
คอลัมน์ : Market-think ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์
ปีนี้ผมเข้าสู่วงการชาวสวนและพ่อค้าทุเรียนอย่างเป็นทางการแล้วครับ
แต่เป็นกึ่งมือสมัครเล่น
มาช่วยดูแลสวนทุเรียนเก่าที่คุณพ่อทิ้งไว้ให้ลูก ๆ และเริ่มขายออนไลน์ทางเพจส่วนตัว
ทำเล็ก ๆ แต่หาข้อมูลเยอะ ตามประสานักข่าว
ทำให้พอรู้ข่าวคราวของวงการทุเรียนบ้าง
โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่าง “ชาวสวน” เมืองจันท์ กับ “ล้ง”
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนในประเทศขยับตัวสูงขึ้นมาก เพราะมีการส่งออกไปประเทศจีน
กลไกสำคัญ คือ “ล้ง” ที่รับซื้อทุเรียนส่งออก
ส่วนใหญ่เป็นล้งจีนที่มาลงทุน
ปีนี้มีสถานการณ์พิเศษ คือ จีนเจอมรสุมโควิดในช่วงนี้ ทำให้ด่านต่าง ๆ มีปัญหา บางด่านก็ปิด บางด่านก็ใช้เวลานานมาก เพราะจีนกลัวทุเรียนมีเชื้อโควิดติดไปด้วย
แต่พ่อค้าเขาปรับตัวเร็วครับ พยายามหาช่องทางส่งออกในรูปแบบต่าง ๆ
ช่วงแรก ๆ ทุเรียนราคาดีมาก
ราคารับซื้อของล้งสูงถึง 200 กว่าบาท
“กระดุม” ซึ่งเป็นทุเรียนเบา ออกก่อนใคร ราคาพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 270 บาท
“หมอนทอง” ช่วงแรกก็ราคาเกิน 200
จากนั้นก็ลดลงมาเหลือประมาณ 150
แต่ช่วงก่อนสงกรานต์ เริ่มมีข่าวจีนปิดด่านออกมา ล้งอาศัยข่าวนี้กดราคาลงมาเรื่อย ๆ
ชาวสวนคนไหนไปขายทุเรียนที่ล้ง พนักงานของล้งก็จะพูดแต่เรื่องนี้
พูดจบ ราคาก็ลงอีก
จาก 150 เหลือ 130 แล้วลงเรื่อย ๆ ทุกวัน จนต่ำกว่า 100
ชาวสวนก็เริ่มโวยสิครับ เพราะมันผิดปกติมาก
โลกยุคใหม่ ชาวสวนเขามีเพจที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้เยอะมาก
มีรายงานข่าวจากทางการถึงการปิดด่านว่าจริงหรือไม่
ลงประกาศราคาล้งต่าง ๆ ในเพจ
ชาวสวนเลือกได้ว่าจะส่งที่ไหน ฯลฯ
ตอนแรก ๆ ที่ชาวสวนโวยในเพจ ราคาของล้งก็ยิ่งดิ่ง
วันหนึ่ง มีล้งรายหนึ่งประกาศราคาซื้อกิโลกรัมละ 70 บาท
“ม็อบชาวสวน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเลย
มีการรณรงค์ผ่านเพจต่าง ๆ ให้ชาวสวนหยุดตัดทุเรียน อย่ารีบขาย เพราะอ่านออกได้ว่า “ล้ง” กำลังจับมือกันกดราคาทุเรียน
“ทุเรียนหมอนทอง” ที่ขายล้งนั้น ถ้าตรวจปริมาณแป้งประมาณ 32% จึงจะสามารถขายล้งได้
ถ้าต่ำกว่านั้น “อ่อน”
จากแป้ง 32% ชาวสวนสามารถแขวนลูกทุเรียนอยู่บนต้นได้นานถึง 7-10 วัน ก่อนขาย
ยอมให้น้ำหนักลดลงนิดหน่อย เพราะทุเรียนยิ่งแก่ น้ำหนักลูกยิ่งลด
แต่ดีกว่าตัดขายกิโลกรัมละ 70 บาท
เหตุผลที่เขาเสนอให้ชาวสวนหยุดตัดทุเรียนขาย เพราะคนในวงการรู้ว่าล้งนั้นมีสัญญากับคนซื้อที่เมืองจีนไว้ ว่าภายในวันไหนจะต้องส่งให้กี่ตู้คอนเทนเนอร์
ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 วัน
ทุกฝ่ายรู้ “จุดตาย” ของกันและกัน
ดังนั้น ถ้าชาวสวนไม่รีบตัดขาย ล้งก็ไม่มีทุเรียนส่ง
ปิดตู้ไม่ได้
แค่ 2 วันเองครับ ราคาทุเรียนขยับขึ้นเป็น 100 บาท
มีประกาศผ่านเพจเลยว่า รับไม่อั้น ต้องการอีกกี่ตู้เพื่อปิดตู้
ล้งเริ่มแย่งกันซื้อ ราคาจึงขยับขึ้นเรื่อย ๆ
ตอนนี้อยู่ที่ 130-140 บาทแล้วครับ
ไม่รู้ว่าต่อไปจะขึ้นหรือลง
แต่สงครามครั้งนี้แสดงให้เห็นถึง “อำนาจต่อรอง” ของเกษตรกรยุคใหม่
โซเชียลมีเดียมีผลมาก ทำให้โลกแห่งข่าวสารกระจายไปอย่างรวดเร็ว
มีการตรวจสอบข่าวสารว่าข่าวไหนจริงหรือไม่จริง
การปล่อยข่าวยากขึ้นกว่าเดิม
ในขณะที่โซเชียลมีเดียก็ช่วยให้ชาวสวนรวมพลังกันได้ พอทุกสวนไม่ตัดทุเรียนพร้อมกัน
แค่นั้น “อำนาจต่อรอง” ก็เปลี่ยนไปทันที