เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง ห้าง-คอนโดแห่ตั้งจุดชาร์จ

“รถยนต์ไฟฟ้า-ปลั๊ก-อิน ไฮบริด” มาแรง บริษัทรับติดตั้งสถานีชาร์จเผยค่ายรถ-ห้างดัง-โครงการอสังหาฯแห่ติดตั้ง เตรียมขึ้นโรงงานผลิตอุปกรณ์ประจุไฟฟ้าในไทย ดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่ายรถยนต์ไทย/เทศขน “รถอีวี-ไฮบริด” เข้างานมอเตอร์โชว์ “อีเอ” โชว์รถต้นแบบ “อีวีเมดอินไทยแลนด์”

นายณรัตน์ไชย หลีระพันธ์ ประธานบริษัท โพลีเทคโนโลยี จำกัด ผู้ให้บริการระบบบริหารและจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความสนใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งบริษัทเป็นรายแรกของไทยที่ทำตลาดสถานีชาร์จเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และเป็นตัวแทนจำหน่าย Greenlots ระบบบริหารและจัดการสถานี และ EFACEC ที่ผ่านมาได้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้ว 59 หัวชาร์จ ปีนี้จะติดตั้งเพิ่มเป็น 160 หัวชาร์จ

รถยนต์ยี่ห้อ BYD รุ่น e6 ที่ ถูกนำมา เป็นรถแท็กซี่ไฟฟ้า

กลุ่มลูกค้าจะมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เช่น บีเอ็มดับเบิลยู กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) และกลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ทั้งยังร่วมมือกับผู้แทนจำหน่ายรถยนต์วอลโว่และรถยนต์ปอร์เช่ในไทยในการเข้าไปสำรวจลูกค้าทั้งรายเก่ารายใหม่ และเป็นพันธมิตรติดตั้งหัวชาร์จไฟฟ้าให้ลูกค้า เพื่อให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย เชื่อว่าจะมีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดูจากการจัดงานมอเตอร์โชว์ปีนี้ก็ชี้ได้ว่า รถไฟฟ้าจะได้รับความนิยมหรือไม่

อีกทั้งอนาคตจะมียานยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากขึ้นในราคาที่ลดลงจากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และประเทศจีนที่ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 20% ทำให้ราคาถูกลง หากยานยนต์ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นบริษัทวางแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมเงินทุนขยายธุรกิจ ส่วนการก่อสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้าขึ้นในไทย ปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้ว 50 ล้านบาทถ้ามีการก่อสร้างโรงงานร่วมกับ EFACEC ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยล้านบาท เพื่อรองรับตลาด EV ทั่วภูมิภาค

“รถยนต์ไฟฟ้ามาแน่ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในระดับที่คุ้มค่าให้ลงทุนสร้างโรงงานได้หรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ตลาดอีกครั้ง ว่าการปรับตัวด้านยานยนต์ไฟฟ้าทั้งตลาดโลกและในไทยจะเป็นอย่างไร เราก็เตรียมความพร้อมไว้ และมีพาร์ตเนอร์อย่างบริษัท Greenlots ที่ดูแลระบบซอฟต์แวร์และบริษัท Efacec ผู้ผลิตอุปกรณ์การชาร์จรถยนต์จากโปรตุเกสที่ได้มาตรฐานครอบคลุมรถทุกประเภทตั้งแต่ระดับ Home Charge 3.7 KVA ไปจนถึง Ultra Fast Charge 350 KWh ซึ่งชาร์จเต็มภายใน 15 นาที”

รัฐไฟเขียวบวกเพิ่มค่าไฟ

สำหรับไฟฟ้าที่จำหน่ายตามสถานีชาร์จไฟ ขณะนี้ซื้อจากระบบปกติจากการไฟฟ้าฯมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 3 บาทกว่า/หน่วย และมีแนวโน้มจะให้บวกเพิ่มค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าเช่าที่หรืออุปกรณ์ติดตั้งเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน การชาร์จไฟฟ้าในสถานีชาร์จมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น แอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่เช็กที่ตั้งสถานีชาร์จ เก็บค่าใช้จ่าย และมีบัตรสมาชิกไว้สำหรับชำระค่าบริการในการชาร์จได้ด้วยโดยค่าชาร์จไฟฟ้าจะเริ่มต้นอยู่ที่ 40-50 บาท/ชั่วโมง คาดว่าในอนาคตจะพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับต้นทุน เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากการพัฒนาของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้เองเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้าจากระบบลดลงถึงร้อยละ 30 ภาครัฐจึงต้องมีการส่งเสริมให้ใช้ไฟฟ้าจากระบบมากขึ้น และยานยนต์ไฟฟ้าจะขยายการบริโภคไฟฟ้าที่สำคัญ

รถปลั๊ก-อิน ไฮบริดยังแรง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานบรรยากาศของการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 39(28 มี.ค.-8 เม.ย.) พบว่าไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจอยู่ในกลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงาน ทั้งรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

นายไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ความต้องการใช้รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดของลูกค้าชาวไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้จะมีสัดส่วนถึง 50% ของยอดขายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ปัจจุบันบริษัทมีรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดเกือบ10 รุ่น และในงานมีรถยนต์ในซี-คลาสและอี-คลาสเป็นเครื่องยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดด้วย

เช่นเดียวกับนายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากยอดขายช่วงที่ผ่านมาเป็นรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดเพิ่มขึ้นถึง 269% มีสัดส่วนยอดขาย 13% ของยอดขายรวม 10,020 คัน หรือกว่า1,300 คัน เป็นผลมาจากการขึ้นไลน์ประกอบรถประเภทนี้ในประเทศถึง 4 รุ่นคือ ซีรีส์ 3, 5, 7 และเอ็กซ์ 5 ที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทำให้ทำราคาจำหน่ายดีขึ้น ประกอบกับเป็นเทคโนโลยีที่ลูกค้าให้การยอมรับ

ฮอนด้า คลาริตี้ ฟิวเซลล์ รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง ที่สุดแห่งเทคโนโลยียานยนต์ที่ปราศจากไอเสีย นับเป็นรถฟิวเซลล์แบบซีดาน 5 ที่นั่งคันแรกของโลก

รถ “อีวี” โชว์เกลื่อนมอเตอร์โชว์

เริ่มที่ค่าย “นิสสัน” นำรถยนต์ไฟฟ้า100% อย่าง “นิสสัน ลีฟ” เจเนอเรชั่น 2มาโชว์ โดยนายอันตวน บาเตส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ประกาศว่า นิสสันพร้อมทำตลาดรถยนต์อีวีในปีงบประมาณ 2561

ส่วนค่ายฮอนด้ามีเพียงรถยนต์ไฮบริด และนำรุ่น “คลาลิตี้” ที่ใช้แพลตฟอร์มเดียวกันแต่มีให้เลือกทั้งปลั๊ก-อินไฮบริด, ไฮโดรเจน และอีวีมาโชว์ ขณะที่ ”

 

“ไมน์” ส่งรถอีวี ไทยแลนด์

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรืออีเอ กล่าวว่า ได้นำรถยนต์ต้นแบบไฟฟ้าสัญชาติไทย 100% แบรนด์ “ไมน์” (MINE) 3 รุ่น คือ เอ็มพีวี อีวี, ซิตี้ อีวี และสปอร์ต อีวี มาแสดงในงานเพื่อรับฟังเสียงของลูกค้าสำหรับนำไปพัฒนา ก่อนจะขึ้นไลน์ผลิตจริง และจัดจำหน่ายในปี 2562 ในราคาที่จับต้องได้ อย่างรุ่นซิตี้จะขายไม่เกิน 6 แสนบาท ส่วนเอ็มพีวีไม่เกิน 1 ล้านบาท

EA เร่งผุดแท่นชาร์จ 1,000 จุด

นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ในเครืออีเอ กล่าวว่า ยอดรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริดในไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เชื่อว่าภายใน 3 ปี จะมีไม่น้อยกว่า 30,000 คัน จากปัจจุบันมีเกือบ 10,000 คัน จึงเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า จาก 600 ล้านบาท เป็น 800 ล้านบาท เพื่อการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า 1,000 สถานีทั่วประเทศ

“พื้นที่การติดตั้งนั้นจะเปิดรับเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน ที่สนใจนำเครื่องอัดประจุไฟฟ้าของบริษัทไปติดตั้งทั้งรูปแบบและสายไฟที่เหมาะสมกับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า เช่น ซีดีซี เลียบทางด่วนรามอินทรา ติดตั้งแล้ว 24 หัวจ่าย, ธนาคารไทยพาณิชย์ เฟสแรก 17 สาขา สถานีบริการน้ำมันซัสโก้ 30 แห่ง”

ฟอมม์ วัน -ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าขนาด 4 ที่นั่ง ราคา 664,000 บาท

ฟอมม์วันผนึก กฟภ.ลุยตลาด

นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า สัญชาติญี่ปุ่นฟอมม์ (FOMM) เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวรถยนต์อีวีฟอมม์วันพร้อมโปรโมชั่นพิเศษลดราคาเหลือ 599,000 บาท จาก 664,000 บาท ตั้งเป้ายอดขายไม่น้อยกว่า 2,000 คัน สำหรับในงานนี้ โดยจะทยอยส่งมอบได้ราวต้นปี ในเบื้องต้นคาดว่าภายใน 5 ปีหรือในปี 2566 จะมีการผลิตระดับ 50,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อรองรับในประเทศและตลาดส่งออกในสัดส่วนเท่ากัน โดยบริษัทมีความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำการตลาดร่วมกันด้วย

“ชาริช” ขนนวัตกรรมโชว์เพียบ 

นายอภิชาติ ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชาริช โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า เตรียมส่งมอบรถยนต์บีวายดี อี 6 ในโครงการ “แท็กซี่ วีไอพี”ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% ลอตแรก 100 คัน ใน ส.ค.นี้และในปีหน้าจะแนะนำรถแวนรุ่นที3 (T3) เข้ามาทำตลาดเจาะธุรกิจขนส่งอย่างดีเฮชแอล และเตรียมนำเสนอรถหัวลากแบบไฟฟ้า 100% เพื่อใช้ในสนามบิน และเปิดรับจองรถยนต์ไฟฟ้า “เทสล่าโมเดล เอ็กซ์” ภายใต้สเป็กรถจากฮ่องกง ราคาเริ่มต้น 6.78-11.39 ล้านบาท

มอเตอร์ไซค์รุกหนักไฮบริด-อีวี 

ค่าย เอ.พี.ฮอนด้าก็ได้มีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ ฮอนด้า พีซิเอ็กซ์ อิเล็คทริกและพีซีเอ็กซ์ ไฮบริด เพื่อนำมาช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับรถจักรยานยนต์ในกลุ่มพีซีเอ็กซ์ด้วย นอกจากนี้มีรถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า นิว (NIU) จากชาริช โฮลดิ้ง ถึง 2 รุ่น ได้แก่ รุ่น N1 เป็น Smart Electric Scooter ราคา 98,000 บาท อีกรุ่นคือ M1 มีขนาดเล็กกว่า ราคา 95,000 บาท มาจัดแสดงด้วย

Honda PCX Hybrid