เงินบาทอ่อน รถนำเข้าเจอ 2 เด้ง ขายรถไม่เหลือกำไร

บาทอ่อนกระทบรถนำเข้า 2 เด้ง ขายแทบไม่ได้กำไร

ค่ายรถยนต์นำเข้าครวญ ขายแทบไม่มีกำไร หลังเจอ 2 เด้ง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน-ภาษี

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยกรอบการเคลื่อนวันนี้คาดการณ์แนวรับที่ 32.75 บาท แนวต้านที่ 32.88 บาท

โดยมีปัจจัยมาจากการที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจปรับลดงบความปลอดภัยสังคมลงจาก 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.9-2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นายชาร์ล อีวานส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก้ระบุว่าการลดคิวอีอาจสิ้นสุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์มากนัก เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างมีการบริหารจัดการภายในและมีการประกันความเสี่ยงอยู่แล้ว

ที่สำคัญ รถยนต์ที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเป็นหลัก อย่างรถปิกอัพใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 90%, รถยนต์นั่งราว 60-70% ส่วนรถอีโคคาร์ 70-80% ค่าเงินที่อ่อนลงไป ยังถือว่าไม่ส่งผลกระทบใด ๆ แต่สำหรับรถยนต์นำเข้าอาจมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นและมีผลต่อราคาขาย

Advertisment

ขณะที่ นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ประธานบีอาร์จี กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมจากต่างประเทศ กล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องกระทบต่อการทำตลาดผู้ประกอบการรถนำเข้ามาก เพราะเท่ากับต้องซื้อรถในราคาที่แพงขึ้นกระทบไปถึงผู้บริโภค ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับทุกสกุลอ่อนมาก ไม่ว่าจะแลกกับยูโร, ปอนด์, เยน ทางออกหลายบริษัทก็คือการซื้อฟอร์เวิร์ด

นายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาวดี้ ประเทศไทย ที่ระบุว่า ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวส่งผลกระทบต่อภาวะการขายอย่างมาก เนื่องจากรถยนต์ออดี้ที่จำหน่ายในไทยต้องนำเข้าจากเยอรมนีทั้งหมด ตอนนี้ขายรถแทบไม่มีกำไร อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินยูโรเกือบทะลุ 40 บาทแล้ว แต่ออดี้ก็พร้อมแบกรับภาระให้ลูกค้า

ซึ่งเร็ว ๆ นี้อาจจะต้องมีการปรับโครงสร้างราคาขายใหม่ และที่เป็นปัญหา คือ รถนำเข้าจะต้องเสียภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต ซึ่งคำนวณเป็นเงินบาทและแปรผันตามอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้รถออดี้เกือบทุกคันเสียภาษีแพงขึ้น แต่บริษัทยังต้องขายในราคาเดิม

 

Advertisment