ทยอยส่งรถใหม่รีสตาร์ตธุรกิจ “โตโยต้า” นำร่อง-ห่วงไฟแนนซ์เพิ่มดีกรี

ค่ายรถรีสตาร์ตธุรกิจหลังรัฐคลายล็อกดาวน์ “โตโยต้า” กดคันเร่งส่ง “รีโว่-ฟอร์จูนเนอร์” ใหม่ กระทุ้งตลาดก่อนมอเตอร์โชว์เดือนหน้า “ซูซูกิ” ลุยเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ ดีลเลอร์ขายรถห่วงไฟแนนซ์ยังเข้มปล่อยสินเชื่อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานบรรยากาศการทำตลาดรถยนต์หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์หลาย ๆ ธุรกิจว่าเริ่มคึกคักมากขึ้น หลายยี่ห้อเริ่มมีกิจกรรม อาทิ มาสด้า จัดแคมเปญดึงลูกค้าที่อยู่บ้านมา 2 เดือนเต็ม ๆ ออกมาสัมผัสและทดลองขับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ปรากฏว่ายอดขายกระเตื้องขึ้นมา 2 วัน มียอดบุ๊กกิ้งเกือบ 1,000 คันค่ายนิสสันเปิดตัวขายออนไลน์ “คิกส์ อี-เพาเวอร์” ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา

หลังจากนั้น สัปดาห์เดียวนายราเมช นาราสิมัน ประธานใหญ่ ให้สัมภาษณ์ว่า ลูกค้าตอบรับดีมากด้วยเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่นิสสันจะยังยืนราคาขายเท่าเดิม เริ่มต้นที่ 889,000-1,049,000 บาท และถึงแม้ว่าตลาดจะหดตัวไป 30-35% มียอดขายแค่ 600,000-610,000 คันต่อปี แต่มั่นใจว่าปีนี้นิสสันมีส่วนแบ่งตลาด 7% แน่นอน

ล่าสุดค่ายโตโยต้าโดยนายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำคลอดไฮลักซ์ รีโว่ใหม่ มีให้เลือกถึง 40 รุ่นย่อย ราคาตั้งแต่ 5.4 แสนบาท-1.3 ล้านบาท และปิกอัพดัดแปลง (พีพีวี) ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ รุ่นพิเศษ Wisdom of a Leader ราคาค่าตัวตั้งแต่ 1.35 ไปจนถึงตัวท็อป 1.84 ล้านบาท ที่ผ่านมารถยนต์ทั้ง 2 รุ่นถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ IMV มียอดขายสะสมกว่า 2.6 ล้านคัน โดยปี 2562 รีโว่และฟอร์จูนเนอร์มียอดขายเป็นอันดับ 1 ครองแชร์ในตลาดรถกระบะ 38.3% และตลาดรถพีพีวี 43.4%

นอกจากนี้ จากการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ทำให้ค่ายรถยนต์มั่นใจว่ามอเตอร์โชว์ในเดือนกรกฎาคมนี้น่าจะจัดได้แน่ จึงได้เตรียมความพร้อมเปิดตัวรุ่นใหม่กันอย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่ายเอเอเอส ออโต้ เตรียมเปิดตัวพานาเมร่า รุ่นฉลองครบรอบ 10 ปี กลุ่มเอ็มจีซี-เอเชียของนายสัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ พร้อมเปิดตัวมาเซราติ ลาแวนเต้ โทรเฟโอ ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ตามมาด้วย คิงส์ออฟคาร์อย่างโรลส์-รอยซ์ คัลลิแนนแบล็ค เบิร์ด ส่วนแอสตัน มาร์ติน เล็งส่งรถเอสยูวีรุ่นใหม่ ดีบีเอ็กซ์ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ค่ายคาวาลลิโน มอเตอร์เปิดตัวเฟอร์รารี่ โรมา วันที่ 10 มิ.ย.เข้ามาสร้างสีสันในตลาด

ขณะที่เจ้าตลาดรถเล็กอย่างซูซูกิก็เตรียมเปิดตลาดเซ็กเมนต์ใหม่นำเข้าครอสโอเวอร์ ซูซูกิ เอ็กซ์แอล 7 เข้ามาทำตลาดในบ้านเราอีกรุ่น เช่นเดียวกับอีกหลายแบรนด์ก็เตรียมอัพเกรดผลิตภัณฑ์ไมเนอร์เชนจ์ทั้งฮอนด้า มิตซูบิชิ มาสด้า อีซูซุ เอ็มจี เพื่อสร้างความคึกคักในตลาดเพียงแต่สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือ การปล่อยสินเชื่อ แหล่งข่าวระดับบริหารดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่กล่าวว่า แม้ว่าค่ายรถยนต์จะมีโปรดักต์ใหม่ออกสู่ตลาด แต่ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น สถาบันการเงินหลายแห่งยังเข้มงวด ห่วงหนี้เสีย วันนี้คนอยากเป็นเจ้าของรถยนต์ยังยากอยู่ โดยเฉพาะปิกอัพ ซิตี้คาร์ และอีโคคาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาพที่สะท้อนการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ หอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยสถิติยอดขายรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมียอดขายทั้งสิ้น 40,544 คันเพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากเดือนเมษายนที่ขายได้ 31,378 คัน โตโยต้า 13,611 คัน, อีซูซุ 10,130 คัน, ฮอนด้า 1,178 คัน, มิตซูบิชิ 2,767 คัน, นิสสัน 2,767 คัน, มาสด้า 1,602 คัน, ซูซูกิ 1,425 คัน, เอ็มจี 1,402 คัน, ฟอร์ด 1,392 คัน, เชฟโรเลต 366 คัน และอื่น ๆ 1,000 คัน ขณะที่ยอดขายรวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ขายได้ 270,717 คัน เพิ่มขึ้น 39,275 คัน (หน้า 24, 23)