ช็อปช่วยชาติยางรถยนต์ป่วน! ยักษ์ผู้ผลิตโวยแก้กฎร่วมแจม

แฟ้มภาพ

6 ค่ายยักษ์ผู้ผลิตยางรถยนต์ “กู๊ดเยียร์-มิชลิน-บริดจสโตน-ดันลอป-โยโกฮาม่า-คอนติเนนทอล” ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลวอนให้ผ่อนผันมาตรการช็อปช่วยชาติ ยันบริษัทยางรายใหญ่ใช้ผลผลิตยางภายในประเทศไทย 100% ชี้กฎหมายข้อกำหนดไทยไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ายางจากต่างประเทศมาใช้อยู่แล้ว “อภิศักดิ์” รมว.คลัง ยืนรัฐบาลไม่ปรับปรุงมาตรการภาษีช็อปช่วยชาติใหม่

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช็อป ช่วย ชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท โดยยางรถยนต์ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบและคูปองที่ กยท.ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ โดยเริ่มช็อปสินค้าได้ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2561 ถึง 16 มกราคม 2562

ทั้งนี้ คูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ประเภท 4 ล้อได้รับคูปอง 100 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน และคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยานประเภท 2 ล้อได้รับคูปอง 500 ใบต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน

“Maxxis-ดีสโตน-โอตานิ” ร่วม

ล่าสุดมีบริษัทที่ตกลงซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท.เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้ว เช่น บริษัท IRC Maxxis ND Rubber ดีสโตน และโอตานิ และยังมีบริษัทผู้ผลิตยางล้อในประเทศอีกหลายรายสนใจเข้าร่วมโครงการ เพื่อซื้อยางช่วยชาติ สามารถนำใบเสร็จหรือเอกสารสัญญาซื้อยางจากคู่สัญญาที่เป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.มาแสดงเพื่อรับคูปอง

นายเกริก วงศาริยวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีสโตน จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.แล้ว 1,000 ตัน และได้คูปองจาก กยท.เพื่อกระจายไปให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ 800 แห่ง ขั้นต้น 2.1 แสนใบ คาดว่าจะสามารถกระจายคูปองให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศได้ 3 แสนใบ

นายเอกชัย ลิมปิโชติพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทยางโอตานิจำกัด กล่าวว่า ปกติบริษัทจะซื้อยางโดยตรงจากสหกรณ์ต่าง ๆ อยู่แล้วเดือนละ 1,000 ตัน จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก ล่าสุด บริษัทได้คูปองจาก กยท. 6 หมื่นใบ คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการนี้จะกระจายคูปองไปให้ตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ 200 แห่ง 1 แสนใบ

ค่ายยางชงรัฐทบทวนเงื่อนไขใหม่

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตยางรถยนต์ไทย หรือ TATMA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคม ได้ แก่ กู๊ดเยียร์, มิชลิน, บริดจสโตน, ดันลอป, โยโกฮาม่า และคอนติเนทัล ไม่สามารถเข้าร่วมได้ มีเพียงบริษัท IRC Maxxis ND Rubber ยี่ห้อเดียวที่เข้าร่วม เนื่องจากมีเงื่อนไขกำหนดให้ผู้ผลิตต้องซื้อจาก กยท.เพื่อช่วยชาวสวนยาง และผลักดันให้ราคายางสูงขึ้นแต่ผู้ผลิตรายใหญ่ไม่ได้ซื้อยางจาก กยท. ซึ่งสมาชิกของสมาคมได้ยื่นเรื่องในนามของแต่ละบริษัทขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนเงื่อนไขดังกล่าวอีกครั้ง

เนื่องจากบริษัทเอกชนแต่ละรายใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างผ่านบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทย ด้วยวิธีการประมูล เพราะมีการกำหนดมาตรฐาน คุมคุณภาพของยางที่จะนำไปผลิต ซึ่งมีปริมาณความต้องการใช้แต่ละปีมหาศาล ประกอบกับกฎหมายและข้อกำหนดของไทยเองไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ายางจากต่างประเทศมาใช้ ผู้ผลิตยางรถยนต์จึงเสนอให้รัฐผ่อนปรนเงื่อนไขให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน

บีควิกชี้ลูกค้ามีแบรนด์ในใจ

ส่วนนางสาวบุศรารัตน์ อัสสรัตนกุล ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์บริการรถยนต์ บี-ควิก เปิดเผยว่า เมื่อมีการประกาศความชัดเจนออกมาว่า มียางรถยนต์ยี่ห้อใดสามารถเข้าร่วมเงื่อนไขดังกล่าวได้ ส่งผลให้ลูกค้าตัดสินใจเปลี่ยนยางรถยนต์เส้นใหม่ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ยางรถยนต์เป็นสินค้าที่ลูกค้ามี “แบรนด์” ในใจแข็งแรง และแบ่งกลุ่มตามความต้องการที่ชัดเจน ในส่วนของบี-ควิกมียางเพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมโครงการ คือยางยี่ห้อธันเดอร์เรอร์ของค่ายดีสโตน ส่วนยางรถยนต์ยี่ห้ออื่น ๆ ยังไม่เข้าร่วม

ส.ผู้ค้ายางเร่งให้ความรู้ผู้บริโภค 

ด้านนายสุกิจ ตันติสุวรรณนา เลขาธิการสมาคมผู้ค้ายางรถยนต์ กล่าวว่า มาตรการครั้งนี้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตยางต้องซื้อยางจาก กยท.เท่านั้น ทำให้ผู้ผลิตยางเพียงบางรายเท่านั้นที่เข้าเงื่อนไข และบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่สามารถร่วมโครงการได้ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนของข้อมูล และลูกค้าส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจรายละเอียด ซึ่งสมาคมได้หารือร่วมกับมาชิกที่เป็นร้านจำหน่ายยางกว่า 100 ร้านค้า เพื่อพยายามให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้บริโภคเพื่อลดความสับสน

คลังยันไม่ปรับมาตรการใหม่

ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แม้จะมีผู้เสนอให้ทบทวนเงื่อนไขโครงการนี้แต่รัฐบาลจะไม่ปรับปรุงมาตรการภาษีช็อปช่วยชาติใหม่แต่อย่างใด

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษีในฐานะโฆษกกรมสรรพากรชี้แจงว่า การจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดมาตรการจะต้องแก้กฎหมาย แต่มาตรการในปัจจุบัน หากบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ขนาดใหญ่เข้าไปซื้อยางจาก กยท.ก็มีสิทธิได้รับคูปองที่จะนำไปเป็นหลักฐานการลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว ภาครัฐให้สิทธิทุกรายเหมือนกัน ไม่ได้ปิดกั้น ตอนนี้มีความต้องการซื้อเข้ามาเป็นพันตันแล้ว ถือว่ามาตรการไปได้ดีพอสมควร

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!