โรดแมปขึ้นเบอร์ 3 ฟาสต์ฟิต Auto Clik ชู “เซอร์วิสนำโปรดักต์”

ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์
ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดฟาสต์ฟิตที่น่าจับตาไม่น้อย สำหรับ ออโต คลิก Auto Clik ธุรกิจที่เริ่มต้นจากตลาดหัวเมืองในเขตจังหวัดที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับเบอร์ต้นของประเทศอย่าง ภูเก็ต

จากจุดเริ่มต้นของความปรารถนาที่ต้องการ ส่งต่อบริการมาตรฐานที่เหนือระดับให้กับผู้ใช้รถยนต์ทุกยี่ห้อ ทุกเเบรนด์ ได้มีโอกาสสัมผัส

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG ผู้ริเร่มและปั้นแบรนด์ Auto Clik เพื่อท้ารบกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ พร้อมปักหมุดการขึ้นเบอร์ 3 ด้วยความท้าทายที่ผลประกอบการแตะระดับ 1,000 ล้านบาท ได้ไม่ยาก อะไรคือความมั่นใจ กับจังหวะของการก้าวแต่ละสเต็ป

ธุรกิจใหม่แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่

ธุรกิจเดิม เราทำ ศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อชั้นนำมากว่า 30 ปี แต่สำหรับ ออโต คลิก เป็นธุรกิจใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเดิมที่เราสามารถทำได้ดีในธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์

แต่ปัญหาคือ ทำอย่างไร เราอยากนำเสนอและถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ให้กับลูกค้าทุกแบรนด์ ให้ลูกค้าทั่วไปได้เข้าถึง ตรงนี้คือที่มาของการเข้ามาทำ ออโต คลิก

ปีหน้าทะลุ 30 แห่ง

ในส่วนของเป้าหมายการขยายเพิ่มสาขา “ออโต คลิก” ในปีนี้ เราตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 20 สาขา ให้ได้

ส่วนปีหน้า หรือ 2567 นั้น ตามแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 10 สาขา รวมเป็น 30 แห่งทั่วประเทศ

จากปัจจุบัน ออโต คลิก กำลังจะมีสาขาที่ 12, 13 และ ฯลฯ ตามมา

“ภานุมาศ” ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมในธุรกิจ โมเดิร์นเทรด-ฟาสต์ฟิต แบรนด์ไทย นั้นจะเห็นได้ว่ารายใหญ่เบอร์หนึ่งของตลาดมี สาขามากถึง 200 กว่าแห่ง

ขณะที่เบอร์สอง มี 100 กว่าสาขา ส่วนเบอร์สาม ลงมาอยู่ที่หลักสิบ ส่วนเบอร์สี่, ห้า ก็จะลดหลั่นกันไป

“ออโต้ คลิก” ไต่จากท้ายตารางในฝั่งโมเดิร์นเทรด ก้าวขึ้นมาเรื่อย ๆ วันนี้เราอยู่ในอันดับที่ 5 หรือ 6 และเมื่อวันที่เราขึ้นระดับ 30-40 สาขา อันดับก็จะเปลี่ยนไปอยู่ที่ 4 หรือที่ 3 ด้วย

ความท้าทายอีกอย่างที่เราต้องการจะพุ่งชน คือ ในปี 2568 ออโต คลิก จะเป็นขึ้นเป็นเบอร์ 4 หรือ 3 ของตลาดฟาสต์ฟิตให้ได้

ออโตคลิก

เซอร์วิสนำโปรดักต์

การแข่งขันในธุรกิจนี้ถือว่า มีข้อดีคือการที่ผู้บริโภคเป็นผู้เลือก ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของธุรกิจ หากธุรกิจไม่มีการแข่งขันนั้นหมายถึงการ “ผูกขาด”

จริง ๆ จะเห็นว่าธุรกิจที่สำเร็จในโลกนี้ เขาไม่โฟกัสไปที่ “ราคา” แต่จะโฟกัสไปที่ นวัตกรรม, การบริการที่ดี, การตอบสนองความพอใจลูกค้า และการเข้าถึงความต้องการของลูกค้า

ออโต คลิก มุ่งนำเสนอการบริการลูกค้าในเรื่องที่มากกว่า ใช้บริการนำหน้าสินค้า ดังสโลแกนของเราคือ “จ่ายหลักร้อย รับบริการหลักหมื่น” เมื่อเข้ามาในร้านจะเห็นการออกแบบและตกแต่งสถานที่ ซึ่งถือว่าดีกว่าศูนย์บริการรถยนต์บางยี่ห้อ

เมื่อเข้าใช้บริการ Auto Clik แก้ปัญหาเรื่องที่น่าเบื่อที่สุด และเกิดข้อพิพาทมากที่สุดสำหรับการซ่อมรถ คือ “ขั้นตอนคำสั่งซ่อม” Auto Clik เราใช้แท็บเลตในการรับเรื่อง ใช้กระบวนการดิจิทัลเข้ามารองรับ สุดท้ายการส่งใบเสร็จก็เป็น e-Tax แล้ว

เมินสงครามราคา

สำหรับการแข่งขันจะมีข้อสังเกตที่ว่า “รายที่ขายบริการดีที่สุด ด้วยราคาสินค้าที่ถูกที่สุด เป็นรายที่ใหญ่ที่สุด”

“ส่วนรายที่ขายถูกที่สุด ไม่ใช่รายที่ใหญ่ที่สุด” ดังนั้น “ความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาอย่างแน่นอน”

กลยุทธ์ที่ Auto Clik นำมาใช้ เรามองเรื่องของ “การบริการ” นำหน้า เพราะปัญหาของธุรกิจซ่อมรถที่ถือเป็นปัจจัยที่ลูกค้าต้องคำนึงถึงอยู่มาก ในการใช้บริการคือ “ความน่าเชื่อถือ” เพราะการซ่อมรถเป็นธุรกิจที่ สคบ.ควบคุม

เพราะฉะนั้น หากเราไปเข้าอู่เล็ก จะไม่มีขั้นตอนพวกนี้ และมักจะจบด้วยเรื่องของ “ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน” ระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

ขณะที่ศูนย์รถยนต์นั้น ออโต คลิก หรือฟาสต์ฟิตนั้นแทบจะแยกออกจาก ศูนย์บริการรถยนต์ชัดเจน เนื่องจากศูนย์บริการรถยนต์ส่วนใหญ่ให้บริการรถยนต์ที่อายุ 4-5 ปีเท่านั้น ส่วนที่เกินจากนี้จะออกมาใช้บริการข้างนอก

แต่หากจะต้องเข้ามาแข่งขันกัน แน่นอนว่าหากเข้ามาที่ ออโต คลิก สถานที่ใกล้เคียงกัน ราคาดีกว่า ที่สำคัญเวลารวดเร็วกว่า

เรามีประสบการณ์การทำศูนย์รถยนต์มา Auto Clik เรารู้ว่าการให้บริการที่เหนือกว่านั้นทำอย่างไร

เพิ่มเซอร์วิสรถ EV

การบริการหลัก ๆ แบ่งออกเป็น 1.ยางรถยนต์ 2.ระบบช่วงล่าง 3.ระบบของเหลว และ 4.ระบบแอร์

และหากรถจะเข้าสู่ยุค EV Auto Clik ก็จะต้องเพิ่มไอเท็มเกี่ยวกับ EV เข้ามาด้วยในอนาคต

เราเข้าใจลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเวลาจะมีค่า ดังนั้นงานส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่การทำให้งานลูกค้าเสร็จได้อย่างรวดเร็ว

บางครั้งเราไปเข้าอู่ใหญ่ ที่จะต้องรอทำเรื่องง่าย ๆ แต่ต้องเสียเวลานาน ๆ นอกจากเวลาที่เราต้องสูญเสียไป

ลักษณะอู่แบบนี้คืออู่ซ่อมรถยนต์ที่ไม่ใช่ศูนย์บริการ ซึ่งในตลาดข้างนอกมีอยู่หลากหลายกลุ่ม แต่ถ้าเราโฟกัสที่ “ยางรถยนต์” นำหน้า เพราะในตลาดทดแทน ถึง 10 ล้านเส้น โดยแบ่งเป็นกลุ่มโมเดิร์นเทรด ที่มีแบรนด์ 30% ส่วนอีก 70% คือร้านยาง ทั้งดีลเลอร์ แฟรนไชส์ ของโออีเอ็มหลายยี่ห้อ ที่มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการรายเดียว

ในสองกลุ่มนี้ดูคล้ายกับจะมีกลุ่มลูกค้า แต่แยกวิธีการบริหารออกจากกันอย่างชัดเจน มีการพัฒนาการของตัวเอง

และการที่ ออโต คลิก มีการบริการที่ดี การบริหารจัดการที่ดี การรักษามาตรฐานการบริการ ดูแลและติดตามลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

และมีระบบจุดคอนแท็กต์ที่ลูกค้าเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ที่ดีกว่า และแน่นอนว่าย่อมจะไปได้ดีกว่าในอนาคต

ตลาดยังมีช่องว่าง

จริง ๆ มันมีอยู่ 2 แนวคิดหลัก คือ

1.ไปให้ทั่วกระจาย 2.ไปเป็นกลุ่ม ย้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รถยนต์ในประเทศไทยมี 20 กว่าล้านคัน รถที่กลับเข้าศูนย์มีแค่ 4-5 ล้านคัน อีก 15 ล้านคัน วิ่งอยู่กระจายในทุกที่ ตลาดยังมีช่องว่าง

ทำให้เกิดคำถามว่า ออโต คลิกจะไปที่ไหน ? เราก็ไปที่มี “ประชากรรถยนต์” ที่มียอดจดทะเบียนรถยนต์เยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ, ชลบุรี, เชียงใหม่, หาดใหญ่, นครราชสีมา

เมื่อเข้าไปตรงนี้ การสร้างการรับรู้กับแบรนด์ถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างภูเก็ต เราเปิดไปแล้ว 2 ที่ สาขาแรกไม่มีใครรู้จัก แต่พอสาขาที่ 2 คนรู้จักเต็ม ส่วนสาขาที่ 3 รู้ก่อนจะเข้ามา ที่เชียงใหม่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน

ส่วนในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ใหญ่ “เราต้องใช้เวลา” เข้าไปย้ำให้เกิดการรับรู้ชื่อเสียง แล้วไปต่อ

หากเข้าไปในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก ผลการดำเนินงาน ศักยภาพต่ำ ย่อมต่อสู้แข่งขัน หรือพูดง่าย ๆ คือ “ตลาดไม่ใหญ่พอ” นั่นเอง

ดังนั้น ออโต คลิก จึงเลือกเข้าไปในกลุ่มที่มีศักยภาพเป็นจุด ๆ

แชลเลนจ์ยอดขายพันล้าน

ในวันที่เราทำธุรกิจผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ เป้าหมายเราคือไม่ได้ต้องร่ำรวยที่สุด แต่เราต้องการเป็นศูนย์รถยนต์ที่ดูแลลูกค้าดีที่สุดในประเทศไทยของศูนย์บริการรถยนต์

วันนี้เราเดินเข้าสมรภูมิฟาสต์ฟิต เราต้องการส่งต่อการบริการที่ดี ๆ ให้แก่ลูกค้าทุกระดับ ทุกยี่ห้อ และการที่เราจะเดินไปสู่ตรงนั้น เราได้ทำอะไร อย่างที่บอกเสมอครับ “จ่ายหลักร้อย รับบริการหลักหมื่น”

ด้วยบริการนำหน้าสินค้าเสมอ เมื่อเราเดินไปได้เรื่อย ๆ จาก 1 ไป 2, 3, 4… จาก 10 ไป 20 ไป 30 เราก็เชื่อว่าเราจะมียอดระดับ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แล้วหลังจาก 1,000 ล้านจะไปอยู่ตรงไหน จะมีการดิสรัปต์ของธุรรกิจ เราไม่เชื่อว่าร้านขายของชำจะมีรายเดียวเป็นหมื่น จากหน่วยเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่น