ทัพ “รถจีน” ลงทุนอีวีแสนล้าน ลุ้นรัฐบาลใหม่ต่อแพ็กเกจ

BYD

เทรนด์ EV แรงไม่ตก น้องใหม่แบรนด์จีนดาหน้าปักหมุดลงทุนในไทย หลังปล่อย 4 ทัพหน้า “MG-เกรท วอลล์-BYD-Neta” นำร่องกวาดลูกค้ากันคึกคัก ล่าสุด “กว่างโจ ออโต” ทุ่มเกือบหมื่นล้านสร้างศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในระดับอาเซียน เล็งทำเลพื้นที่ EEC จับตาน้องใหม่ “จิลลี่-ฉางอัน-เฌอรี่” พร้อมเสียบแพ็กเกจสนับสนุนรถอีวีที่กำลังจะขยายระยะเวลา บีโอไอโชว์ตัวเลขลงทุนกิจการยานยนต์ไฟฟ้ารวมกว่า 1.14 แสนล้านบาท

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งมากสำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราที่ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐและความหลากหลายของโปรดักต์ โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่นำร่องมากวาดลูกค้าชาวไทย ทั้ง MG, ORA จากค่ายเกรท วอลล์, BYD และ Neta โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ยอดจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมาสูงเกือบ 4.5 หมื่นคัน

ในขณะที่บีโอไอโชว์ตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, ชิ้นส่วนสำคัญและสถานีชาร์จ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 114,000 ล้านบาท แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.การผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามูลค่าเงินลงทุน 8.6 หมื่นล้านบาท 2.การผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า 2.3 หมื่นล้านบาท และ 3.กิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เม็ดเงินลงทุน 9.6 พันล้านบาท

รถ EV โตไม่หยุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 ว่า มีโอกาสที่ขยายไปแตะระดับ 50,000 คัน จากปี 2565 ที่ขายได้ประมาณ 1.2 หมื่นคัน แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันจะมีสัดส่วนเพียง 5.8% ของภาพรวมตลาดรถยนต์ทั้งประเทศ 9 แสนคัน แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนรวมทั้งเทรนด์ในประเทศและทั่วโลกในการใช้พลังงานสะอาด มาตรการภาครัฐที่สนับสนุนผ่านส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุน ทำให้ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้ ในงานมอเตอร์โชว์ 2023 ที่ผ่านมา รถ EV ยังได้สร้างปรากฏการณ์น่าทึง มียอดจองเฉียดหมื่นคัน นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) รองประธานจัดงานมอเตอร์โชว์ เปิดเผยว่า 12 วันในงานถือว่าประสบความสำเร็จตามคาด มียอดจอง 45,983 คัน แบ่งออกเป็นยอดจองรถยนต์ 42,885 คัน ที่เหลือเป็นจักรยานยนต์ และสามารถแยกประเภทรถ EV ได้ถึง 9,234 คัน คิดเป็น 21.53% จากยอดจองทั้งหมด

จับสัญญาณบวก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของรถ EV มีสัญญาณบวกหลายด้าน เริ่มจากสถานการณ์การขาดแคลนชิปในการผลิตเริ่มคลี่คลายขึ้นตามลำดับ ทำให้โอกาสส่งมอบรถยนต์ทำได้ดีขึ้น อีกประเด็นคือค่ายรถต่างส่งสัญญาณบุกตลาดมากขึ้นในบ้านเรา ไม่ว่าจะจากจีน ตะวันตก ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้ โดยเตรียมเปิดตัวรถ EV รุ่นใหม่ในไทยปีนี้หลายรุ่น หลายเซ็กเมนต์ ตั้งแต่รถยนต์นั่งไปจนถึงรถปิกอัพ ซึ่งจะทำให้มีตัวเลือกรถ EV มากขึ้นในตลาด

และอีกปัจจัยคือยอดขายรถ EV ในจีนตกต่ำลงมาก ทำให้จีนมีโอกาสส่งออกมาทำตลาดในไทยแทนมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลกลางจีนไม่ต่ออายุมาตรการให้เงินอุดหนุนในการซื้อรถ EV ทำให้ตอนนี้หลายแบรนด์ทยอยเข้ามาลงทุนในบ้านเรา

กว่างโจว ออโต้ มาเต็มสูบ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ปลายเดือนที่ผ่านมานายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับนายเซียว หยง รองประธานบริษัท บริษัท กว่างโจว ออโต้ คอร์ปอเรชั่น (GAC AION) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของจีน โดยระบุว่า GAC AION ให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย เพราะรัฐบาลไทยสนับสนุน ทั้งทำการตลาดและส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ที่สำคัญตอนนี้ไทยเสมือนเป็นผู้กำหนดทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ EV ในอาเซียน ดังนั้น หากทาง GAC AION เข้ามาลงทุนจะทำให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในระดับอาเซียน และเกิดการยอมรับไปทั่วโลกมากยิ่งขึ้น

กว่างโจว ออโต้ ใช้เวลาเพียง 5 ปีสามารถก้าวขึ้นเป็น Top 3 ของตลาดรถ EV ในประเทศจีน มีลู่ทางการทำตลาดและเทคโนโลยีที่โดดเด่น ซึ่งได้แจ้งกับทาง GAC AION ไปแล้วว่า ประเทศไทยมีศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ มีบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำระดับโลกถึง 17 แห่ง มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC กว่า 40 แห่ง

ซึ่งนายเซียว หยง กล่าวว่า พร้อมที่จะมาลงทุนในไทยแต่อาจต้องหาผู้ร่วมลงทุน โดยจะเป็น GAC AION ถือครองสัดส่วนในจำนวนที่มากกว่า และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี นอกจากการตั้งโรงงานการผลิตรถ EV แล้ว ยังขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย ต้องการใช้พื้นที่ตั้งโรงงานประมาณ 500 ไร่ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นราว ๆ 1,300 ล้านหยวน หรือประมาณ 6,400 ล้านบาท

ลุ้นขยายเวลาส่งเสริมรถ EV

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าช่วงปลายรัฐบาลชุดที่แล้วก่อนยุบสภาผู้แทนราษฎร ทางบอร์ดอีวีได้หารือกันถึงมาตรการส่งเสริมเพื่อดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถ EV จากฝั่งยุโรปและอเมริกา รวมถึงเปิดช่องให้แบรนด์จีนรายใหม่ ๆ ที่ตกขบวนเข้าร่วมโครงการไม่ทันสามารถเข้าร่วมได้ โดยเตรียมออกมาตรการ EV3 พลัส ต่อจากมาตรการ EV 1 ซึ่งแจกเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท (ซื้อรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) มอเตอร์ไซค์ 1.8 หมื่นบาท (ราคาไม่เกิน 1.5 แสนบาท)

มาตรการ EV2 ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีผู้ผลิตปิกอัพ EV ในประเทศ อัตราสรรพสามิต 0% (หมดเขตปี 2566) และหรือผลิตปี 2567-2568 ได้ส่วนลดชิ้นส่วนพร้อมอากรขาเข้า 0% และมาตรการ EV3 สนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่วงเงินหลายหมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการ EV3+ น่าจะเริ่มได้ภายในต้นปี 2567 และมาตรการนี้น่าจะต้องมีผลไปถึงการขยายเวลาส่งเสริมการแจกเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับรถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และจักรยานยนต์ 1.8 หมื่นบาท สำหรับรถราคาไม่เกิน 1.5 แสนบาท ซึ่งจะหมดระยะเวลาส่งเสริมภายใน 2566 นี้

เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society) ภายใต้นโยบาย 30@30 ที่กำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV (EV Hub) มียานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ส่วนจะต่อเวลาไปนานแค่ไหนต้องรอลุ้นรัฐบาลชุดใหม่

จับตาแบรนด์จีนมาอีกลอตใหญ่

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าวว่า กระแสและความต้องการรถ EV ในไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบีโอไอมั่นใจกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะผลิตรถ EV ได้ถึง 700,000 คัน หรือคิดเป็น 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 แน่นอน ซึ่งในปี 2566 นี้จะมีค่ายรถ EV จีนแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดในบ้านอีก 3-4 ราย อาทิ ฉางอัน, จิลลี่ ซึ่งมีแบรนด์ในเครือเยอะแยะ ทั้งวอลโว่, โลตัส, โปรตอน ฯลฯ

ขณะที่แบรนด์เฌอรี่ ซึ่งล่าสุดเคลื่อนไหวในตลาดเยอะ รวมถึงชักชวนเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อมวลชนไปชมโรงงานมณฑลอันฮุย ในประเทศจีน รวมทั้งอวดโฉมความยิ่งใหญ่ของแบรนด์ในงานเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์โชว์ 2023 ระหว่างวันที่ 18-27 เมษายนนี้ และเกือบทุกแบรนด์มีแผนดึงโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และดำเนินการสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยด้วย