ปลื้มไฮบริดตอบโจทย์ลูกค้า “โตโยต้า” รอเคลียร์คัตลุยตลาด “พริอุส”

“โตโยต้า” ประกาศรอเคลียร์ทุกอย่างชัดไม่เสี่ยงกลับมาทำตลาดพริอุส ยันกลุ่มรถ “ไฮบริด” ยังไปได้สวยทั้งซี-เอชอาร์ และคัมรี่ ลูกค้าตอบรับดีเกินคาดเฉลี่ย 2 พันคันต่อเดือน 

นายมิจิโนบุ ซึงาตะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพิพาทระหว่างโตโยต้ากับกรมศุลกากร เรื่องภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์โตโยต้า พริอุส ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาว่า โตโยต้าชนะคดีในศาลชั้นต้นเมื่อเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา แต่กรมศุลกากรได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งล่าสุดโตโยต้าได้ให้หน่วยงานด้านกฎหมายเตรียมยื่นแก้อุทธรณ์แล้ว คาดว่าผลการตัดสินคดีจะต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควร

“ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการตีความเรื่องการนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตรถยนต์โตโยต้า พริอุส ไฮบริด โดยกรมศุลกากรมองว่ามีจำนวนมากกว่าที่กำหนด สิ่งที่สำคัญมากสำหรับเรื่องนี้ก็คือความชัดเจน”

นายซึงาตะกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการทำตลาดพริอุสต่อไปในอนาคตหรือไม่ หากชนะคิดว่าทางบริษัทแม่ก็คงจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งว่าจะเหมาะสมทำตลาดต่อหรือไม่ ซึ่งทุกอย่างต้องรอความชัดเจน

“เรายืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือภาพลักษณ์ของกลุ่มรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันโตโยต้ามีรถยนต์ไฮบริด 2 รุ่นที่ทำตลาด คือซี-เอชอาร์ และคัมรี่ โดยเฉพาะซี-เอชอาร์ ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดที่บริษัทได้แนะนำออกสู่ตลาด และเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 2,000 คัน และในจำนวนนี้เป็นไฮบริดสูงถึง 80% ของยอดขาย”

นายซึงาตะกล่าวยืนยันว่า หากยังไม่มีความชัดเจนในวิธีปฏิบัติ และข้อกฎหมายของกรมศุลกากร โตโยต้าจะไม่เสี่ยงเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรได้แจ้งว่า โตโยต้ามีความผิดโดยชำระภาษีอากรไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้อากรและภาษีขาด ประกอบด้วยอากรขาเข้า 7,605 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 2,024 ล้านบาท ภาษีเพื่อมหาดไทย 216 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 1,822 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1.16 หมื่นล้านบาทซึ่งโตโยต้าได้มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า รุ่นพริอุส ตั้งแต่ปี 2553-2555 รวมแล้วมากกว่า 245 ครั้ง คิดเป็นรถยนต์มากกว่า 20,000 คัน ไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร จึงถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบเพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง คิดเป็นเงินมูลค่ามากกว่า 11,000 ล้านบาท และจากกรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้โตโยต้าต้องตัดสินใจยุติไลน์ผลิตรถยนต์พริอุสในประเทศไทยในที่สุด