วัลลภ ตรีฤกษ์งาม “ซูซูกิ พร้อมสำหรับพลังงานทางเลือก”

วัลลภ ตรีฤกษ์งาม
วัลลภ ตรีฤกษ์งาม
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ถือว่าได้ให้ภาพความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับทิศทางการทำตลาดและการขับเคลื่อนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น อย่างค่าย “ซูซูกิ” ในวันที่กระแสของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาตีตลาดในเมืองไทยอย่างชัดเจน

“วัลลภ ตรีฤกษ์งาม” รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงทัศนะและมุมมองให้เห็นภาพของการขับเคลื่อนระหว่าง “รอยต่อ” ทางเลือกของพลังงาน ทั้งเครื่องยนต์สันดาปไฮบริด จนไปถึง EV

Q : ความพร้อมของซูซูกิกับทิศทางพลังงาน

สำหรับนโยบายเรื่องการขับเคลื่อนพลังงาน หรือการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่ภาครัฐเองมุ่งเน้นให้เกิดการลงทุน และหนึ่งเทคโนโลยีที่ผลักดันต้องการคือการผลิต EV ซึ่งในมุมของนักลงทุนเองก็จะนำเสนอให้เห็นว่าการลดการปล่อยคาร์บอนยังมีความหลากหลาย ทั้งในส่วนของพลังงานไฮบริด (HEV) ปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) หรือแม้แต่แก๊ส จะเห็นว่าในหลายประเทศมีการพัฒนาช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านไอเสียได้หลายทาง

ล่าสุด ซูซูกิ ได้แนะนำรถยนต์ SUZUKI X7 Hybrid ที่เป็นเทคโนโลยีที่เราต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันและลดการปล่อยไอเสีย (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อนำเสนอให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกอื่น ๆ เพื่อนำเสนอให้กับผู้ใช้รถ EV เท่านั้น

Q : ต้องใช้เวลานานแค่ไหนเพื่อก้าวสู่ BEV

วันนี้ต้องยอมรับความพร้อมที่ก้าวผ่านไปสู่รถยนต์ BEV ของผู้บริโภคแต่ละคน ผู้ผลิตแต่ละราย หรือในแต่ละประเทศเอง มีความพร้อมที่แตกต่างกัน ในการก้าวข้ามผ่านไปสู่ BEV

ดังนั้นยังจะใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน สำหรับซูซูกิก็ศึกษาและมองเช่นเดียวกัน ว่าแต่ละคน สะดวกแบบไหน วันนี้ซูซูกิเองมี SUZUKI X7 Hybrid เป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์

Q : แต่ฐานลูกค้าซูซูกิยังเหนียวแน่น

เทคโนโลยีไฮบริดของซูซูกิ หลายคนบอกว่าไม่ใช่ระบบ Full Hybrid แต่เราเป็นระบบไมลด์ไฮบริด Mild Hybrid ที่ข้อดีอย่างหนึ่งคือหากแบตเตอรี่เสีย รถก็ยังสามารถใช้งานได้เหมือนเดิม ซึ่งเราก็มั่นใจในความเป็นไฮบริดของเราที่แบตเตอรี่ไม่มีปัญหาใด ๆ ซึ่งกลุ่มลูกค้าเดิมของเราก็ยังคงมีความเชื่อมั่นในการใช้รถน้ำมันและพอใจที่มีระบบไฮบริดเข้ามาในราคาที่จับต้องได้ และความมั่นคงในการเดินทางก็จะหันมาใช้รถคันนี้

วันนี้คนที่มีกำลังสามารถใช้รถไฟฟ้า เขาจะไม่มองรถใช้น้ำมัน แต่ถ้าคนที่ยังไม่พร้อม เขาก็จะมองและเลือกใช้รถน้ำมันอยู่ ถามว่าทางเลือกนี้มีองค์ประกอบอะไรบ้าง สำหรับซูซูกิ เรามีเรื่องของค่าบำรุงรักษาถูก ราคาที่เข้าถึงได้ ซูซูกิไม่ต้องการให้ราคาของรถเราเข้าถึงยาก สามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ นี่คือปรัชญาของซูซูกิอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถเห็นโครงสร้างราคาต่าง ๆ ได้ในทุก ๆ รุ่นไม่ว่าจะเป็นรุ่น SWIFT ERTIGA Carry ฯลฯ

Q : ความพร้อมของโรงงานต่อเทคโนโลยี Full Hybrid

Full Hybrid ยังไม่ใช่ตัวที่เราใช้ทำตลาด ในหลาย ๆ ที่ก็จะยังคงใช้น้ำมัน กับไมลด์ไฮบริด เพราะที่ซูซูกิใช้ในญี่ปุ่นก็ยังคงได้รับความนิยม ยอมรับว่ามันช่วยได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นถ้าจะมาผลิตในประเทศไทยแล้วส่งออกด้วยก็ต้องคำนึงว่าส่งไปที่ไหนบ้าง แล้วมีความคุ้มไหมกับการลงทุน

Q : พร้อมรับมือกับตลาดที่เปลี่ยนแปลง

แน่นอนว่าในปี 2568 กติกาการจัดเก็บภาษีจะเป็นลักษณะของการปล่อยค่าไอเสียเป็นสำคัญ ดังนั้น หากใครปล่อยไอเสียเป็น 0 ก็จะได้สิทธิประโยชน์ หรือส่วนลดผลประโยชน์ทางภาษีมากที่สุด ซึ่งหากเป็น 0 ก็คือ รถยนต์ไฟฟ้า (BEV)

แต่เป็นรถไฮบริด (HEV) หรือแม้แต่ไมลด์ไฮบริด (Mild Hybrid) ก็ยังมีค่า CO2 สูงขึ้นอีกเล็กน้อย ดังนั้น บริษัทแม่เองก็ต้องคำนึงว่าการผลิตรถรุ่นอะไรเหมสะสม และถ้าผลิตก็ต้องคิดต่อจะสามารถส่งไปยังประเทศอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการให้สอดคล้องประเทศนั้น ๆ ด้วย

Q : ญี่ปุ่นยังช้ากว่าจีนเยอะ

เราต้องให้ความเป็นธรรมค่ายรถญี่ปุ่นในภาพรวมไม่ใช่แค่เราทำธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 50-60 ปี ถ้าเปรียบเหมือนตึกขนาด 50-60 ชั้น จะมีฐานรากที่ใหญ่มาก การจะปรับเปลี่ยนสักอย่างมันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ขณะที่ค่ายที่มาใหม่ที่ไม่ได้มีรากฐานมาก่อน ยังเหมือนมาตอกเสาเข็มใหม่ คุณจะออกแบบอย่างไรก็ได้ แต่เราคิดว่า ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป ก็ต้องเดินตามนโยบายที่บริษัทแม่กำหนดอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทแม่ทุกที่จะมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง ถูกใจหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง

Q : การแข่งขันด้วยราคาจะมากขึ้น

ซูซูกิไม่ได้อยู่ในตลาดคนเดียว เราได้ศึกษาและมองเห็นสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจว่าเป็นอย่างไรบ้าง “สงครามราคา” เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ซูซูกิไม่เชื่อว่าการขายแบบแย่งกันให้ราคาถูกเป็นเรื่องที่ดีกับธุรกิจ มันต้องเหลือกำไรบ้าง เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจในเรื่องต่าง ๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นทางเลือกคือการตั้งราคาที่โดดเกินไปก็ไม่สามารถขายได้ ซูซูกิก็มีประสบการณ์ขายได้โดยที่เรากำหนดไว้ตั้งแต่แรกมันก็เป็นไปได้ แต่ในวันนี้มันเปลี่ยนไป ธุรกิจมันเปลี่ยนไป และต้องดูกันยาว ๆ