พรีเมี่ยมคาร์ตลาดแข่งเดือด เบนซ์ปรับใหญ่ทวงคืนแชมป์

เบนซ์

ตลาดรถหรูเดือด “เบนซ์” ปรับใหญ่เปลี่ยนประธานใหม่ รื้อนโยบายทำตลาดแก้เกมสงครามราคา งัดระบบเอเย่นต์แทนดีลเลอร์หวังขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งอีกครั้ง เผยอีเวนต์ใหญ่เมื่อปลายปีพลิกแซงใบพัดสีฟ้า ปูพรมลุยขายออนไลน์ ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยูเข็น Power of Choice นำเสนอพลังงานทางเลือกให้ลูกค้า

ปี 2565 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังอยู่ภายใต้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวและสถานการณ์โควิดฉุดกำลังซื้อลดลง แต่สำหรับตลาดพรีเมี่ยมคาร์กลับไม่ได้กระทบกระเทือน จะมีเพียงปัญหาซัพพลายขาด อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลต่อกระบวนการผลิตบ้างเล็กน้อย

ซึ่งแนวโน้มการแข่งขันในตลาดรถหรูกลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการปรับตัวของค่ายดาวสามแฉกที่พลาดท่าเสียทีให้กับคู่แข่งมาตลอด 2 ปีเต็ม โดยปี 2563 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทำได้แค่ 10,613 คัน แต่บีเอ็มดับเบิลยูกลับทำได้ 12,426 คัน ส่วนปี 2564 เมอร์เซเดส-เบนซ์ มียอดขาย 9,820 คัน บีเอ็มดับเบิลยู ยังมียอดขาย 9,982 คัน ขณะที่ปี 2565 แม้ตัวเลขจะยังไม่เป็นทางการ แต่มีแนวโน้มว่าจะแพ้เป็นที่ 3

เปลี่ยนหัวเรือใหม่

รายงานจากบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ประกาศแต่งตั้งนายมาร์ติน ชเวงค์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด คนใหม่ ต่อจากนายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ที่จะไปรับตำแหน่งใหม่ที่สำนักงานใหญ่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566

สำหรับนายมาร์ติน ชเวงค์ เริ่มต้นการทำงานกับเมอร์เซเดส-เบนซ์ในปี 2535 ใน “Mercedes-Benz-Nachwuchsgruppe” ที่เมืองชตุทท์การ์ทในตำแหน่งวิศวกรผู้ควบคุมคุณภาพ หลังจากการทำงานในหลากหลายหน้าที่ทางด้านคุณภาพและการเงินในโรงงานผลิตหลายแห่งของเมอร์เซเดส-เบนซ์ในเมืองรัสแตท ประเทศเยอรมนี

มาร์ติน ชเวงค์ ก่อนก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแผนกควบคุมการวางแผนการผลิตที่ตั้งขึ้นใหม่ในซินเดลฟิงเงน และเข้าไปดูแลงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเงินและการควบคุม ทั้งในแอฟริกาใต้ ออสเตรีย รวมถึงการทำงานในตำแหน่งประธานบริหารด้านการเงิน (CFO) ของ MBUSI ในสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งในปี 2558 มาร์ตินนั่งแท่นตำแหน่ง CFO ให้กับเมอร์เซเดส-เบนซ์ เซลส์ในประเทศจีน และก่อนจะมาดูแลประเทศไทย มาร์ตินนั่งประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (อินเดีย) จำกัด โดยมีบทบาทสำคัญในการเตรียม
เมอร์เซเดส-เบนซ์ อินเดีย เพื่อก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์

เรียกคืนตำแหน่งแชมป์

โดยคนเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย มีความมั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์กว่า 3 ทศวรรษในอุตสาหกรรมยานยนต์ในหลากหลายทวีป จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจและนำพาให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ก้าวสู่ความสำเร็จใหม่ในอนาคตที่น่าตื่นเต้นของเทรนด์การขับเคลื่อนใหม่ ๆ ที่กำลังมาในโลกยานยนต์ รวมถึงแนวทางการปรับปรุงการขายและการตลาดที่จะเลิกสงครามราคา พร้อมชูความเป็นพรีเมี่ยมแบรนด์อย่างแท้จริง

โดยก่อนหน้านี้นายแมทเทียส เลอร์ส ผู้อำนวยการภูมิภาค เมอร์เซเดส-เบนซ์ คาร์ ได้เปิดเผยว่า การเป็นแบรนด์หรูต้องไม่มีการแข่งขันด้านราคา เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย อยู่ในระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนการทำตลาดให้สอดรับกับนโยบายนี้ ซึ่งจะมีการยกระดับโชว์รูมและปรับรูปแบบการขายใหม่ ช่องทางดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คือจะขายแบบออนไลน์เป็นหลัก ดีลเลอร์จะต้องปรับตัว ซึ่งช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์จะมีการยกระดับให้สมกับเป็นแบรนด์หรูหราด้วยเช่นเดียวกัน

เปลี่ยนดีลเลอร์เป็นเอเย่นต์

แหล่งข่าวดีลเลอร์เบนซ์รายใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวเสริมว่า เบนซ์พยายามเปลี่ยนระบบดีลเลอร์ให้ไปสู่ระบบเอเย่นต์ ซึ่งอนาคตดีลเลอร์จะไม่ต้องสต๊อกรถ ตรงนี้จะทำให้แต่ละรายลดภาระดอกเบี้ยได้มากขึ้น และทำกำไรได้ชัดเจนขึ้น ลดการตัดราคาระหว่างดีลเลอร์ได้แน่นอน

“เรามองว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ดีขึ้นแน่นอน ระยะหลังระบบต่าง ๆ ของเบนซ์ดีขึ้นมาก โปรดักต์ใหม่มีเข้ามาเสริมตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดีลเลอร์ทุกราย

ทำตัวเลขได้มากขึ้น โดยเฉพาะในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปปลายปีที่ผ่านมา เบนซ์ทำยอดขายได้มากถึง 1,597 คัน, บีเอ็มดับเบิลยู ทำได้แค่ 1,234 คัน, วอลโว่ 330 คัน, ปอร์เช่ 309 คัน และเลกซัส จำนวน 257 คัน ถือเป็นข้อบ่งชี้ได้ระดับหนึ่ง ส่วนการปรับระบบการขายใหม่ที่มุ่งเน้นระบบการขายแบบออนไลน์มากขึ้น รูปแบบจะคล้าย ๆ กับเกรท วอลล์ฯ การทำงานทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นจองรถ ทดลองขับ ส่งมอบรถ อื่น ๆ จะมีเป็นเปอร์เซ็นต์แบ่งให้ทุกขั้นตอน น่าจะแก้ปัญหาการตัดราคาได้ตรงจุด แต่ทุกอย่างยังคงความเป็นแบรนด์หรูรอบด้าน ทั้งภาพลักษณ์, การขาย และบริการหลังการขาย”

BMW ชู “Power of Choice”

ด้านนายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดรถหรูยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งบีเอ็มดับเบิลยูมุ่งมั่นมอบบริการและผลิตภัณฑ์เปี่ยมด้วยคุณภาพ เพื่อตอบสนองความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการมอบพลังแห่งทางเลือกหรือ “Power of Choice” โดยนำเสนอระบบขับเคลื่อนต่าง ๆ ผ่านยนตรกรรมที่หลากหลายให้กับลูกค้า

กอดแชมป์ยาว

ในปี 2565 บริษัทยังคงปักธงความสำเร็จและตำแหน่งผู้นำในกลุ่มยนตรกรรมระดับพรีเมี่ยม เช่นเดียวกับความไว้วางใจขั้นสูงสุดที่ลูกค้ามอบให้กับแบรนด์บีเอ็มดับเบิลยู, มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราด และจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ แต่จะยังคงมุ่งมั่นส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ยนตรกรรมที่โดดเด่นด้วยสมรรถนะและสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์

สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั้งของบีเอ็มดับเบิลยูและมินิ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ยังสูงถึง 14,139 คัน เพิ่มขึ้นถึงกว่า 37.7% เมื่อเทียบปีต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงการที่บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยังคงครองความเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจของผู้บริโภคในไทย ด้วยส่วนแบ่งในตลาดพรีเมี่ยมที่สูงถึงกว่า 46.7% ด้วย

ขณะที่ค่ายอาวดี้นั้น ยังคงเดินหน้ากับนโยบายการเป็นรถยนต์นำเข้าทั้งคัน และมีการนำเสนอรถยนต์ที่หลากหลายครอบคลุมครบทุกเซ็กเมนต์ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเดินหน้านำเสนอบริการหลังการขาย เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด