“ฟาสต์แฟชั่น” สะเทือนทั้งบาง อียูเข้ม…งัดมาตรการตัดตอนวงการ

ฟาสต์แฟชั่น
คอลัมน์ : Market Move

ความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป หรืออียู ในปีนี้ไม่เพียงสร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการเทคโนโลยี ด้วยการบังคับใช้ USB Type C เท่านั้น แต่ยังมีการเสนอมาตรการที่ส่งผลกระทบกับวงการแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มฟาสต์แฟชั่น อาทิ เอชแอนด์เอ็ม ซาร่า ไพรมาร์คและอื่น ๆ ในระดับที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายลงความเห็นว่า ข้อเสนอนี้เหมือนเป็นการประกาศสงครามกับธุรกิจฟาสต์แฟชั่นเลยทีเดียว

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหภาพยุโรปได้เสนอร่างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความยั่งยืนของสินค้าสิ่งทอที่สามารถขายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ หรือยุทธศาสตร์เพื่อสิ่งทอที่ยั่งยืนและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ (EU Strategy for Sustainable and Circular Textiles) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งกระแสฟาสต์แฟชั่นที่กำลังทำให้เสื้อผ้ากลายเป็นสินค้าใช้แล้วทิ้ง

พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงปราบปรามผู้ผลิตที่อวดอ้างความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ถูกต้อง หรือกรีนวอชชิ่ง (greenwashing) ไปพร้อมกัน

โดยกฎเกณฑ์ในร่างนี้จะประกอบด้วยแนวคิดหลัก 3 ประการ คือ จะมีการกำหนดมาตรฐานความทนทาน การนำกลับมาใช้ซ้ำ การซ่อมแซม การรีไซเคิล เช่น บริการรับสินค้าคืน-การขายมือสอง และปริมาณเส้นใยรีไซเคิลในสินค้านั้น ๆ ตามด้วยการพิมพ์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องบนสินค้า เช่น คะแนนความง่ายในการซ่อมแซม และสุดท้ายอาจมีการห้ามผู้ผลิตทำลายสินค้าค้างสต๊อก หรือต้องรายงานว่าทำลายไปมากน้อยเท่าใด

นอกจากนี้ยังจะเพิ่มความเข้มงวดด้านผลกระทบของการผลิตต่อสิทธิมนุษยชน อย่างการใช้แรงงานทาส หรือแรงงานเด็กอีกด้วย

“เวอจินิอุส ซิงคาวิเชียส” กรรมาธิการสิ่งแวดล้อมสหภาพยุโรป ย้ำว่า เป้าหมายของเราคือการทำให้ฟาสต์แฟชั่นตกเทรนด์ไปเสีย โดยก่อนสิ้นปี 2030 (พ.ศ. 2573) นั้น สิ่งทอที่ขายในยุโรปจะต้องมีอายุใช้งานยาวนาน และสามารถรีไซเคิลได้ รวมถึงต้องมีเส้นใยรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนที่กำหนดด้วย

“ยุโรปต้องการยกระดับให้ความยั่งยืนของสินค้ากลายเรื่องธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ทั่วไป” ฟรานส์ ทิมเมอร์แมน รองประธานคณะกรรมการ สหภาพยุโรป กล่าว

แนวคิดเบื้องหลังข้อเสนอของสหภาพยุโรปในครั้งนี้ มาจากการขยายตัวของฟาสต์แฟชั่น ซึ่งเน้นผลิตเสื้อผ้าดีไซน์ตามกระแสนิยม โดยอาศัยโรงงานในประเทศที่มีกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมไม่เข้มงวด และผลิตด้วยวัสดุราคาถูกและกระบวนการที่เน้นปริมาณเพื่อให้มีสินค้าราคาถูกออกมาขายได้ทันก่อนที่ดีไซน์จะหลุดเทรนด์ ส่งผลให้เกิดขยะสิ่งทอปริมาณมหาศาลและมลพิษจากกระบวนการผลิตปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

สอดคล้องกับข้อมูลของแมคคินซี บริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการซึ่งเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2000-2014 กำลังผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้นเท่าตัว ขณะเดียวกันแม้ผู้บริโภคจะซื้อเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 60% แต่ระยะเวลาที่เก็บเสื้อผ้าเหล่านั้นไว้กลับสั้นลง 50%

และตามข้อมูลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรป การใช้เสื้อผ้าของชาวยุโรป 1 คน จะมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเป็นน้ำ 9,000 ลิตร ที่ดิน 400 ตร.ม. วัตถุดิบ 391 กิโลกรัม และสร้างคาร์บอนอีกประมาณ 270 กิโลกรัม

แม้กฎใหม่นี้จะยังเป็นเพียงข้อเสนอและยังต้องผ่านรัฐสภายุโรปและการรับรองของรัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ได้สร้างแรงกระเพื่อมออกไปในวงการแฟชั่นแล้ว โดยหลายแบรนด์เริ่มเคลื่อนไหวปรับกระบวนการผลิตของตนให้สอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็น ดีแคทลอน ยูนิโคล่ และเอชแอนด์เอ็ม ที่เปิดเผยว่า กำลังประสานกับบรรดาผู้ผลิตในเอเชีย อาทิ จีนและอินเดีย เพื่อปรับกระบวนการผลิตตามแนวทางของสหภาพยุโรป

“เพอนิลลา ฮอลดิน” หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรของเอชแอนด์เอ็ม กล่าวว่า กฎใหม่ที่ครอบคลุมทั้งวงการเช่นนี้จะช่วยให้แต่ละรายปรับตัวได้ง่าย สำหรับบริษัทภายในปี 2025 สินค้าทั้งหมดจะออกแบบให้รีไซเคิลได้

ส่วนยูนิโคล่ระบุว่า บริษัทเริ่มรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ปริมาณคาร์บอนในซัพพลายเชน และการติดตามย้อนกลับไปถึงแหล่งผลิต ฯลฯ ด้านดีแคทลอนจับมือสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม ผลักดันให้โรงงานในเวียดนามปรับตัวตามกฎใหม่ หลังปัจจุบันมีโรงงานเพียง 5% เท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม ในระดับซัพพลายเออร์อย่างโรงงานสิ่งทอนั้น กฎใหม่นี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้น โดยโรงงานแห่งหนึ่งในกว่างโจวระบุว่า หากต้องปรับการผลิตให้เข้าเกณฑ์ เช่น ใช้เส้นใยรีไซเคิล ต้นทุนอาจเพิ่มขึ้นถึง 50%

แต่ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มใส่ใจและยอมจ่ายกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยตามการสำรวจของแมคคินซีระบุว่า นักช็อป 65% ตั้งใจจะมีคุณภาพสูงและทนทานใช้งานได้นานขึ้น ส่วนปัจจัยด้านความใหม่นั้นมีผลต่อการตัดสินใจลดลง สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวคิด น้อยคือมาก (Less is more) ซึ่งมาพร้อมกับเหตุการณ์โรคระบาด 2 ปีที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ฉายแววถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการแฟชั่นซึ่งต้องรอดูว่า บรรดาฟาสต์แฟชั่นจะหลีกเลี่ยงวิกฤตที่อาจทำให้สูญพันธุ์นี้กันอย่างไร