BOI ฟันธงจีนไม่หยุดลงทุน EV เร่งขยายแพ็กเกจปลื้มโรดแมปฮับอีวีเร็วขึ้น

บีโอไอมั่นใจทุนจีนเตรียมหอบเม็ดเงินลงทุนในไทยต่อเนื่อง หลังเกรทวอลล์ทุ่มแล้วกว่า 5 พันล้าน พร้อมเปิดแพ็กเกจลงทุนปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวียาว หวังผลดึงโนว์ฮาวผลิตแบตเตอรี่-มอเตอร์ให้ไทยเป็นฐานผลิตหลัก เชื่อแผน 30@30 หนุนรถยนต์ไฟฟ้าทุกระบบเร็วกว่าแผนเดิม 5 ปี

นายชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากค่ายรถยนต์จากจีน 2 ค่ายใหญ่ เอ็มจีและเกรทวอลล์ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั้น เชื่อว่าอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าจะมีค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนอีกหลายค่ายให้ความสนใจและเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และน่าจะทำให้รถยนต์กลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ซึ่งเอ็มจีได้ทำให้เห็นแล้วจากการแนะนำรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทออกสู่ตลาดประเทศไทย

ทั้งนี้ บีโอไอได้ประกาศส่งเสริมการลงทุนยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสาร และรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ขณะที่การส่งเสริมรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า รอบ 2 (รอบแรกสิ้นสุดลงเมื่อันที่ 31 ธ.ค. 2561) ภายใต้กรอบการลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม

“แพ็กเกจใหม่เราเน้นเรื่องของการผลิตแบตเตอรี่ในบ้านเรา ต่างจากแพ็กเกจแรกที่ไม่ได้กำหนด ซึ่งผู้ประกอบการก็จะใช้วิธีนำเซลส์เข้ามาแพ็กเอง แต่รอบนี้เราต้องการให้เกิดการผลิตแบตเตอรี่ทำเป็นโมดูลเลย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมทำตามเงื่อนไข หรือใครจะเลือกแบบใดก็สามารถทำได้”

นายชนินทร์กล่าวอีกว่า แพ็กเกจการลงทุนใหม่นี้ยังไม่ได้ระบุระยะเวลาของการปิดรับสมัคร เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของประเทศไทย ที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของรถทั้ง 2 ประเภทอย่างชัดเจน ทั้งนี้เชื่อว่าหลังจากเกรทวอลล์แล้ว อนาคตน่าจะมีค่ายรถยนต์จากจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 ราย

“ไทยจะต้องพยายามจับเทคโนโลยี 2 ตัวนี้ไว้ให้ได้ เนื่องจากถือเป็นหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า ที่สำคัญรถยนต์ประเภทนี้จะแตกต่างจากรถประเภทอื่นที่เราสามารถผลิตและส่งออกไปจำหน่ายได้ทั่วโลก แต่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าต้องไม่ลืมว่าเราจะผลิตและส่งออกไปจำหน่ายได้ยังประเทศที่มีระบบสาธารณูปโภครองรับ และยังต้องมีปัจจัยอื่น ๆ มาซัพพอร์ตค่อนข้างมากทีเดียว”

นายชนินทร์ยังเชื่อว่าจากนโยบายของ 30@30 ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น (2020-2022) ผลิตรถสำหรับรถราชการ รถสาธารณะ รถจักรยานยนต์สาธารณะ 60,000-110,000 คัน ระยะกลาง (2021-2025) จะผลักดัน ECO EV จำนวน 100,000-250,000 คัน และผลักดันสมาร์ท ซิตี้ บัส จำนวน 300,000 คัน ระยะยาว (2026-2030) ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประมาณ 750,000 คันนั้น หากผลักดันและส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค กระแสไฟฟ้า และสถานีชาร์จ ให้ได้ตามแผนงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค น่าจะทำให้ประเทศไทยไปถึงแผน 30@30 ได้เร็วกว่าเป้าหมายถึง 5 ปี คือ ในปี 2025

ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากปัญหาของจำนวนสถานีชาร์จที่มีไม่มากและต้องใช้เวลา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฝั่งของผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากเทคโนโลยีและโปรดักต์นั้นค่ายรถยนต์ต่างมีอยู่แล้ว รอเพียงแค่ดีมานด์เท่านั้น และ กฟภ.เข้ามาปลดล็อกตรงนี้อย่างจริงจัง น่าจะทำให้รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความแพร่หลายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บีโอไอยังอยู่ระหว่างของการศึกษารายละเอียด เพื่อเตรียมสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมรถบัส เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เกิดการผลิตและพัฒนาอย่างจริงจัง เช่น โครงการสมาร์ท ซิตี้ บัส ขสมก. หากสามารถดึงเข้ามาเพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพได้ ก็น่าจะเป็นโอกาสอันดีในอนาคตด้วย