สะดวกซื้อ “ญี่ปุ่น” ดวลเดือด 3 ยักษ์งัดกลยุทธ์สู้อีคอมเมิร์ซ

คอลัมน์ MARKET MOVE

ญี่ปุ่นนับเป็นผู้นำของวงการร้านสะดวกซื้อโลก ด้วยสินค้าและบริการที่หลากหลาย และไม่มีในประเทศอื่น ทั้งขายลอตเตอรี่, ฟรีไวไฟ, รับส่งพัสดุ, ถ่ายเอกสาร, ล้างอัดรูป และอื่น ๆ เรียกได้ว่าครบวงจรสมกับชื่อร้านสะดวกซื้อ แต่เซ็กเมนต์นี้ก็ไม่สามารถรอดพ้นจากภัยคุกคามของอีคอมเมิร์ซได้ สะท้อนจากยอดขายร้านเดิมในเดือน ต.ค.ของผู้เล่นอันดับ 1 อย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 63 เดือน หรือกว่า 5 ปี เช่นเดียวกับจำนวนลูกค้าในเดือนเดียวกันที่ลดลง 40 คน จากเมื่อ 2 ปีก่อน เหลือเฉลี่ย 854 คนต่อวัน แม้ยอดใช้จ่ายต่อบิลจะสูงขึ้นอีก 21 เยนต่อคนก็ชดเชยกันไม่ได้

เรื่องนี้ส่งสัญญาณให้ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่นและผู้เล่นอันดับ 2 และ 3 อย่าง “แฟมิลี่มาร์ท” และ “ลอว์สัน” เร่งหาทางรับมือ จนเกิดเป็นบริการใหม่ ๆ ที่แปลกยิ่งกว่าเดิมตามมา ไม่ว่าจะเป็น ยืมจักรยาน, เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ และฟิตเนส 24 ชั่วโมง และอื่น ๆ รวมถึงไลน์อัพสินค้าพร้อมทาน โดยพักเรื่องการขยายสาขาเอาไว้ก่อน

“การขยายสาขาไม่ใช่คำตอบของสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่เป็นการอัพเกรดประสบการณ์การใช้บริการร้าน เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาให้มากขึ้น” โคจิ ทาคายานากิ ประธานของแฟมิลี่มาร์ท ยูนิ โฮลดิ้ง ผู้บริหารร้านแฟมิลี่มาร์ทกล่าว

โดย “เซเว่นอีเลฟเว่น” เตรียมเปิดบริการยืมจักรยานตั้งแต่ เม.ย. 2561 ด้วยจักรยาน 5,000 คัน สำหรับ 1,000 สาขา ในโตเกียวรวมถึงหัวเมืองอื่น ๆ และคาดว่าจะขยายจนครบ 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ หวังอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าใช้เดินทางมาที่ร้านและกลับบ้านได้ง่ายขึ้น รวมถึงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติไปพร้อมกัน หลังทดลองเมื่อเดือน พ.ย. ช่วยให้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 2%

ในขณะที่ “แฟมิลี่มาร์ท” ผู้เล่นอันดับ 2 ซึ่งมีร้าน 18,000 สาขา ได้ลอนช์กลยุทธ์ใหม่ถึง 2 รูปแบบ ทั้งลดพื้นที่ของลานจอดรถมาเพิ่มบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ หวังรับดีมานด์ของทั้งคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ชีวิตเป็นโสดกันมากขึ้น รวมถึงผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว โดยจะเริ่มทดลองตั้งแต่ เม.ย. 2561 ใน 100 สาขา ก่อนจะเพิ่มเป็น 500 สาขาในปี 2562 ขณะเดียวกันใช้พื้นที่ชั้น 2 ของร้านเปิดฟิตเนส 24 ชั่วโมง ด้วยเป้าเพิ่มทั้งทราฟฟิกและยอดขาย เมื่อลูกค้ามาซื้อสินค้าระหว่างรอซักผ้าหรือหลังจากออกกำลังกาย

ด้าน “ลอว์สัน” หันโฟกัสด้านเทคโนโลยีและไลน์อัพสินค้าในร้าน เพื่อดึงดูดลูกค้าพร้อมกับรับมือปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยทดลองนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยให้ข้อมูลสินค้าและเพิ่มไลน์อัพอาหารพร้อมทาน เช่น ซุปผัก ตามเทรนด์ของตลาด ซึ่งตัวเลขของสมาคมอาหารพร้อมทานระบุว่า ช่วงปี 2555-2559 ยอดขายสินค้ากลุ่มนี้เติบโต 20% เป็น 9.84 ล้านล้านเยน โดยมาจากร้านสะดวกซื้อถึง 30%

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่กลยุทธ์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเชนร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานครบทุกราย