10 ปีไทยฐานผลิตใหญ่รถอีวี จี้พัฒนาคนชิงเม็ดเงินก้อนโต

สถาบันยานยนต์ลั่น ปี 2573 ไทยขึ้นแท่นฐานผลิตยานยนต์สมัยใหม่ เฉียดครึ่งล้านคัน จ้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีสินค้ายานยนต์ทั้งระบบ

นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากเป้าหมายที่สถาบันยานยนต์ได้ตั้งไว้ว่า ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตรถยบนต์ 2.5 ล้านคัน แบ่งออกเป็นยอดส่งออก 1 ล้านคัน และขายในประเทศ 1.5 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้คิดเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 15% รถที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน 25% และ 60% เป็นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติและมีการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าของธุรกิจการผลิตยานยนต์ และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานยนต์สมัยใหม่ทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

“เราควรเร่งพัฒนาตนเองเพื่อช่วงชิงรายได้มหาศาลดังกล่าวเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด”

ทั้งนี้ ผลจากการประชุมรัฐภาคีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำหนดให้ทุกประเทศต้องส่งเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายฯ ดังนั้นในปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจึงมีมาตรการเพื่อลดความเข้มข้นการใช้พลังงานลง หนึ่งในนั้นคือมาตรการลดการใช้พลังงานในภาคขนส่ง โดยตั้งเป้าหมายใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทปลั๊ก-อินไฮบริด และประเภทแบตเตอรี่ รวมกัน 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ยังหมายรวมถึงยานยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งต่าง ๆ หรือยานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง รวมทั้งแนวโน้มการใช้งานยานยนต์ของผู้คนจะเปลี่ยนไปสู่การใช้ยานพาหนะร่วมกัน มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีนโยบายหรือแผนงานใด ๆ ที่ครอบคลุม เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ทั้งหมดนี้ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทั้งหมดมาใช้ได้ จะสามารถลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ความแออัดด้านการจราจร ลดอุบัติเหตุ และช่วยทำให้ผู้คนสามารถเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ สถาบันยานยนต์จึงมีแนวคิดจัดทำรายงานการวิจัยถึงทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย

โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ทำให้สถาบันยานยนต์ได้ภาพอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่สะท้อนจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการการเดินทางอย่างชาญฉลาด หรือที่เรียกว่า “smart mobility”

ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในระยะยาวที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ที่มีห่วงโซ่อุปทานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยการทำวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ มอเตอร์ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ยางล้อ และกลุ่มตัวถังที่ใช้วัสดุน้ำหนักเบา”

ผู้ทำการแทนผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ได้นำเสนอง 5 มาตรการเร่งด่วน และ 14 มาตรการต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดย 5 มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ (1) การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้ายานยนต์ทั้งระบบ ให้สอดคล้องกันภายใต้แนวคิด “สะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” (2) กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภค ทั้งที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน เพื่อสร้างตลาด

(3) ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการประจุไฟฟ้า (4) ยกระดับความสามารถการผลิตของผู้ประกอบการปัจจุบัน และการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมสำหรับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ งรวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้ และ (5) เตรียมบุคลากรที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ยานยนต์สมัยใหม่นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในด้านการเดินทางที่สะดวกสบาย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ในด้านธุรกิจยังมีมูลค่ามหาศาล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมและความร่วมมืออย่างแนบแน่นของทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์จะนำเสนอผลงานดังกล่าวต่อสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ หรือ “smart mobility” และก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงชั้นนำของภูมิภาคต่อไป