น้ำมีเพียงพอ ถึงฤดูแล้งหน้า

Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ในต้นสัปดาห์นี้ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ที่ประชุมได้มีการพิจารณา มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 ท่ามกลางสถานการณ์เอลนีโญที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยมาตรการรองรับสำหรับฤดูแล้งหน้าจะมีอยู่ทั้งหมด 9 มาตรการหลัก ได้แก่

1) การเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยรองนายกฯ มอบหมายให้เร่งสแกนหาพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อจะหาแนวทางช่วยเหลือ 2) ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปฏิบัติการฝนหลวง เติมน้ำใต้ดิน และสูบผันน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

3) กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรังให้เป็นไปตามแผน สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง 4) บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน 6) การเฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ

7) การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ 8) สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และ 9) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้มาตรการมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย กนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องนำมาตรการทั้ง 9 กลับไปจัดทำเป็น “แผนปฏิบัติ” และเตรียมแผนงานโครงการที่จะต้องดำเนินการต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำภายในประเทศขณะนี้ จากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นหลายลูกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แม้จะไม่มีพายุพัดผ่านประเทศไทยโดยตรง แต่ก็ได้ก่อให้เกิดฝนตกหนักเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 อ่างที่ส่งผลโดยตรงต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 9,553 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 59 อ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 899 ล้าน ลบ.ม. กับ 1,011 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของอ่าง ทำให้ปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันของทั้ง 4 อ่างมีน้ำถึง 11,463 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 63

แต่ที่สำคัญก็คือ จนกระทั่งวันนี้ทั้ง 4 อ่างยังมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในต้นสัปดาห์นี้ก็ยังมีน้ำไหลลงอ่างรวมกัน 73.93 ล้าน ลบ.ม./วัน

เมื่อดูภาพรวมปริมาตรน้ำใช้การได้ของทั้งประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 33,311 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 70 โดยมีอ่างเก็บน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมตรน้ำใช้การได้เต็มอ่าง 100% ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล (269 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนกิ่วคอหมา (181 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน (899 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนแม่มอก (96 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนอุบลรัตน์ (2,028 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนลำปาว (1,886 ล้าน ลบ.ม.), เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (1,011 ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนขุนด่านปราการชล 220 ล้าน ลบ.ม.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนลำปาว ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำเต็มอ่างเป็นเครื่องการันตีว่า พื้นที่รอบเขื่อนที่มีคลองระบายน้ำผ่านจะมีน้ำเพียงพอต่อฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงแน่นอน

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดย่อยที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ด้วยปริมาณน้ำที่มากกว่าร้อยละ 70 น่าจะเป็นเครื่องการันตีได้ว่าประเทศไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งหน้าไปได้ ประกอบกับภาวะเอลนีโญในปี 2567 ไม่น่ารุนแรงจากที่กังวลกัน เพราะแบบจำลองล่าสุดของ NOAA แสดงให้เห็นว่า ภาวะเอลนีโญจะขึ้นสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องธันวาคม และจะค่อย ๆ ลดระดับลงมาสู่ภาวะปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า

นั่นหมายความว่าปริมาณน้ำที่เก็บกักจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่น แม้จะไม่ได้พัดผ่านประเทศไทยโดยตรง แต่ได้ช่วยเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้มีเพียงพอที่จะประคับประคองประเทศให้ผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งปีหน้าก่อนที่ฝนจะตกตามฤดูกาลต่อไป