ ค่ายสิงห์ โดย บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ได้ประกาศปรับขึ้นราคาทุกขนาด เช่น ขวดใหญ่ ปรับขึ้น 12 บาทต่อลัง (12 ขวด) จาก 676 บาท เป็น 688 บาท ขวดเล็ก ปรับขึ้น 24 บาทต่อลัง (24 ขวด) จาก 809 บาท เป็น 833 บาท

ส่วน กระป๋องเล็ก ปรับขึ้น 24 บาทต่อถาด (24 กระป๋อง) จาก 809 บาท เป็น 833 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่ายสิงห์ยังไม่ประกาศปรับขึ้นราคา ลีโอ (ณ วันที่ 11 เม.ย. 2565) ที่เป็นรายได้พอร์ตใหญ่

ยี่ปั๊ว-ซาปั๊วสต๊อกรับหน้าขาย

แหล่งข่าวจากบริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าช่วงสงกรานต์ที่เป็นหน้าขายสำคัญ ตลาดเบียร์จะคึกคักขึ้น ซึ่งราคาใหม่ที่ทุกค่ายปรับขึ้นเป็นราคาที่ตลาดรับได้และไม่มีผลต่อยอดขาย เนื่องจากการปรับราคาขายปลีกที่เป็นปลายทางถึงผู้บริโภคจะอยู่ที่ประมาณขวด (กระป๋อง) ละ 1-3 บาท

อีกด้านอาจพบว่า การปรับราคาของค่ายเบียร์ต่าง ๆ จะส่งผลกระทบเฉพาะกับซาปั๊ว ในแง่ของการซื้อของได้ในจำนวนที่ลดลงเล็กน้อย

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.เป็นต้นมา เอเย่นต์-ซับเอเย่นต์ได้เริ่มสต๊อกเบียร์เพื่อรับเทศกาลสงกรานต์กันอย่างต่อเนื่อง และจากดีมานด์ที่มีเข้ามามาก ทำให้บางช่วงโรงงานไม่สามารถผลิตเบียร์ได้ทันกับความต้องการ โดยเฉพาะลีโอในแง่ความต้องการกระโดดขึ้นมาก ทำให้ทุกค่ายผลิตแทบไม่ทัน

“จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง รวมถึงมาตรการผ่อนปรนของ ศบค.ที่มีมากขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดีมานด์ของตลาดเบียร์ในช่วงสงกรานต์มีมากขึ้น และตลาดในภาพรวมจะ relax มากขึ้นเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมาที่โควิด-19 กระทบค่อนข้างมาก และทางการมีมาตรการห้ามต่าง ๆ และคาดว่าส่วนใหญ่เป็นการซื้อไปดื่มกินที่บ้าน หรือสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อนและญาติพี่น้องมากกว่า”

แหล่งข่าวจากซาปั๊วเบียร์รายใหญ่ในภาคอีสานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยเริ่มทยอยซื้อเบียร์ไปจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากขึ้น แม้เบียร์ทุกค่ายจะทยอยปรับราคาขายส่งครบทุกค่ายแล้ว

แต่ในแง่ของราคาขายปลีกจะปรับขึ้นไม่มากนัก โดยเฉลี่ย 1-3 บาท/ขวด หรือกระป๋อง ยกเว้นกรณีของไฮเนเก้น ที่ปลายทางอาจปรับขึ้น 3-5 บาท/ขวด (กระป๋อง) จึงไม่น่าจะกระทบกับผู้บริโภคมากนัก

เนื่องจากสงกรานต์เป็นช่วงการเฉลิมฉลอง เป็นช่วงของการพบปะพี่น้องรวมญาติ มั่นใจว่าตลาดเบียร์จะมีความคึกคักมากขึ้น แต่ซื้อกลับไปดื่มกินสังสรรค์ที่บ้านในกลุ่มญาติพี่น้องจะมากกว่าการดื่มกินตามร้านอาหาร

“ช่วงนี้เป็นช่วงที่เบียร์จะขายดี แต่ก็ยังไม่ได้คาดหวังมาก เพราะยังมีความกังวลเรื่องมาตรการการควบคุมของทางการ ที่แต่ละจังหวัดอาจเข้มงวดและมีมาตรการที่แตกต่างกันไป”

สงกรานต์หนุนตลาดโต 30%

นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ กรรมการ บริษัท ไอเอสทีบี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายคราฟต์เบียร์ แบรนด์ไลเกอร์, อัลเลมองท์ แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงสงกรานต์ภาพรวมตลาดเบียร์น่าจะมีความคึกคักขึ้น

และคาดว่าช่วงหน้าขายสำคัญนี้ ตลาดเบียร์จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงปกติโดยส่วนตัวมองว่าปัญหากำลังซื้อที่ชะลอตัวและการปรับขึ้นราคาของทุกค่ายจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจจะกระทบบ้างน่าจะเป็นคำสั่งหรือมาตรการการควบคุมของภาครัฐที่อาจจะมีการประกาศห้ามฉลอง หรือห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ช่วงสงกรานต์นี้จะดีกว่าปีที่ผ่านมาเพราะประชาชนเดินทางท่องเที่ยวได้ หรือการดื่มกินที่บ้านก็จะยังมีอยู่ทำให้ตลาดเบียร์ยังเติบโตได้

ปัจจัยลบในเรื่องเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ที่อาจกระทบกำลังซื้อทำให้ผู้บริโภคชะลอการดื่มหรือสังสรรค์ลงบ้าง

แต่เชื่อว่าผู้บริโภคจะยังใช้โอกาสช่วงสงกรานต์ในการเฉลิมฉลองอยู่ แต่จะประหยัดมากขึ้น ด้วยการหันมาซื้อเพื่อดื่มหรือสังสรรค์ในบ้าน แทนการดื่มกินตามร้านอาหาร ดังนั้นช่องทางที่เป็นร้านค้าโมเดิร์นเทรดและเทรดิชั่นนอลเทรดต่าง ๆ จะมียอดขายที่ดี

“ทุกวันนี้ความน่ากลัวของโรคน้อยลง จากความคุ้นชิน และประชาชนฉีดวัคซีนมากขึ้น ประชาชนเริ่มออกมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาดมีสัญญาณที่ดีในช่วงไฮซีซั่นและนับจากนี้”

ด้านนายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ไฮเนเก้น, ไทเกอร์ และเชียร์ เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวมองว่าภาพรวมตลาดเบียร์ในช่วงสงกรานต์นี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมิน เนื่องจากยังมีปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเองก็อยู่ในภาวะที่ยังชะลอตัวและกำลังซื้อที่ลดลง

ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจจะมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเบียร์ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงอาจจะชะลอการซื้อลงบ้าง นอกจากนี้ยังมีปัญหาสงคราม, ปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าแนวโน้มปัจจัยลบต่าง ๆ น่าจะเบาลง และไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อมากนัก

โดยรวมแล้วเชื่อว่าในแง่ของภาพรวมตลาดเบียร์ดีขึ้นและมีความคึกคักมากกว่า หากเปรียบเทียบกับสงกรานต์ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่แม้ตัวเลขจะยังพุ่งสูงอยู่ แต่ในแง่ความรุนแรงของโรคลดลง ประกอบกับประชาชนฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยบวกที่หนุนให้ภาพรวมตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

“ปี 2564 ที่ผ่านมา มาตรการคุมเข้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีค่อนข้างมาก ทั้งการล็อกดาวน์ การห้ามดื่มในร้านอาหาร รวมถึงการปิดผับบาร์ ก็ทำให้ภาพรวมตลาดชะลอตัวอย่างหนักตลอดทั้งปี แต่ล่าสุดจากสถานการณ์หลายอย่างที่เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งการเปิดร้านอาหาร ร้านนั่งดื่มต่าง ๆ ทำให้ประเมินว่าภาพรวมตลาดจะเติบโตขึ้น แต่อาจจะยังไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนหน้าที่โควิด-19 ระบาด”