โควิดระลอก 3 ป่วนตลาดรถยนต์ ลูกค้าทิ้งใบจอง-ชะลอรับรถ

จองรถ-ดูรถ-มอเตอร์โชว์

โควิดระลอก 3 ป่วนตลาดรถยนต์ฉุดกำลังซื้อ-ออร์เดอร์ใหม่ทรุด ลูกค้าชะลอรับรถ- ทิ้งใบจอง กลุ่มรถเก๋งหนักสุด ค่ายรถเร่งแผนรับมือหวั่นกระทบเป้าขายทั้งปี พลิกเกมบุกออนไลน์เต็มสูบ ผนึกไฟแนนซ์หามาตรการผ่อนปรน ระดมกำลังอุ้มดีลเลอร์ลดสต๊อกในโชว์รูม ขณะที่หลายค่ายเชื่อแค่เอฟเฟ็กต์ระยะสั้น เร่งส่งโปรดักต์ใหม่ลุยตลาดกลางปีนี้

ผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอก 3 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 และบานปลายมาตลอดทั้งเดือน จนทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการเข้มเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจรวมทั้งมู้ดการจับจ่าย

ทุบตลาดไตรมาสร่วง 3%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดรถยนต์ซึ่งกำลังเชิดหัวขึ้นอย่างสวยงาม หลังได้แรงเหวี่ยงจากอีเวนต์ใหญ่มอเตอร์โชว์ แต่ก็ไม่สามารถทะยานต่อเนื่องได้ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงานสถิติการขายรถยนต์ไตรมาสแรกทำได้ 194,137 คัน ลดลง 3% หดตัวลงเกือบทุกตลาด อาทิ รถยนต์นั่งขายได้ 65,256 คัน หดตัว 16.7% รถปิกอัพ 1 ตันขายได้ 84,438 คัน หดตัว 3.1% ขณะที่ตลาดอื่น ๆ ก็เติบโตขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น

ทิ้งใบจองชะลอรับรถพุ่ง 30%

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิดเที่ยวนี้ป่วนตลาดรถยนต์หนัก ทราฟฟิกลูกค้าเดินเข้าโชว์รูมตอนนี้หายไปเกือบทั้งหมด ออร์เดอร์ใหม่ทรุดฮวบ ที่น่ากังวลคือ มีลูกค้าจำนวนหนึ่งหรือประมาณ 30% ชะลอการรับรถ ซึ่งบริษัทแม่ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับดีลเลอร์มากขึ้น และสั่งการติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อพยายามปิดการขายและส่งมอบรถให้ลูกค้า

“มาสด้ายังต้องติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ทั้งการขายและการผลิต เราพยายามปรับการทำงานร่วมกับดีลเลอร์ ต้องหันไปเน้นช่องทางออนไลน์เกือบ 100% ส่วนการทำตลาดตอนนี้ส่วนกลางทำอะไรไม่ได้มาก โปรโมชั่นก็มีตลอด แต่มู้ดซื้อรถตอนนี้แทบไม่เหลือ เราพยายามช่วยเหลือดีลเลอร์ให้สต๊อกรถน้อยลง ปรับลดเป้าให้น้อยลงตามสถานการณ์ เพื่อให้ต้นทุนการทำตลาดต่ำลงและสามารถทำกำไรได้มากขึ้น”

แหล่งข่าวดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ในเขต กทม.และปริมณฑล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบโควิดเที่ยวนี้แรงมาก การหาออร์เดอร์ใหม่ ๆ ยากมาก แม้ว่าเซลส์ของบริษัทจะพยายามเข้าถึงลูกค้าทุกแพลตฟอร์ม อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก รวมถึงเพจของบริษัท แต่โควิดทำให้ทุกคนห่วงสุขภาพไม่ออกจากบ้าน

ที่กระทบหนักคือ ลูกค้าที่จองซื้อรถมาตั้งแต่งานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นเดือนเมษายน มีบางรายขอยืดเวลาการรับรถออกไปก่อน โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง และมีลูกค้าประเภทเอสเอ็มอี ซึ่งทำธุรกิจและได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มจากรัฐตัดสินใจทิ้งใบจองเลยก็มี

ผนึกไฟแนนซ์เพิ่มเงื่อนไขใหม่

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ลูกค้าซูซูกิขอยืดเวลารับรถเช่นเดียวกัน ถ้าจะให้คิดเป็นสัดส่วนการขายก็ประมาณ 25-30% แต่ซูซูกิพยายามแก้ปัญหา โดยประสานกับไฟแนนซ์กรณีที่ลูกค้าได้อนุมัติว่าจะมีหนทางช่วยเหลือ อาทิ ยืดระยะเวลาการมีอายุของสัญญาอนุมัติให้ยาวขึ้น หรือยืดหยุ่นเงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับรถได้

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ลูกค้าเอ็มจีชะลอรับรถมีราว ๆ 20% แต่บริษัทมองว่าเป็นเรื่องปกติ เวลามีวิกฤตหรือเหตุการณ์กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เอ็มจียังมองว่า รถยนต์ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการเดินทาง ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันนี้การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวถือว่ามีความปลอดภัยและจำเป็นอย่างยิ่ง

ค่ายรถยังไม่ปรับเป้าขาย

และล่าสุดแม้ว่าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จะประกาศปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ของไทยลง เช่นเดียวกับสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจภาคเอกชนที่พาเหรดปรับลดประมาณการกันไปก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวแค่ 2.3% ต่อปี ต่ำกว่าประมาณการเดิม ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด

แต่สำหรับผู้บริหารค่ายรถยนต์ยังเชื่อว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เดิมน่าจะทำได้ตามนั้น โดยมาสด้าตั้งเป้าไว้ที่ 45,000 คัน โต 15% ส่วนยอดขายรถยนต์ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 800,000 คัน โต 3-5% ขณะซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ยืนยันตามเป้าหมายเดิม 30,000 คัน ไม่ต่างจากเอ็มจี ที่เชื่อว่าเป็นผลกระทบในระยะสั้นและมั่นใจว่าเป้า 42,000 คันจะทำได้แน่นอน

ไม่เลื่อนแผนเปิดรุ่นใหม่

ผู้บริหารเอ็มจี เซลส์ ประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า แผนการรุกตลาดปีนี้ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม โดยในช่วงกลางปีนี้เอ็มจีจะเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากชมรมผู้จำหน่ายรถยนต์โตโยต้า กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ของโควิดรอบนี้ แตกต่างจากรอบก่อนอย่างชัดเจน ปีก่อนดูดีกว่าปัจจุบันค่อนข้างมาก ตอนนี้สถานการณ์โดยรวมของการซื้อขายรถยนต์เรียกว่านิ่งสนิทเลย ส่วนรถที่ขายได้ดีก็มีปัญหาการซัพพลายชิ้นส่วนไม่ได้ขาดแคลนชิป โดยเฉพาะรถโตโยต้า โคโรลล่า ครอส ที่กำลังได้รับความนิยม

ไม่ต่างจากดีลเลอร์ฮอนด้ารายใหญ่ กล่าวเสริมว่า ที่ลูกค้ายืดเวลารับรถเนื่องจากไม่ใช่การซื้อรถคันแรกที่มีความจำเป็นต้องใช้รถทันที และตอนนี้หลายคนยังทำงานที่บ้าน แต่ที่น่ากังวลตอนนี้คือ บริการหลังการขายหดหายไปกว่า 20% ดีลเลอร์คงต้องเรียกร้องให้บริษัทแม่เข้ามาช่วยเหลือด้วย

ซื้อรถผ่าน VDO Call

การปรับตัวของค่ายรถเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด แม้จะเป็นเรื่องใหม่ แต่เกือบทุกค่ายก็ประสบกับเหตุการณ์นี้มาระดับหนึ่งแล้ว ล่าสุดนายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาวดี้ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้เปิดบริการใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ “Chat & Shop” ลูกค้าสามารถปรึกษาทีมขาย และชมรถยนต์ออดี้รุ่นต่าง ๆ

ตลอดจนสามารถสอบถาม รับคำแนะนำ รวมถึงรายละเอียด สเป็ก เทคโนโลยี ไฟแนนซ์ และข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ ที่สำคัญบริษัทยังได้ขยายแคมเปญดอกเบี้ย 0% นานสูงสุด 3-7 ปี ไม่มีบอลลูน ไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ด้วย