ยอดรถอีวีปี’68 พุ่งแตะ 3 แสนคัน เร่งขยายจุดชาร์จไฟโอกาสที่มาพร้อมความเสี่ยง

สถานีชาร์จ รถอีวี

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยตลาดรถยนต์ไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดรถอีวี ทั้งคาดว่าปี 2568 ประเทศไทยอาจมียอดสะสมยานยนต์ไฟฟ้าถึง 3 แสนคัน ส่งผลความต้องการสถานีชาร์จเพิ่มสูงถึง 19,000 ช่องจอด แต่การลงทุนสถานีชาร์จช่วงแรกอาจมีความเสี่ยง

วันที่ 4 มกราคม 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่าจากผลของราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่ออกมามาได้ถูกจุด ส่งผลให้ตัวเลขจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้า อย่างรถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ 100% (BEV) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2565 ที่ผ่านมายอดขายรถปลั๊กอินไฮบริด อาจปิดตัวเลขที่ประมาณ 12,000 คัน ขณะที่รถอีวี 100% หากสามารถส่งมอบได้ตามแผนก็อาจพุ่งขึ้นไปสูงกว่า 12,000 คัน ทำให้ปีที่ผ่านมามีโอกาสที่จำนวนรถอีวีทั้งสองแบบในประเทศจะมีสะสมราว 60,000 คัน

และจากที่โครงการกระตุ้นการใช้รถอีวี ด้วยการให้เงินอุดหนุนและการลดภาษีสรรพสามิตดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี  2568 ทำให้คาดว่าผู้บริโภคจะมีการเร่งซื้อรถอีวีเพิ่มขึ้น และมีผลทำให้จำนวนรถอีวีแบบเสียบปลั๊กชารจ์ไฟได้ในประเทศไทยมีโอกาสที่ยอดสะสมเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 300,000 คันในปี 2568 ด้วยสัดส่วนของรถปลั๊กอินไฮบริด ต่อรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ 100% ที่ 40:60

จากสัญญาณการการเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของตลาดรถอีวี ทำให้ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาเรื่อง Ecosystem สิ่งสำคัญคือการมีจุดชารจ์ไฟในที่สาธารณะให้ทั่วถึงและมากพอ ถือเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วน เพราะปัจจุบันยังเป็นปัญหาคอขวดสำหรับการผลักดันตลาดรถอีวี

ทั้งนี้ในต่างประเทศที่ตลาดรถอีวีมีการเติบโตมาก่อนไทยนั้นพบว่า ในเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง จะยิ่งมีความต้องการช่องจอดเพื่อชาร์จไฟสูง เช่น เซี่ยงไฮ้ และลอนดอน เป็นต้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในตึกสูง จึงติดตั้ง Wall Charger ส่วนตัวไม่ได้ และในเมืองเหล่านี้ยังมีการพัฒนาใช้บริการรถขนส่งบุคคลหรือสินค้าที่เป็นรถอีวีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งต้องการช่องจอดเพื่อชาร์จไฟมากขึ้น เหมือนสิงคโปร์

ตรงกันข้ามกับเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรต่ำ เช่น เขตนอกเมืองลอนดอนในสหราชอาณาจักร หรือนอกเมืองใหญ่ของสหรัฐ ที่ความต้องการช่องชาร์จไฟในที่สาธารณะต่ำกว่ามาก อาจเพราะส่วนใหญ่พักอาศัยในบ้านส่วนตัวจึงติดตั้ง WallCharger ได้สะดวก ทำให้ไม่ต้องชาร์จไฟนอกบ้านบ่อย

สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปี 2565 ที่ผ่านมา มีช่องจอดสำหรับชาร์จไฟทั่วประเทศอยู่ที่ราว 4,000 ช่องจอด

และหากเทียบเคียงกับตัวอย่างในต่างประเทศ โดยมองเฉพาะเรื่องความหนาแน่นประชากรกับปริมาณ และประเภทรถของไทยมาคำนวณ ประเมินว่าจำนวนช่องจอดรถสำหรับชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะทั่วประเทศในปี 2568 ที่เหมาะสมต้องมีสะสมไม่น้อยกว่า 19,000 ช่องจอด ถึงจะเพียงพอต่อปริมาณรถอีวีสะสมที่อาจพุ่งแตะระดับ 3 แสนคันในปี 2568

โดยในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV กว่า 180,000 คัน โดยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลราว 122,000 คัน และอยู่ในต่างจังหวัดอีกราว 58,000 คัน

อย่างไรก็ดี จำนวนช่องจอดชาร์จไฟ จำนวนนี้อาจมากเกินความต้องการในเวลาอีกเพียง 3 ปี ข้างหน้า เนื่องจากตลาดรถอีวียังเป็นเรื่องใหม่และผู้ซื้อรถอีวีในช่วงแรกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จะติดตั้ง Wall Charger ส่วนตัวที่บ้าน เพราะยังมีความกังวลเรื่องระยะเวลาในการชาร์จและความไม่เพียงพอของจุดชาร์จนอกบ้าน ทำให้สุดท้ายจำนวนช่องจอดอาจมีจำนวนต่ำกว่าที่ควรมีได้

และยังมีหลายปัจจัยที่ผู้ประกอบการติดตั้งสถานีชาร์จไฟสาธารณะต้องก้าวข้ามและมีโอกาสที่จะเจอปัญหาสภาพคล่อง หากสายป่านการเงินไม่ยาวพอ เพราะจะต้องรอเวลาให้ผ่านพ้นสู่ช่วงที่ตลาดรถอีวีครองส่วนแบ่งตลาดระดับ mass

สำหรับปัญหาที่พบอาจแตกต่างตามพื้นที่ คือเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะเขตเมืองอาจเจอปัญหาพื้นที่จำกัดในการทำช่องจอดชาร์จไฟ เพราะบางแห่งพื้นที่จอดรถก็ไม่พออยู่แล้ว นอกจากนี้การปรับพื้นที่เป็นสถานีชาร์จไฟ ผู้ประกอบการอาจต้องยอมเสียรายได้จากค่าเช่าอื่น ๆ รวมทั้งยังต้องมีค่าใช้จ่ายปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการชาร์จไฟพร้อมกันหลาย ๆ คัน

ขณะที่ความถี่ในการเข้าใช้บริการจุดชาร์จไฟสาธารณะของผู้ใช้รถอีวีมีแนวโน้มที่จะยังต่ำมากในระยะแรก จากที่ผู้ซื้อรถอีวีในยุคเริ่มต้นจะติดตั้ง Wall Charger ในที่พักอาศัยมากกว่า สอดคล้องกับการทำ FocusGroup ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อวันที่ 1-5 ธันวาคม 2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าผู้ตอบกว่า 68% มีแผนจะติดตั้ง Wall Charger ส่วนตัวในที่พักอาศัย และกว่า 58% ตอบว่ามีโอกาสใช้บริการในจุดชาร์จสาธารณะน้อยกว่า 1-2 ครั้งต่อเดือน

ทั้งนี้จากแนวโน้มตลาดรถอีวีที่มีการเติบโตก้าวกระโดด ซึ่งอาจทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่วางแผนจะลงทุน สร้างและให้บริการจุดชาร์จไฟในที่สาธารณะ ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 น่าจะได้เห็นเม็ดเงินลงทุนสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดีปริมาณความต้องการใช้บริการจุดชาร์จสาธารณะยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เพราะผู้บริโภคยังมีทางเลือกอื่นในการชาร์จไฟได้ โดยเฉพาะการชาร์จไฟผ่าน Wall Charger จากที่พักอาศัยซึ่งกำลังทิศทางเติบโตสูง เพราะจ่ายค่าไฟที่ถูกกว่าและสะดวกกว่า

นอกจากนี้ไม่เพียงจำนวนจุดชาร์จที่มากพอ และประเภทของเครื่องชาร์จที่เหมาะสม เรื่องค่าบริการชาร์จไฟเป็นอีกประเด็นสำคัญ และสุดท้าย การลงทุนของผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอีโคซิสเต็มส์ ควรจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้ใช้บริการในด้านความปลอดภัย และการใช้งานที่ง่ายไม่ซับซ้อน